การท่องเที่ยวไต้หวันร่วมกับเคทีซีเปิดตัวโลโก้รักษ์โลกและแหล่งท่องเที่ยว Unseen Taiwan 2024

193

การท่องเที่ยวไต้หวันเผยปี 67 คนไทยไปไต้หวันเพิ่มขึ้นเกือบ 18%  เดินหน้าจับมือเคทีซีเปิดตัวแคมเปญ ‘Unseen Taiwan 2024’ เที่ยวได้ในทุกฤดูกาล พร้อมเผยโฉมโลโก้ ‘Taiwan – Waves of Wonder’ สะท้อนกลยุทธ์การท่องเที่ยวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สอดรับเทรนด์คนไทยนิยมเดินทางใกล้ วางรูปแบบการท่องเที่ยวตามปัจเจกนิยม และให้คุณค่ากับบริการรักษ์โลก หวังสิ้นปีดันยอดคนไทยเยือนไต้หวันเพิ่มไม่ต่ำกว่านักท่องเที่ยวในช่วงก่อนโควิด

มิสซินดี้ เฉิน ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวไต้หวัน ประจำกรุงเทพฯ เปิดเผยว่า ในปี 2566 นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปไต้หวันทั้งสิ้นเกือบ 4 แสนคน และตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายน 2567 ยอดรวมนักท่องเที่ยวคนไทยแตะ 153,638 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 17.82% เป็นผลจากการขยายระยะเวลานโยบายฟรีวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทย 14 วัน จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2568 รวมถึงจำนวนเที่ยวบินตรงจากกรุงเทพฯ – ไต้หวัน ก็มีเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน สำหรับในปีนี้ การท่องเที่ยวไต้หวันได้เปลี่ยนโลโก้ใหม่ภายใต้ธีม ‘Taiwan – Waves of Wonder’ เพื่อชูจุดยืนเรื่องกลยุทธ์การท่องเที่ยวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้รูปแบบเส้นสายลอนคลื่นที่ได้แรงบันดาลใจมาจากภูเขา ทะเล ถนนทรงคดเคี้ยว หรือทางรถไฟ      บ่งบอกถึงความงดงามของภูมิทัศน์ธรรมชาติผสานกับมรดกทางวัฒนธรรมอันยาวนานของไต้หวัน การเลือกโทนสีส้มเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของพระอาทิตย์ขึ้น สื่อถึงความหวังสำหรับการท่องเที่ยวยั่งยืนที่พร้อมส่งต่อไปยังประชากรรุ่นต่อไปในอนาคต

ถึงแม้ว่าไต้หวันต้องการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้ได้มากขึ้น แต่รัฐบาลก็ได้ออกนโยบายเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจมีต่อทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม ด้วยการรณรงค์ให้ความรู้แก่หน่วยงานภาคการท่องเที่ยวในเรื่องการลดปริมาณขยะ การใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า และเคารพวัฒนธรรมพื้นถิ่น นอกจากนี้รัฐบาลยังได้วางแผนงานเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวยั่งยืน (Sustainable Tourism) ดังนี้ 

 1) โครงการด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ (Ecotourism Initiatives) การจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ อุทยานธรณี และเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ พร้อมแผนการบริหารด้านการท่องเที่ยวใส่ใจสิ่งแวดล้อม 

2) การคมนาคมคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon Transportation)ประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวเลือกเดินทางด้วยรถไฟ เส้นทางจักรยาน หรือการเช่ารถยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยปริมาณคาร์บอน

 3) การรับรองมาตรฐานคุณภาพ(Certification and Standards) รัฐบาลสนับสนุนธุรกิจบริการท่องเที่ยวให้ได้รับใบรับรอง อาทิ  Green Travel Mark และ Travelife เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นและรับผิดชอบต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

 4) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน(Infrastructure Development) การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวยั่งยืน อาทิ ที่พักที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ระบบการกำจัดของเสีย รวมถึงศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวเพื่อให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและมรดกทางวัฒนธรรม

ทั้งนี้ ปัจจุบันไต้หวันได้มีโครงการที่เป็นแบบอย่างของนโยบายท่องเที่ยวยั่งยืนเชิงรุก อาทิ ระบบยืมแก้วน้ำใช้ซ้ำที่ทะเลสาบสุริยันจันทรา: เพื่อลดปริมาณแก้วน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว โดยอนุญาตให้ผู้เข้าชมยืมแก้วน้ำใช้ซ้ำ (Reuse) แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะลดขยะตามสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม หรือโครงการติดป้าย Bicycle-Friendly: เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวด้วยจักรยาน โดยรับรองมาตรฐานที่พักว่ามีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักปั่นจักรยาน และส่งเสริมการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นอกจากเรื่องของการท่องเที่ยวยั่งยืนแล้ว  ไต้หวันยังมีสถานที่ท่องเที่ยวจากแคมเปญ ‘Unseen Taiwan 2024’ ที่พร้อมมอบประสบการณ์ที่แตกต่างให้กับนักท่องเที่ยวใน 4 ฤดูกาลดังนี้

1)      ฤดูใบไม้ผลิ (Spring) เป็นช่วงที่ดอกซากุระกำลังบานและสวยงามที่สุด ไต้หวันมีจุดชมดอกซากุระหลายแห่ง อาทิ ไทเป – อุทยานแห่งชาติหยางหมิงซาน หรือสวนเล่อหัว / นิวไทเป – วัดเทียนหยวน / เจียอี้ – อุทยานแห่งชาติอาลีซาน และ เถาหยวน – ลาลา เมาท์เทน  หรือหากต้องการขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไต้หวันมีวัดมากถึงกว่า 12,000 แห่งทีเดียว

2)      ฤดูร้อน (Summer) ไต้หวันเป็นสวรรค์ของนักชิม มีร้านอาหารที่ได้รับรางวัลมิชลินถึง 4 เมืองทั่วเกาะไต้หวันได้แก่ ไทเป  ไถจง เกาสง และไถหนาน ในขณะที่ Street Food ของไต้หวันก็เป็นที่นิยมด้วยรสชาติที่อร่อย มีความหลากหลาย ในราคาที่เหมาะสม 

3)      ฤดูใบไม้ร่วง (Autumn) อากาศช่วงนี้เหมาะกับการปั่นจักรยานท่องเที่ยว ไต้หวันมีเส้นทางการปั่นจักรยานที่จัดอันดับจาก CNN ว่าเป็น 1 ในเส้นทางจักรยานที่สวยงามที่สุดในโลก นั่นคือ เส้นทางปั่นจักรยานรอบทะเลสาบสุริยันจันทรา หรือจะเลือกแช่บ่อน้ำพุร้อนเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง อาทิ บ่อน้ำพุร้อนหยางหมิงซานที่ไทเป  ซึ่งถือเป็นน้ำพุร้อนที่มีเอกลักษณ์เพราะได้รับความร้อนมาจากภูเขาไฟ ทำให้น้ำพุร้อนมีส่วนผสมของกำมะถันสีขาวและกำมะถันสีเขียว

4)      ฤดูหนาว (Winter) นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปไต้หวันเพื่อช้อปปิ้ง ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองวันสิ้นปี จะมีการจุดดอกไม้ไฟสว่างไสวไปทั้งเมืองไทเป และหัวเมืองใหญ่ทั่วเกาะไต้หวัน รวมถึงกิจกรรมรื่นเริงอื่นๆ อีกมากมายเพื่อต้อนรับวันขึ้นปีใหม่

          นางสาวพัทธ์ธีรา อนันต์โชติพัชร ผู้บริหาร KTC World Travel Service และการตลาดหมวดสายการบิน “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หนึ่งในกลยุทธ์การตลาดของเคทีซีที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอคือเรื่อง Partnership Marketing โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ให้การสนับสนุน ส่งเสริม และขยายขอบเขตความร่วมมือกับพันธมิตรในทุกภาคส่วน อาทิ องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว สายการบิน บริษัทตัวแทน (ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์) โรงแรม รถไฟ รถเช่า หรือเรือสำราญ ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังได้ทำกิจกรรมการตลาดร่วมกันเพื่อมอบสิทธิประโยชน์ให้กับสมาชิกผ่านงานด้านการท่องเที่ยวหรืองานแฟร์ การจัดเวิร์กชอป และกิจกรรมร่วมกับชุมชน รวมถึงพัฒนาช่องทางสื่อสารให้ตรงกลุ่มสมาชิกมากยิ่งขึ้น สำหรับความร่วมมือกับการท่องเที่ยวไต้หวันในปี 2566 ที่ผ่านมา ได้รับผลตอบรับที่ดี สะท้อนจากจำนวนสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซีและยอดรวมการใช้จ่ายที่ไต้หวันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ไต้หวันยังคงเป็นเส้นทางยอดนิยมของสมาชิก โดยในครึ่งปีแรกของปี 2567สมาชิกใช้จ่ายผ่านบัตรฯ ที่ไต้หวันเป็นอันดับที่ 5 เมื่อดูจากพอร์ตยอดรวมการใช้จ่ายในต่างประเทศเส้นทางเอเชีย รองจากญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง และจีน และสมาชิกเลือกใช้บริการเพื่อเดินทางไปยังไต้หวันผ่าน KTC World Travel Service สูงเป็นอันดับที่ 4 รองจากฮ่องกง ญี่ปุ่น และ จีน โดยมียอดใช้จ่ายสำหรับการเดินทางต่อบุคคลอยู่ที่ 23,000 บาทต่อราย

ในปี 2567 เทรนด์การท่องเที่ยวมีการปรับเปลี่ยนไป สมาชิกนิยมเลือกใช้เวลาเดินทางสั้นลง และวางแผนการท่องเที่ยวด้วยตัวเองตามไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างมากขึ้น รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมก็เป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจเลือกใช้บริการด้านการท่องเที่ยว KTC World Travel Service จึงได้รวมผลิตภัณฑ์บริการท่องเที่ยวที่แสดงความมุ่งมั่นด้านรักษ์สิ่งแวดล้อมไว้ในหมวดที่เรียกว่า ‘Green Products’ โดยเคทีซีได้ร่วมมอบสิทธิพิเศษเพิ่มเติม เพื่อแสดงจุดยืนในการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนร่วมกับพันธมิตรทุกราย สำหรับแคมเปญ ‘Unseen Taiwan 2024’ เคทีซีได้จับมือกับสายการบินหลักได้แก่ ไชน่าแอร์ไลน์ (China Airlines) อีวีเอ แอร์ (EVA Air) สตาร์ลักซ์ แอร์ไลน์ (STARLUX Airlines) และการบินไทย (THAI Airways) มอบส่วนลดพิเศษเฉพาะบัตรเครดิตเคทีซี เมื่อสมาชิกจองตั๋วเครื่องบินผ่านเว็บไซต์สายการบินดังกล่าวรวมถึงผ่านช่องทางของเคเคเดย์ (KKday) นอกจากนี้ KTC World Travel Service ยังได้เสนอแพ็กเกจ ‘Taiwan Explorer’ รวมตั๋วเครื่องบิน ที่พัก และบัตรรถไฟเพื่อเน้นเรื่องการเดินทางท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนระยะเวลา 3วัน 2 คืน โดยสามารถเลือกเมืองจุดหมายที่ต้องการ เช่น ไทเป เกาสง หรือเมืองทางตอนใต้อื่นๆ สำหรับรายละเอียดแพ็กเกจ  มีดังนี้

·      Taiwan Explorer 3 วัน 2 คืน เริ่มต้นที่ราคา 13,900 บาท / ท่าน ประกอบด้วย ตั๋วเครื่องบินสาย การบินไชน่าแอร์ไลน์ อีวีเอ แอร์ สตาร์ลักซ์ แอร์ไลน์ และการบินไทย เส้นทางกรุงเทพฯ – ไทเป ไป – กลับ ชั้นประหยัด ที่พักโรงแรมอินเฮาส์ ย่านซีเหมินติง 2 คืน รวมอาหารเช้า สำหรับ 2 ท่าน และบัตรรถไฟ MRT ใช้เดินทางในไทเปได้ไม่จำกัดเที่ยว ระยะเวลา 3 วัน

·      Unseen Taiwan 3 วัน 2 คืน ราคา 15,900 บาท / ท่าน ประกอบด้วย ตั๋วเครื่องบินสายการบินไชน่าแอร์ไลน์ ขาไปเส้นทางกรุงเทพฯ – ไทเป ขากลับเส้นทางเกาสง – กรุงเทพฯ ชั้นประหยัด ห้องพัก 2 คืน ไม่รวมอาหารเช้า และบัตรรถไฟความเร็วสูง Taiwan Pass High – Speed Rail Edition เดินทางได้ไม่จำกัดเที่ยว ระยะเวลา 3 วัน

ระยะเวลาการจองตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2567 – วันที่ 31 ธันวาคม 2567 ระยะเวลาเดินทางตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 – วันที่ 15 มกราคม 2568 สมาชิกสามารถเลือกใช้บริการแบ่งชำระ 0% นาน 6 เดือน และพิเศษ!   เมื่อชำระค่าตั๋วเครื่องบินหรือแพ็กเกจด้วยบัตรเครดิตเคทีซี วีซ่าทุกประเภท รับฟรี Dragon Pass ทันที ดูรายละเอียดสิทธิประโยชน์จากแคมเปญ ‘Unseen Taiwan 2024’ ได้ที่www.ktc.co.th/UNSEENTAIWAN

นายคณพศ สิทธิวงค์ บรรณาธิการนิตยสาร My World นิตยสารท่องเที่ยวราย 2 เดือนที่จัดพิมพ์สำหรับสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซีที่สนใจด้านการเดินทางและเป็นผู้มียอดใช้จ่ายสูงในหมวดท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ กล่าวว่า สมาชิกนิตยสาร My World มีไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยวแบบ Frequent Travelers หรือวางแผนการท่องเที่ยวบ่อย ๆ ไต้หวันจึงเป็นเส้นทางที่ตอบโจทย์ เพราะมีองค์ประกอบครบครัน อาทิ วัฒนธรรมที่สะท้อนจากประวัติศาสตร์และประเพณีที่มีอายุยาวนาน นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสวัฒนธรรมจีนดั้งเดิมควบคู่ไปกับวัฒนธรรมสมัยใหม่ ธรรมชาติและภูมิประเทศที่สวยงาม  เช่น อุทยานแห่งชาติอาลีซาน เมืองทางใต้ที่ทันสมัยและสวยงามอย่างเกาสง หรือเกาะทางใต้ที่มีวิถีดั้งเดิมของชาวประมง เช่น เกาะเผิงหู อาหารไต้หวันเป็นที่รู้จักในเรื่องความอร่อยและหลากหลาย โดยเฉพาะ Street Food ใน Night Market ที่มีในทุกเมืองใหญ่ การเดินทางสะดวก มีระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน รถบัส หรือรถไฟความเร็วสูง ชาวไต้หวันมีชื่อเสียงในเรื่องความเป็นมิตรและการต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างอบอุ่น ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้านและสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างใกล้ชิด

นางสาวกิจชรัตน์ นทีธำรงสุทธิ์ จากเฟสบุ๊คเพจ Ratto Wanderlust เปิดเผยถึงเทรนด์การท่องเที่ยวไต้หวันมีการปรับเปลี่ยนไปตามไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยว และยังมีสถานที่ Unseen ที่ไม่ควรพลาด เช่น ถนนแห่งของกินย่านหย่งคัง(Yongkang Food Street) ที่นอกจากจะเป็นแหล่งรวมอาหารยอดนิยมโดยเฉพาะอาหารท้องถิ่นแท้ๆ ของไต้หวันแล้ว ยังมีร้านคาเฟ่น่ารักๆ ที่ทำให้ทุกคนเพลิดเพลินกับการถ่ายภาพ รวมถึงสวนหรงจิ่น (Rongjin Gorgeous Time) แหล่งรวมสถานที่โดนใจวัยรุ่นแห่งใหม่ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองไทเปเหมาะกับผู้ที่ชื่นชอบธรรมชาติและยังมีกลิ่นอายสไตล์ญี่ปุ่น เดินทางสะดวกสบาย กิน ช้อป จบในที่เดียว

มิสซินดี้ เฉินกล่าวปิดท้ายว่า การท่องเที่ยวไต้หวันได้ร่วมมือกับเคทีซีมาเป็นปีที่ 2 แล้ว และรู้สึกพึงพอใจกับกิจกรรมต่างๆ ที่เคทีซีให้การสนับสนุนด้วยดีทั้งในด้านการประชาสัมพันธ์และสิทธิพิเศษสำหรับสมาชิกบัตรฯ  จำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปไต้หวันก็เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหวังว่าสิ้นปี 2567 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปไต้หวันเพิ่มไม่ต่ำกว่านักท่องเที่ยวในช่วงก่อนโควิด

ผู้สนใจสิทธิพิเศษด้านการเดินทางท่องเที่ยวสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ KTC World Travel Service โทรศัพท์ 021235050 ตั้งแต่เวลา 8.00 น.– 22.00 น. หรือทักแชทไลน์ได้ที่ @KTCWORLD สำหรับผู้ที่ต้องการสมัครสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซี

 สามารถคลิกดูรายละเอียดได้ที่ลิงค์ https://ktc.today/apply-cardหรือติดต่อศูนย์บริการสมาชิก “เคทีซี ทัช” ทุกสาขาทั่วประเทศ