•สหรัฐฯ
เศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐฯชะลอตัว คาดเฟดลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ GDP ไตรมาส2 ขยายตัว 2.8% QoQ annualized จากไตรมาสก่อนหน้าที่ 1.4% และสูงกว่าตลาดคาดที่ 2.0% อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายน ยอดขายบ้านมือสองปรับตัวลง 5.4% MoM ต่อเนื่องเช่นเดียวกับยอดขายบ้านใหม่ที่ปรับตัวลง -0.6% MoM นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อ PCE ทั่วไปอยู่ที่ 2.5% YoY จากเดือนก่อนที่ 2.6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อ PCE พื้นฐานทรงตัวที่ 2.6% YoY
แม้ว่า GDP ไตรมาส 2 โตดีกว่าคาด แต่จากดัชนีทางเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นๆ เช่น ยอดขายบ้าน กิจกรรมการผลิต ความเชื่อมั่นผู้บริโภค และอัตราการว่างงานที่ส่งสัญญาณชะลอตัวชัดเจนมากขึ้น สอดคล้องกับ IMF ที่ปรับลดคาดการณ์ GDP ในปี 2567 จากเดิมโต 2.7% ลงมาที่ 2.6% นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่งผลให้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) อาจลดอัตราดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯในเดือนพฤศจิกายนที่อาจสร้างความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อในระยะถัดไป รวมทั้งการทรงตัวของเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE) ล่าสุดวิจัยกรุงศรีจึงยังคงมุมมองว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีอยู่ที่
4.75-5.00% จากระดับปัจจุบันที่ 5.25-5.50%
•ยูโรโซน
เศรษฐกิจยูโรโซนผ่านจุดต่ำสุด แต่ยังมีแนวโน้มโตต่ำและมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น ในเดือนกรกฎาคม ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและการบริการปรับลดลงสู่ระดับ 50.1จากเดือนก่อนหน้าที่ 50.9 โดยภาคการผลิตหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ 45.8 สู่ระดับ 45.6 ขณะที่ภาคการบริการชะลอลงจาก 52.8 ลงสู่ระดับ 51.9 นอกจากนี้ ในเดือนมิถุนายน สินเชื่อภาคเอกชนขยายตัวเพียง 0.3% YoY
แม้ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในไตรมาส 4/66 แต่แนวโน้มการเติบโตช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำและมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นมากขึ้นจาก (i) กิจกรรมภาคการผลิตที่หดตัวต่อเนื่องและภาคบริการที่โตชะลอลง (ii) ยอดค้าปลีกที่โตต่ำขณะที่ภาคครัวเรือนมีอัตราการออมเงินพุ่งสูงขึ้น (iii) ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหภาพยุโรปและจีนที่เพิ่มขึ้น และ (iv) IMF คาดการณ์ GDP ปี2567 โตเพียง 0.9% ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดที่ 1.4% ทั้งนี้ จากปัจจัยดังกล่าวรวมถึงการชะลอตัวของเงินเฟ้อคาดว่าจะนำไปสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพิ่มเติมในปีนี้ แต่อย่างไรก็ตาม จากอัตราเงินเฟ้อภาคบริการรวมถึงค่าจ้างแรงงานที่ยังสูง วิจัยกรุงศรีคาดว่า ECB จะปรับลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ (ไม่ปรับลดในทุกการประชุม) ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีอยู่ที่ 3.25% จากระดับปัจจุบันที่ 3.75%
•จีน
IMF คาดเศรษฐกิจจีนปีนี้โตได้ตามเป้าหมายที่ 5% ขณะที่ตัวเลขการบริโภคล่าสุดยังอ่อนแอแม้มีมาตรการกระตุ้นต่อเนื่อง สำหรับในปี 2567 IMF คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวได้ตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ 5% แต่จะชะลอลงสู่ 4.5% ในปี 2568 และอาจเหลือเพียง 3.3% ภายในปี 2572 ส่วนในไตรมาส 2 เศรษฐกิจจีนโตต่ำกว่าคาดที่ 4.7%ตามการบริโภคที่ยังอ่อนแอต่อเนื่อง โดยยอดค้าปลีกในเดือนมิถุนายนขยายตัวเพียง2% จาก 3.7% ในเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ ความกังวลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจหนุนให้จีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจาก 1.8% เป็น 1.7% และปรับลด Medium-Term Lending Facility (MLF) จาก 2.5% เป็น 2.3% รวมถึง Loan Prime Rate (LPR) ระยะ 1 ปี และ 5 ปี จาก 3.45% และ 3.95% เป็น 3.35% และ 3.85% ตามลำดับ
การเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 คาดว่าจะได้แรงหนุนหลักจากภาคบริการและการส่งออก แต่ยังคงเผชิญกับแรงกดดันจากการบริโภคที่อ่อนแอ ขณะที่มาตรการอุดหนุนการนำยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าไปแลกซื้อใหม่ (ล่าสุดขยายเพิ่มเติมอีก 41.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ประกอบกับการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างครอบคลุมทั้งระบบ อาจช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภายในประเทศได้บ้างแม้ผลบวกยังจำกัด ขณะเดียวกันข้อเสนอการปฏิรูปเชิงโครงสร้างกว่า 300 รายการในการประชุม Third Plenum ซึ่งมีแผนจะบรรลุภายในปี 2572 (เช่น ลดอุปสรรคการแข่งขันในตลาด ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี ลดหนี้ซ่อนเร้นและหนี้รัฐบาลท้องถิ่น เพิ่มอัตราการเกิด) น่าจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่ากระตุ้นการเติบโตในระยะสั้น
เศรษฐกิจไทยการส่งออกในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ขยายตัว 2.0% คาดทั้งปีมีแนวโน้มเติบโตได้ 1.8% ส่วนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตกำหนดให้ประชาชนเริ่มลงทะเบียนรับสิทธิได้ต้นเดือนสิงหาคมนี้
มูลค่าส่งออกเดือนมิถุนายนหดตัวลงเล็กน้อย คาดทั้งปียังมีแนวโน้มเติบโตต่ำ กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าส่งออกในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 24.8 พันล้านดอลลาร์ หดตัว 0.3% YoY ชะลอลงจากเดือนพฤษภาคมที่ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือนที่ 26.2 พันล้านดอลลาร์ และหากหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและทองคำ มูลค่าส่งออกหดตัว 1.6% โดยการส่งออกสินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ น้ำตาลทราย (-51.9%) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง (-37.8%) แผงวงจรไฟฟ้า (-21.4%) และผลิตภัณฑ์ยาง (-7.9%) ขณะที่การส่งออกในบางกลุ่มขยายตัว อาทิ ข้าว (+96.6%) ยางพารา (+28.8%) เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (+22.0%) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+20.1%) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+13.5%) ด้านตลาดส่งออกพบว่าหดตัวในตลาดหลักอาทิ จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน5 ขณะที่การส่งออกไปสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และ CLMV ขยายตัว สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 มูลค่าการส่งออกขยายตัว 2.0%
การส่งออกในเดือนมิถุนายนกลับมาหดตัวเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเนื่องจากการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมที่เติบโตสูงในเดือนก่อน (+36.3%) พลิกกลับมาหดตัว (-2.2%) หลังจากเข้าสู่ช่วงท้ายของฤดูกาล จึงมีผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง สำหรับแนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี คาดว่าการส่งออกของไทยยังเผชิญแรงกดดดันจากปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิต ขณะเดียวกันสินค้าส่งออกของไทยมีความเชื่อมโยงกับการค้าโลกน้อยลง ซึ่งจากการวิเคราะห์ของธปท.ชี้ว่าบทบาทของไทยมีจำกัดในห่วงโซ่การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลก นอกจากนี้ ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนมีแนวโน้มกลับมารุนแรงขึ้น รวมถึงปัญหา overcapacity ของจีน ซึ่งก่อให้เกิดการไหลทะลักของสินค้าจีนเข้าสู่ตลาดโลก และกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยเพิ่มเติมในสินค้ากลุ่มเสี่ยง อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ วิจัยกรุงศรีประเมินการส่งออกในปีนี้อาจมีแนวโน้มเติบโตในระดับต่ำที่ 1.8%
รัฐบาลแจงไทม์ไลน์เปิดลงทะเบียนสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มีกำหนดการที่จะเริ่มให้ใช้จ่ายได้ภายในไตรมาสสี่ของปีนี้ ล่าสุดวันที่ 24 กรกฏาคม กระทรวงการคลังชี้แจงช่วงเวลาที่จะเปิดให้ลงทะเบียนขอรับสิทธิในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยจำแนกเป็น 3 กลุ่ม คือ (i) วันที่ 1 สิงหาคม ถึง 15 กันยายน สำหรับประชาชนที่มีสมาร์ทโฟนลงทะเบียนผ่าน Application “ทางรัฐ” (ii) วันที่ 16 กันยายน ถึง 15 ตุลาคม สำหรับประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน และ (iii) ตั้งแต่วันที่ 1 ตลาคม สำหรับร้านค้า (รอการชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มที่ ii และกลุ่มที่ iii ในระยะถัดไป) ทั้งนี้ รัฐบาลมีแผนกำหนดการจะให้เริ่มใช้จ่ายในโครงการนี้ได้ภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
การกำหนดไทม์ไลน์สำคัญของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่แม้จะยังมีรายละเอียดไม่ครบถ้วนชัดเจน แต่ถือเป็นความคืบหน้าเพิ่มเติมต่อเนื่องหลังจากเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมาซึ่งรัฐบาลได้มีการปรับวงเงินของโครงการลงเหลือ 4.5 แสนล้านบาท และใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จำนวน 1.65 แสนล้านบาท (ประกอบด้วย งบฯ เพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาท และงบฯจากการบริหารจัดการ 0.43แสนล้านบาท) และจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 2.85 แสนล้านบาท (ประกอบด้วย การจัดตั้งงบฯ 1.52 แสนล้านบาท และการบริหารจัดการงบอื่นๆ 1.323แสนล้านบาท) อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามกระบวนการจัดทำงบประมาณดังกล่าว รวมถึงปัจจัยทางการเมืองในประเทศจากกรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยต่อคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ในวันที่ 14 สิงหาคมที่จะถึงนี้ ขณะที่ล่าสุดกระทรวงการคลังมีการปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปีนี้ขยายตัวเป็น 2.7% จากเดิมคาด 2.4% โดยระบุว่าไม่นับรวมโครงการดิจิทิลวอลเล็ต