“วราวุธ” เผย 1 ส.ค. นี้ พม. เตรียมจัดงานวันสตรีไทย ประจำปี 2567 พร้อมน้อมนำกระแสพระราชดำรัส พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 4 ประการ ให้สตรีไทย ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต พัฒนาตนเอง ครอบครัว สังคมไทย
วันที่ 23 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้วันที่ 1 สิงหาคมของทุกปี เป็น “วันสตรีไทย” นับตั้งแต่ปี 2546 และพระราชทานพระราชานุญาต ให้ใช้ ดอกกล้วยไม้ คัทลียา ควีนสิริกิติ์ เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ ประจำวันสตรีไทย
นายวราวุธ กล่าวว่า ในวันที่ 1 สิงหาคม 2567 นี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และหน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านสตรี จะจัดงานวันสตรีไทย ประจำปี 2567 ขึ้นภายใต้แนวคิด “น้อมเกล้าฯ ถวายความภักดี ปวงสตรีสืบสานการพัฒนา” เพื่อเชื่ดชูยกย่องสตรีไทยที่ร่วมสืบสานและพัฒนาสิ่งที่ดีงามให้กับสังคมและประเทศชาติ ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยในเวลา 16.00 น. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานเปิดงานวันสตรีไทย ประจำปี 2567 และพระราชทานเข็มที่ระลึกแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ จำนวน 100 คน และเข็มสตรีไทยดีเด่น ประจำปี 2567 แก่ผู้ได้รับคัดเลือกเป็นสตรีไทยดีเด่น จำนวน 150 คน ซึ่งเป็นผู้มีความประพฤติปฏิบัติดี ขยันหมั่นเพียร ชื่อสัตย์สุจริต มีสถานภาพครอบครัวที่เป็นแบบอย่างที่ดี มีการพัฒนาตนเอง ครอบครัว และสร้างสรรค์ชุมชน ท้องถิ่น สังคม เป็นจิตอาสาช่วยเหลือสังคม และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับบุคคลทั่วไป โดยตนเอง นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) จะเป็นผู้กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาของงานวันตรีไทย ประจำปี 2567
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานแนวพระราชดำริหน้าที่สำคัญเบื้องต้นของสตรีไทย 4 ประการ ดังนี้ ประการที่ 1 พึงทำหน้าที่ของแม่ให้สมบูรณ์ ประการที่ 2 พึงทำหน้าที่แม่บ้านให้ดี ประการที่ 3 พึงรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นสตรีไทย และประการที่ 4 ฝึกฝนตนเองให้มีความรู้ความสามารถยิ่งขึ้น ซึ่งสตรีไทยสามารถน้อมนำกระแสพระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและพัฒนาตนเอง เพื่อความสุข ความเจริญ ของครอบครัวไทย สังคมไทย และประเทศไทยอย่างเข้มแข็ง