ตอนที่แล้วได้นำเสนอการขอแก้ไขพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ 2565 มาตรา 22 ประเด็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) มาจากตำรวจเลือกกันเอง จากเดิมที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่งคาดว่าคณะทำงานมุ่งหวังไม่ให้การเมืองเข้าครอบงำ ซึ่งฟันธงไปแล้วว่าเป็นได้ยาก เพื่อไม่ให้เสียเวลาในการขับเคลื่อนล่ารายชื่อ ควรนำร่างที่ยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรและทางสภาฯตรวจร่างพ.ร.บ.ตำรวจฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครบถ้วนถูกต้องมาปรับแก้ดึงปมแก้มาตรา 22 ออกแล้วมุ่งแก้ในประเด็นเกี่ยวกับพนักงานสอบที่อยู่ในภาวะวิกฤตน่าจะสมหวังกว่า
ในร่างพ.ร.บ.ฉบับแก้ไข สาระสำคัญ(4)แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจในกลุ่มสายงานสืบสวนสอบสวน โดยกำหนดให้พนักงานสอบสวนมีความเจริญก้าวหน้าด้วยระบบคุณธรรมและวิธีประเมิน และ(5)กำหนดให้มีมาตรการคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนโดยซื่อสัตย์สุจริต ทั้งสองข้อขอแก้ไขในหลายมาตรา ตอนหน้าจะนำเสนอรายละเอียด จึงขอนำเสนอที่คณะทำงานซึ่งมีทั้งอดีตบิ๊กตำรวจและบิ๊กตำรวจในปัจจุบันบอกถึงเหตุที่จะต้องแก้ไขกฎหมายประเด็นเกี่ยวกับพนักงานสอบสวน มีรายละเอียดพอสรุปได้ดังนี้
พนักงานสอบสวนเป็นกลุ่มวิชาชีพที่ใกล้ชิดและกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและสำนักงานตำรวจแห่งชาติมากที่สุด เป็นต้นธารแห่งกระบวนการยุติธรรมอันถือว่าสำคัญที่สุด เป็นด่านแรกที่จะต้องแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อนำไปสู่ชั้นศาล
พนักงานสอบสวนเป็นมดงาน คนเดียวทำทุกอย่าง เนื่องจากกฎหมาย ระเบียบบังคับให้พนักงานสอบสวนทำด้วยตัวเองเกือบทุกกรณี ตั้งแต่สอบปากคำ พิมพ์คำให้การ พิมพ์สำนวน ออกหมายเรียกผู้ต้องหา หมายเรียกพยาน อายัดทรัพย์ อายัดตัวผู้ต้องหา ไปตรวจที่เกิดเหตุ ส่งของกลางไปตรวจพิสูจน์ สืบสวนติดตามจับกุมคนร้ายและทรัพย์สิน เดินทางไปสอบสวนนอกสถานที่ต่างๆ ขออนุมัติหมายค้น หมายจับ แจ้งข้อกล่าวหาทำสัญญาประกันตัว พิมพ์คำร้องขอผัดฟ้องฝากขังไปยื่นคำร้องขอผัดฟ้องฝากขัง
แม้ในวันที่ปฏิบัติหน้าที่เข้าเวรพนักงานสอบสวน ถึงเวลาออกเวรต้องปฏิบัติหน้าที่สอบสวนต่อเนื่องตามสถานการณ์ บางกรณีมีการจับกุมตามหมายจับในช่วงที่ออกเวรแล้ว ต้องรีบเดินทางมาสอบสวนและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องทันทีจนกว่าสรุปสำนวนส่งอัยการ
พนักงานสอบสวนไม่มีเวลาทำงานที่แน่นอน ไม่มีเงินค่าทำงานนอกเวลาราชการ เฉกเช่นวิชาชีพในกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ เป็นอาชีพที่ต้องออกค่าใช้จ่ายส่วนตัวในการปฏิบัติหน้าที่เกินกว่าค่าตอบแทนสำนวนการสอบสวนที่ได้รับ ซึงค่าใช้จ่ายส่วนเกินนี้ ทางราชการไม่สามารถเบิกคืนให้ได้ พนักงานสอบสวนมักไม่มีเวลาให้กับครอบครัว เนื่องจากเป็นอาชีพที่ต้องอุทิศตน อุทิศเวลา ให้กับทางราชการมากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกสาขาอาชีพในกระบวนการยุติธรรม
ที่สำคัญปัญหาการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน และการแต่งตั้งวาระประจำปี มักไม่ได้พิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน ไม่ได้รับการแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น แต่ผู้ที่ได้รับการพิจารณาจะเป็นตำรวจสายงานอื่นที่ทำงานใกล้ชิดกับนักการเมือง ทั้งระดับชาติและท้องถิ่น ลักษณะฝากตั๋วให้ได้ 2 ขั้น หรือเลื่อนตำแหน่ง ในแวดวงตำรวจต่างรู้กันดีและมีมายาวนาน พนักงานสอบสวนหลายนายเกิดความเครียด ท้อแท้ บ้างก็ลาออกบ้างก็หนีไปสายงานอื่น บ้างก็กดดันเกิดความเครียดฆ่าตัวตายหนีปัญหา
ปัญหาการขาดความเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพพนักงานสอบสวน เพราะผู้บังคับบัญชาไม่จริงใจกับการแก้ปัญหาเท่าที่ควรทั้งที่เป็นกำลังหลัก เป็นอาวุธสำคัญที่สุด เป็นมดงาน เป็นอำนาจ เป็นเกียรติยศศักดิ์ศรี เป็นความภาคภูมิใจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีอยู่ มีคำถามว่าทำไมประเทศไทยจึงไม่ยกระดับความเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพพนักงานสอบสวนให้ทัดเทียมกับข้าราชการฝ่ายอื่นในกระบวนการยุติธรรม สาเหตุเพราะการทำสำนวนมักถูกแทรกแซงจากฝ่ายบริหารหรือนักการเมือง เนื่องจากหัวหน้าสถานีหรือหัวหน้าหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน ส่วนใหญ่ที่เลื่อนตำแหน่งขึ้นมา โดยไม่ได้มาจากการประเมินทางวิชาการ แต่ผู้บารมีสนับสนุน จึงต้องทดแทนบุญคุณ เป็นเหตุให้การสอบสวนขาดความเป็นเอกภาพเช่น ผู้มีบารมีหรือบริวารถูกจับกุมดำเนินคดี หัวหน้าสถานีจะสั่งให้พนักงานสอบสวนปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือทำสำนวนสั่งไม่ฟ้อง พนักงานสอบสวนมิอาจขัดได้เนื่องจากอยู่ภายใต้การบังคับบัญชา
พนักงานสอบสวนเองเสี่ยงที่จะถูกร้องเรียนและดำเนินคดีตามมาตรา 157 จึงจำเป็นต้องคืนแท่งเลื่อนไหลของพนักงานสอบสวนกลับคืนมาโดยเร็ว กำหนดให้ตำแหน่งพนักงานสอบสวนเป็นตำแหน่งปรับระดับเพิ่มลดในตัวเอง เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นด้วยการประเมินผลทางวิชาการ เพื่อให้มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตราชการ อันจะเป็นการแก้ปัญหาพนักงานสอบสวนขาดแคลน ย้ายหนี ฆ่าตัวตายและเกิดแรงจูงใจในการพัฒนาความรู้ด้านกฎหมายมีความมุ่งมั่นรับใช้ประชาชน
ที่ยกมานำเสนอเพื่อสื่อให้เห็นถึงสภาพของพนักงานสอบสวนที่ดำรงสถานะด้วยความเจ็บปวด จากที่เคยมีแต่คำบอกเล่าจนกลายมาเป็นหลักฐานผ่านตัวอักษร ผลพวงเหล่านี้ล้วนแต่เกิดจากน้ำมือของผู้บริหารสำนักงานแห่งชาติแทบทั้งสิ้น เพียงเพื่อรักษาเก้าอี้และผลประโยชน์ยอมย่ำยีองค์กรตัวเองแบบไม่ใยดี แถมบิ๊กตำรวจบางคนทำตัวยิ่งกว่าปลาหมอคางดำเสียอีก การขับเคลื่อนเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจ ในประเด็นนี้ เชื่อว่าตำรวจและประชาชนทั่วประเทศสนับสนุนแน่นอน !!!
#ทีมข่าวกระบวนการยุติธรรม
#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์
#รอติดตามตอนจบ