โฆษกราชทัณฑ์ แจง “ทักษิณ” ไม่อยู่ในบัญชีผู้ต้องขังอภัยโทษทั่วไปปี 67 เหตุ เตรียมพ้นโทษสิ้นเดือน ส.ค.นี้ หลังเหตุการณ์ประชุม ครม. ลือหนัก”อธิบดีกรมราชทัณฑ์ – ปลัด ยธ.” ถกลับวาระจร หลักเกณฑ์ขออภัยโทษบางกรณี
จากกรณีเมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อการประชุมเข้าสู่ช่วงพิจารณาวาระสุดท้าย กระทรวงยุติธรรม ได้เสนอวาระจรโดยไม่มีการระบุหัวเรื่อง หรือรายละเอียดใด ๆ พร้อมกับเชิญเจ้าหน้าที่และผู้ไม่เกี่ยวข้องออกจากห้องประชุม เหลือเพียง ครม. และบุคคลที่เกี่ยวข้องอยู่พิจารณาเท่านั้น ท่ามกลางกระแสข่าวระบุว่าที่ประชุม ครม. ได้ร่วมกันพิจารณาวาระจรดังกล่าวซึ่งเกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษสำหรับบุคคลบางกรณี ซึ่งพบว่า ภายหลังการประชุม ครม. นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม และนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ลงมาจากห้องประชุม ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.สมภพ สังคุตแก้ว รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และในฐานะโฆษกกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า สำหรับการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 13 ส.ค. ซึ่งกระทรวงยุติธรรมได้เสนอวาระจร ทราบว่าเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป อภัยโทษหมู่เนื่องในวาระมหามงคล ไม่ใช่หลักเกณฑ์การขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย โดยปกติแล้วจะมีการกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ลงในประกาศพระราชกฤษฎีกา โดยระบุเป็นรายมาตราซึ่งจะแตกต่างกันออกไป อาทิ คุณสมบัติของผู้ต้องราชทัณฑ์ ว่าต้องเป็นผู้ต้องขังจากรายคดีใด ผู้ต้องขังเด็ดขาดชั้นใด ต้องรับโทษจำคุกมาแล้วกี่ปี และเหลือโทษเท่าไร อีกทั้งจะมีการระบุรายละเอียดการพ้นโทษด้วยว่าจะให้เป็นผลอย่างไร เช่น ให้ผู้ต้องขังรับโทษจำคุกต่อไปเหลือกี่ปี (ลดโทษ) หรือให้พ้นโทษทันที
นพ.สมภพ กล่าวอีกว่า ตามขั้นตอนแล้วในวาระวันมหามงคล กรมราชทัณฑ์ โดยเรือนจำ/ทัณฑสถานทั่วประเทศจะมีการจัดทำสำรวจรายชื่อและคุณสมบัติของผู้ต้องขังที่มีเกณฑ์เบื้องต้นเข้าข่ายอาจได้รับการพิจารณาอภัยโทษเป็นการทั่วไป อย่างไรก็ตาม ตนยังไม่ทราบจำนวนผู้ต้องขังที่มีเกณฑ์ได้รับการอภัยโทษเป็นการทั่วไป เนื่องจากขณะนี้เรือนจำและทัณฑสถานต่าง ๆ ยังอยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อผู้ต้องขังเพื่อส่งมายังกรมราชทัณฑ์รับทราบ อีกทั้งในที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ยังไม่ปรากฏรายละเอียดของประกาศกฤษฎีกา ว่าจะมีการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปหรือไม่ ส่วนเกณฑ์การอภัยโทษเป็นการทั่วไปในชั้น ครม. ที่ใช้พิจารณากันมักจะมีการกำหนดคุณสมบัติผู้ต้องขังลงในกฤษฎีกา ดังนี้ เป็นผู้ต้องขังโทษเหลือน้อยไม่ถึงปี , เป็นผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย , เป็นผู้ต้องขังที่รับโทษจำคุกมาแล้ว 1 ใน 3 , เป็นผู้ต้องขังชั้นดี , เป็นผู้ต้องขังที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีแนบท้าย เป็นต้น จากนั้นกรมราชทัณฑ์ โดยเรือนจำและทัณฑสถาน จึงจะนำคุณสมบัติที่ปรากฏในกฤษฎีกาไปทำการค้นหาผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อดำเนินการตามสิทธิประโยชน์ของผู้ต้องขัง ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยตัวพ้นโทษ หรือการลดโทษ ทั้งนี้ ในส่วนของรายคดีที่ได้รับการยกเว้นไม่เข้าหลักเกณฑ์อภัยโทษเป็นการทั่วไป ได้แก่ คดียาเสพติดร้ายแรง คดีเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย (คดีอุกฉกรรจ์) คดีที่ผู้ต้องขังรายนั้น ๆ ยังอยู่ระหว่างกระบวนการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา
เมื่อถามว่ากรณีของพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา 28 กรกฎาคม 2565 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง พ.ศ. 2565 พบว่า มาตรา 3 บางวรรคระบุถึง “ผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ” กรณีนี้เข้าเกณฑ์สอดคล้องกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือไม่ หากภายในปี 2567 มีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปนั้น นพ.สมภพ กล่าวว่า อดีตนายกรัฐมนตรี กำลังจะครบกำหนดพักการลงโทษ และจะพ้นโทษในสิ้นเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งอภัยโทษเป็นการทั่วไปจะไม่มีผลใดกับนายทักษิณ
นพ.สมภพ กล่าวด้วยว่า พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปในแต่ละครั้งจะมีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ก็อาจมีความคล้ายเดิมอยู่บ้าง ยกตัวอย่างกรณีผู้ต้องขังโทษประหารชีวิต ส่วนใหญ่ผู้ต้องขังที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษประหารชีวิต เบื้องต้นหากมีการอภัยโทษเป็นการทั่วไป จะได้รับผลบรรเทาโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีกำหนดแทน ส่วนหากในวาระโอกาสครั้งถัดไป ผู้ต้องขังได้รับการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปอีกครั้ง ก็อาจจะมีการบรรเทาโทษลงไปได้อีก เช่น จำคุกตลอดชีวิตโดยมีกำหนดโทษ 50 ปี ซึ่งจะต้องไปดูในวันมหามงคลต่าง ๆ ในแต่ละปี ถ้ามีการประกาศพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ผู้ต้องขังก็อาจจะได้รับการลดโทษลงไปอีกตามที่มีการกำหนด จากกำหนดโทษ 50 ปี ก็จะแล้วแต่ว่าได้รับเท่าใด หากให้ครึ่งหนึ่งก็เหลือโทษ 25 ปี อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องขังโทษประหารชีวิตส่วนใหญ่จะเลือกใช้วิธีการเขียนทูลเกล้าฯ ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะรายมากกว่า ทั้งนี้ ถ้าผู้ต้องขังโทษประหารยังมีคดีอื่น ๆ ที่อยู่ในชั้นอุทธรณ์หรือชั้นฎีกา ก็จะไม่สามารถยื่นทูลเกล้าขออภัยโทษได้
เมื่อถามถึงกรณีของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกศาลตัดสินจำคุกคดีจำนำข้าว มีเกณฑ์อาจได้รับการอภัยโทษเป็นการทั่วไปหรือไม่ นพ.สมภพ แจงว่า ต้องไปดูว่านายบุญทรงเหลือโทษจำคุกกี่ปี แต่หากมีคุณสมบัติอยู่ในบัญชีแนบท้ายของพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษที่จะเกิดขึ้น แล้วถูกมองว่าเป็นคดีความมั่นคง ก็จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ รวมถึงบิ๊กเนมต่าง ๆ จะได้รับการอภัยโทษหรือไม่ ก็ต้องรอดูรายละเอียดจากกฤษฎีกาในชั้น ครม. เช่นเดียวกัน เพราะถ้าได้รับอภัยโทษจริง ก็ต้องดูว่าเป็นการอภัยโทษอย่างไร เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วมีอัตราโทษสูงทั้งสิ้น เช่น อาจได้รับโทษจำคุกเหลือ 1 ใน 5 หรือ 1 ใน 6 แทนการพ้นโทษ เป็นต้น.