วันที่ 24 กรกฎาคม 2567 นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.จังหวัดราชบุรี และโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เปิดเผยถึงมติการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคว่า ในวันที่ 24 – 25 กรกฎาคม 2567 จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ประเด็นที่สำคัญ คือ การแก้ไขร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเกี่ยวข้องกับการทำโทษเด็กและเยาวชน โดยการทำโทษด้วยการตี เป็นเรื่องที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้ถือว่ามีความสําคัญและควรพิจารณาอย่างละเอียดและถี่ถ้วน
ร่างพ.ร.บ.ฯ ดังกล่าว จะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความปลอดภัยในร่างกายและจิตใจ แต่การห้ามอย่างเด็ดขาดนั้น ต้องใช้วิจารณญาณในทางปฎิบัติ เนื่องด้วยสังคมไทยยังมีความเชื่อมาอย่างยาวนานในอบรมเลี้ยงดูบุตรหลาน หากกระทำในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร จะมีการสั่งสอนและลงโทษโดยการตีเพื่อย้ำเตือนให้บุตรหลานอยู่ในกรอบความถูกต้อง ซึ่งในหลักการแล้วจะต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับยุคปัจจุบัน
โฆษก รทสช.กล่าวว่า ดังนั้น ควรยึดหลักทางสายกลาง คือ การลงโทษเพื่อสั่งสอนพอสมควรแก่เหตุ ไม่ลงโทษแบบทารุณกรรม หรือเป็นการทำร้ายร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง ต้องมีการสร้างวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมในการเลี้ยงดูบุตรหลานให้เข้ากับยุคสมัยและสอดคล้องกับบริบทของโลกในปัจจุบัน เพื่อให้การพิจารณาร่างกม.นี้เป็นไปด้วยความรอบคอบ พรรคมีมติส่งตัวแทน 3 ท่าน เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการในการพิจารณา ได้แก่ นายจุติ ไกรฤกษ์ สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตรมว.พัฒนาความมั่นคงของมนุษย์, ร.ต.อ.หญิงอัยรดา บำรุงรักษ์ รองโฆษกพรรค ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเด็ก เยาวชน และสตรี และบุคคลภายนอกที่อยู่ในองค์กรเด็กและเยาวชนซึ่งทำกิจกรรมในการปกป้องเด็กและเยาวชนจากความรุนแรง อีกทั้งมีประสบการณ์ในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชน
“พรรครวมไทยสร้างชาติให้ความสำคัญ ใน ร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะเรื่องเด็กและเยาวชน ถือเป็นนโยบายหลักของพรรค ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยให้มีศักยภาพสอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก และเพิ่มขีดความสามารถของเยาวชนไปสู่ระดับนานาชาติ” นายอัครเดช กล่าวทิ้งท้าย