ที่ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท, ปทุมธานี วันที่ 21 ส.ค. กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) จัดประชุมมหกรรมเครือข่ายภาคประชาชน และภาคีความร่วมมือ “รุก รับ ปรับตัว รวมพลังสามัคคี ลดโลกร้อน” มีผู้เข้าร่วมประชุม 400 คน จาก องค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมฯ เครือข่าย ทสม. เครือข่ายชาติพันธุ์ เครือข่ายเกษตร เครือข่ายประมงพื้นบ้าน เครือข่ายเพื่อนตะวันออก เครือข่ายเยาวชน ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ ร่วมกันระดมสมองจัดการปัญหาโลกร้อน
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรม สส. กล่าวว่า ปัญหาโลกร้อนได้ส่งผลกระทบกับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพและทุกระบบนิเวศ การแก้ไขปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเครือข่ายที่มาในวันนี้เป็นภาคีสำคัญที่ร่วมขับเคลื่อนการทำงานที่มีความสอดคล้องกับแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ความท้าทายที่จะต้องยกระดับการจัดการให้ทันต่อสถานการณ์ใหม่ มีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนสอดคล้องกับสภาพภูมิสังคมและความรุนแรงของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงขยายผลการทำงานในมิติใหม่ ให้พื้นที่อื่นได้ร่วมเรียนรู้และนำไปสู่การปฏิบัติได้
อธิบดีกรมลดโลกร้อน กล่าวว่า เพื่อให้เครือข่ายภาคประชาชนและภาคีความร่วมมือ สามารถดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมลดโลกร้อน ได้กำหนดแนวทางการสนับสนุนการดำเนินงาน 8 แนวทาง ได้แก่ 1. สนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายในเชิงนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของแต่ละพื้นที่ 2. พัฒนาศักยภาพ บทบาทและเสริมองค์ความรู้เครือข่ายภาคประชาชน และเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3. สนับสนุนการจัดทำแผนปฏิบัติการที่สามารถดำเนินงานได้ทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ
4 สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนทั้งในและต่างประเทศ 5. จัดทำฐานข้อมูลเครือข่ายให้มีความเชื่อมโยงกัน 6. สนับสนุนปฏิบัติการในเชิงพื้นที่เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 7. สนับสนุนเครื่องมือ งานวิชาการ งานวิจัย และกลไกเจ้าหน้าที่ประสานความร่วมมือ และพัฒนาเครือข่ายประจำจังหวัด ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 47 คนใน 47 จังหวัด และจะขยายให้ครบทุกจังหวัดในอนาคต และ 8. พัฒนาการสื่อสาร สร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโลกร้อน พร้อมทั้งสร้างคุณค่าการทำงาน
“ปัญหาโลกร้อนมีความรุนแรงมากขึ้นและเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน นำไปสู่การเสริมพลังการทำงานซึ่งกันและกัน ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาโดยนำต้นทุนที่มีอยู่ มาต่อยอด พัฒนาเพื่อแก้วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ดร.พิรุณ กล่าว