พม. จับมือ กทม. ชูแคมเปญ “หยุดให้ทาน = หยุดขอทาน” เดินรณรงค์แจกสื่อประชาสัมพันธ์ 6 ภาษา ใจกลางสยาม พร้อมส่งชุดปฏิบัติการจัดระเบียบทั่วประเทศ
วันที่ 16 สิงหาคม 2567 เวลา 15.00 น. นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์สังคม สร้างการรับรู้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการขอทาน ภายใต้แนวคิด “ให้โอกาสเปลี่ยนชีวิต…หยุดคิดก่อนให้ทาน” โดยมี นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวรายงานสถานการณ์และวัตถุประสงค์โครงการ นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการบูรณาการ ความร่วมมือ และนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นสักขีพยาน อีกทั้งคณะผู้บริหารกระทรวง พม. และกรุงเทพมหานคร และผู้แทนภาคีเครือข่าย เข้าร่วมงาน ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
นายอนุกูล กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาขอทานในประเทศไทย 10 ปีที่ผ่านมา พบขอทานทั้งสิ้น 7,635 ราย ส่วนใหญ่เป็นขอทานคนไทย ร้อยละ 65 เป็นต่างด้าวร้อยละ 35 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะเห็นได้จากข้อมูลปัจจุบัน ปี 2567 พบขอทานทั้งสิ้น 506 ราย ส่วนใหญ่เป็นขอทานไทย 331 ราย และขอทานต่างด้าว 175 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ร้อยละ 20.47 ในจำนวนนี้เป็นผู้ขอทานซ้ำ 78 ราย (ร้อยละ 24.28) ยิ่งไปกว่านั้น พบว่ามีทั้งขอทานชั่วคราว ขอทานอาชีพ และขอทานโดยถูกบังคับ ด้วยสาเหตุที่เกิดจาก 1. ข้อจำกัดด้านร่างกาย จิตใจ เกิดจากความพิการทางร่างกายหรือความบกพร่องทางสติปัญญา ขาดโอกาสในการศึกษาที่จะไปประกอบอาชีพที่มั่นคง 3. ค่านิยมของชุมชนและแรงจูงใจว่าทำรายได้ดีโดยไม่ต้องลงทุน และ 4.อิทธิพลความเชื่อว่าการให้เงินขอทานเป็นการทำบุญ
นายอนุกูล กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวง พม. มุ่งมั่นในการดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ควบคุม สถานการณ์ปัญหาขอทานให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ โดยควบคุมทั้งระดับนโยบาย ผ่านกลไกการขับเคลื่อนต่าง ๆ ในระดับชาติ ระดับจังหวัด และมีชุดอนุกรรมการระดับกรุงเทพมหานคร ร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะ ซึ่งในวันนี้ กระทรวง พม. ได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย จัดโครงการรณรงค์สังคม สร้างการรับรู้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการขอทาน ภายใต้แนวคิด “ให้โอกาสเปลี่ยนชีวิต…หยุดคิดก่อนให้ทาน” ให้เป็นพื้นที่รณรงค์สร้างการรับรู้กฎหมายการควบคุมการขอทาน สร้างความตระหนักต่อปัญหาการขอทาน จุดประกายให้ประชาชนมีทัศนคติ “หยุดให้ทาน” เปลี่ยนเป็นให้โอกาสให้คนขอทานได้แสดงศักยภาพของตนเองให้สามารถประกอบอาชีพ ใช้ความรู้ ทักษะ ความสามารถ เป็นที่ยอมรับในสังคม นอกจากนี้ กระทรวง พม. ร่วมกับกรุงเทพมหานคร กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงแรงงาน และหลายมูลนิธิ ร่วมเดินรณรงค์แจกสื่อประชาสัมพันธ์ 6 ภาษา บริเวณใจกลางสยาม สี่แยกปทุมวัน ถนนพระราม 1 และถนนพญาไท รวมถึงจัดชุดปฏิบัติการลงพื้นที่จัดระเบียบผู้ทำการขอทานพร้อมกันทั่วประเทศอีกด้วย
นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า คนไทยเป็นคนจิตใจดี โอบอ้อมอารี และมีจิตสาธารณะ เอื้อเฟื้อ เมตตา จึงเป็นที่มาของการส่งต่อความปรารถนาดี ผ่านรูปแบบการให้ ด้วยการให้เงินแก่ผู้ทำการขอทาน เพราะความสงสาร ในส่วนนี้ เป็นเหตุให้คนกลุ่มหนึ่งฉวยโอกาส และเลือกที่จะทำการขอทาน เกิดเป็นอาชีพ บางส่วนเกิดกระบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ และความเชื่อมโยงกับการกระทำผิดกฎหมาย ดังนั้นเพื่อยุติปัญหาขอทาน จึงขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนร่วมกันตระหนักว่า “หยุดให้ทาน เท่ากับ หยุดขอทาน” และหากพบเห็นผู้ทำการขอทาน โทรแจ้งศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ผ่านสายด่วน พม. โทร. 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง
กทม. ร่วมประกาศเจตนารมณ์ควบคุมการขอทาน “หยุดการให้ หยุดขอทาน”
แพทย์หญิงวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมพิธีเปิดและประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือโครงการรณรงค์สังคม สร้างการรับรู้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการขอทาน ภายใต้แนวคิด “ให้โอกาสเปลี่ยนชีวิต…หยุดคิดก่อนให้ทาน” โดยกล่าวว่า กรุงเทพมหานคร พร้อมให้ความร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และภาคีเครือข่าย ดำเนินโครงการรณรงค์สังคม สร้างการรับรู้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการขอทาน ขอย้ำว่าการขอทานเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย “หยุดการให้ หยุดขอทาน” เราช่วยให้เค้าได้มีโอกาสพัฒนาในด้านอื่นๆ ดีกว่า ฉะนั้นถ้าไม่มีการให้ ขอทานไม่มีรายได้ ไม่จูงใจที่จะทำ ขอทานน่าจะหายไปบ้าง แต่อย่างไรก็ตามความเดือดร้อน ความจำเป็น เราเข้าใจ เราพร้อมที่จะสนับสนุนในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องของการช่วยเหลือ ด้านที่อยู่อาศัยชั่วคราว การฝึกอาชีพ การให้ปลาให้เท่าไหร่ก็ไม่หมดให้ไม่พอให้ แต่สอนให้เขาตกปลาเป็น ดูแลตัวเองได้มีคุณค่าของชีวิตมากกว่า
กรุงเทพมหานคร ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดโครงการรณรงค์สังคม สร้างการรับรู้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการขอทาน ภายใต้แนวคิด “ให้โอกาสเปลี่ยนชีวิต…หยุดคิดก่อนให้ทาน” เพื่อสร้างความเข้าใจกับสังคม ผ่านการรณรงค์ให้ประชาชนทั้งไทยและต่างประเทศ ได้รับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของกฎหมาย และการลดวงจรการขอทานให้เกิดขึ้นในสังคมไทย กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การประชาสัมพันธ์ สื่อต่างๆ ข้อกฎหมาย และวิดีทัศน์สั้นสร้างการรับรู้ 6 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี และภาษากัมพูชา การปล่อยขบวนรณรงค์ และจัดทูตปฏิบัติการลงพื้นที่จัดระเบียบผู้ทำการขอทาน จำนวน 5 ชุด ในพื้นที่จุดเสี่ยง ได้แก่ บริเวณใจกลางสยามสี่แยกปทุมวัน ถนนพระราม 1 ถนนพญาไทถึงโรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส บริเวณศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ถึงแยกเฉลิมเผ่า บริเวณศูนย์การค้าสยามสแควร์ และพื้นที่สกายวอล์ค รวมทั้งการลงจัดระเบียบผู้ทำการขอทานพร้อมกันทั่วประเทศ โดยทีม พม. จังหวัดและภาคีเครือข่าย และร่วมเดินรณรงค์ เพื่อให้ทุกคน หรือสังคมได้ “หยุดคิด” ก่อนที่จะให้ทานแก่ขอทาน
ในการนี้ นายอนุกูล ปิดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักพัฒนาสังคม ผู้บริหารเขตปทุมวัน ผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ภาคีเครือข่าย อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ กระทรวงแรงงาน กรมท่าอากาศยาน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน