“ชัยธวัช” เปิดมหกรรมนโยบาย Policy Fest เชียงใหม่ ชี้เชียงใหม่เป็นสวรรค์ของคนนอก แต่คนในกลับเอื้อมไม่ถึงความเจริญ จึงจำเป็นต้องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และดึงประชาชนเข้ามาร่วมคิดนโยบายมากขึ้น ย้ำก้าวไกลเดินหน้าทำงานต่อ ไม่หวั่นคดียุบพรรค เพื่อเตรียมพร้อมเป็นรัฐบาลที่ดีที่สุด
วันที่ 20 กรกฎาคม 2567 ที่ศูนย์การค้าเจ สเปซ สันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลผู้กล่าวปาฐกถาเปิดงานมหกรรมนโยบาย (Policy Fest) ครั้งที่ 3 ในชื่อ “เจียงใหม่เอาแต๊” เพื่อนำเสนอประเด็นปัญหาและแนวนโยบายที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ภาคเหนือ โดยเน้นย้ำถึงเป้าหมายในระยะต่อไปของพรรคก้าวไกล และกรอบทิศทางในการนำเสนอนโยบายเกี่ยวกับภาคเหนือและจังหวัดเชียงใหม่
ชัยธวัชเริ่มปาฐกถาโดยกล่าวถึงคดียุบพรรคว่าไม่ว่าวันที่ 7 สิงหาคมนี้จะเกิดอะไรขึ้น พรรคก้าวไกลจะยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างไม่หวั่นไหวเพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย ทิศทางของพรรคต่อจากนี้จะยังคงเดินหน้าด้วยยุทธศาสตร์ฝ่ายค้านเชิงรุก โดยมีเป้าหมายและภารกิจที่สำคัญคือการเดินหน้าเตรียมพร้อมเป็นรัฐบาลที่ดีที่สุดให้กับประชาชนในการเลือกตั้งครั้งหน้า เป็นที่มาของงาน Policy Fest ทั้งก่อนหน้านี้และในวันนี้ เพื่อยกระดับการทำงานด้านนโยบายของพรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้มีความเป็นมืออาชีพ สามารถจัดทำนโยบายออกมาเป็นโรดแมป มีรายละเอียดการผลักดันไปสู่เป้าหมายแต่ละเรื่อง ทั้งด้านงบประมาณและหน่วยงานต่างๆ รวมถึงระเบียบกฎหมายที่จะต้องไปปรับปรุงแก้ไข พร้อมกับการสร้างทีมที่จะบริหารนโยบายแต่ละเรื่องให้ชัดเจน
“พรรคก้าวไกลจะจัดงานแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างเวทีนโยบายในการสื่อสารสองทางกับประชาชน และจะจัดมหกรรมนโยบายครั้งใหญ่ในทุกๆ ปีเพื่อเป็นเวทีถกเถียงเรื่องนโยบายของพรรคให้ชัดเจนและเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ไม่ว่าวันที่ 7 สิงหาคมนี้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาเป็นอย่างไร หมุดหมายของพรรคก้าวไกลก็ยังคงเหมือนเดิม นั่นคือการเป็นรัฐบาลที่ดีที่สุดให้กับประชาชนในการเลือกตั้งครั้งหน้าให้ได้” หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าว
ชัยธวัชกล่าวถึงนโยบายสำหรับจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ ว่าขอมองเชียงใหม่ด้วยสายตาของคนในที่เป็นคนนอก เพราะ 10 ปีที่แล้วตนพาครอบครัวย้ายบ้านมาอยู่ที่เชียงใหม่ ต้องการให้ลูกเข้าเรียนชั้นประถมที่นี่ โดยมีหลายสาเหตุที่สนใจเชียงใหม่ เช่น การเป็นเมืองอันดับสองรองจากกรุงเทพฯ ในสายตาคนนอก เชียงใหม่มีทุกอย่างที่กรุงเทพฯ มี ทั้งโรงพยาบาลที่ดีที่สุดอันดับต้นๆ ของประเทศ, ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มากมาย มีโรงเรียนที่มีคุณภาพ สถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัย และแหล่งศิลปวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังมีหลายสิ่งที่กรุงเทพฯ ไม่มี ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่อยู่ใกล้เมือง มีเวลาสำหรับกิจกรรมครอบครัวให้เลือกมากมาย เชียงใหม่จึงถูกมองจากสายตาคนนอกว่าเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภาคเหนือ
อย่างไรก็ตาม เมื่อมาอยู่จริงกลับพบว่า เชียงใหม่เป็น “สวรรค์ของคนนอก” ที่เข้ามาตักตวงผลประโยชน์ทางธุรกิจและทรัพยากรธรรมชาติ แต่คนในเชียงใหม่เองกลับเอื้อมไม่ถึง เพราะไม่ได้มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่จะไปจับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่คนนอกเข้ามาซื้อ ร้านอาหารและร้านค้าหลายแห่งตั้งราคาไว้สูง เพราะตั้งเป้าขายคนนอกที่เข้ามาท่องเที่ยวเท่านั้น
นอกจากนี้ เชียงใหม่ยังเต็มไปด้วยตัวเลขที่น่าตกใจ เช่น การสำรวจ “คนจนเป้าหมาย” ของกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีตัวเลขคนจนเป้าหมายสูงที่สุดอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ดัชนี “ความก้าวหน้าของคน” ที่สำรวจโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่คนจะมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สาธารณสุข การศึกษา คุณภาพของงาน อัตราการมีงานทำ ที่อยู่อาศัย ชุมชน บริการสาธารณะ ฯลฯ ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมาดัชนีของเชียงใหม่ตกลงอย่างต่อเนื่อง และช่วงหลังตกลงต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยจนอยู่ในกลุ่ม 10 อันดับท้ายของประเทศมาหลายปีแล้วพรรคก้าวไกลจึงอยากชวนประชาชนมาพัฒนานโยบายร่วมกัน ใช้พื้นที่ของพรรคการเมืองเป็นช่องทางหนึ่งในการผลักดันความหวังและความปรารถนาเพื่อชีวิตและอนาคตที่ดีกว่า
เขากล่าวย้ำว่า การเมืองไม่ใช่แค่เรื่องระดับชาติเท่านั้น แต่ท้องถิ่นก็สำคัญไม่แพ้กัน และยังเกี่ยวโยงกับชีวิตประจำวันของทุกคนตั้งแต่เช้ายันค่ำ พรรคจึงให้ความสำคัญกับการเมืองท้องถิ่นอย่างมาก ไม่ใช่แค่เรื่องของการเลือกตั้ง แต่ยังหมายถึงการผลักดันการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นให้ก้าวหน้ากว่านี้ เราต้องทำให้คนในแต่ละพื้นที่มีอำนาจในการกำหนดอนาคตของตัวเองให้มากที่สุด นำงบประมาณส่วนใหญ่ของประเทศมาอยู่กับท้องถิ่น ให้ใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่านี้ รวมถึงบุคลากรภาครัฐส่วนใหญ่ในประเทศต้องสังกัดท้องถิ่น นี่เป็นทิศทางที่ต้องผลักดันและต่อสู้ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกพอสมควร
“นโยบายที่ดีเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มาจากความคิดและข้อเสนอของประชาชน การทำนโยบายที่ดีต้องเป็นการระดมความต้องการและความเห็นของประชาชน เข้ามาผสมผสานกับความรู้ความเชี่ยวชาญ ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญลำพังไม่สามารถพัฒนานโยบายที่ดีได้ แต่ต้องเข้าใจสิ่งที่ประชาชนเผชิญอยู่และต้องการด้วย” ชัยธวัชกล่าว