ด้านคุณภาพสินทรัพย์ยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุม โดยสินเชื่อด้อยคุณภาพทรงตัวในระดับต่ำที่ 2.6% ขณะที่อัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพยังอยู่ในระดับสูงที่ 152% สำหรับครึ่งปีหลังยังคงเดินหน้าดูแลลูกค้าอย่างต่อเนื่องตามแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนและการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม

ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) แจ้งผลประกอบการไตรมาส 2 และรอบ 6 เดือน ปี 2567 โดยธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 5,355 ล้านบาท ในไตรมาส 2 ส่งผลให้ 6 เดือนแรกของปี มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 10,689 ล้านบาท ปัจจัยหนุนหลักมาจากการบริหารจัดการต้นทุนให้สอดคล้องกับรายได้ ด้านคุณภาพสินทรัพย์อยู่ในเกณฑ์ควบคุมและเป็นไปตามเป้าหมาย ขณะที่สภาพคล่องและฐานะเงินกองทุนอยู่ในระดับสูงและมีเสถียรภาพ

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2 และ 6 เดือนแรกของปี 2567 ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย และสะท้อนให้เห็นว่าธนาคารสามารถรับมือกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีความท้าทายและสร้างแรงกดดันต่อทั้งด้านรายได้และด้านคุณภาพสินทรัพย์ได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ในการรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีการฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึง ธนาคารจึงมุ่งเน้นการบริหารความเสี่ยงและต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในด้านต้นทุนทางการเงิน ธนาคารดำเนินการบริหารพอร์ตสินทรัพย์และหนี้สินในเชิงรุกผ่านหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตเงินฝากให้สอดคล้องกับแนวโน้มสินเชื่อ การปรับระยะเวลาของพอร์ตเงินลงทุนเพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนและทิศทางดอกเบี้ยในตลาดเงิน รวมทั้งปรับพอร์ตตราสารหนี้ให้เหมาะสม

เพื่อบริหารทุนและสภาพคล่องส่วนเกิน เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ธนาคารได้ใช้สิทธิไถ่ถอนตราสารหนี้ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ก่อนครบกำหนด จำนวน 30,000 ล้านบาท เนื่องจากประเมินแล้วว่าสภาพคล่องและฐานะเงินกองทุนของธนาคารในปัจจุบันอยู่ในระดับสูง ดังนั้นการใช้สิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนดจะเป็นผลดีต่อการบริหารต้นทุนของธนาคาร

ในด้านต้นทุนการดำเนินงาน ธนาคารยังเน้นย้ำการมีวินัยด้านค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันการพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัลและการเพิ่มความสามารถใหม่ ๆ ในโมบายแอปพลิเคชันอย่างต่อเนื่องส่งผลให้จำนวนธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อโครงสร้างต้นทุนการให้บริการในระยะยาว และสอดคล้องกับแผนการพัฒนาบทบาทของพนักงานสาขาให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินมากขึ้น จากการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้ธนาคารสามารถบริหารต้นทุนได้เป็นอย่างดี สะท้อนได้จากอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้สำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ที่ลดลงมาอยู่ที่ 42% จาก 44% ในปีก่อน

ในด้านคุณภาพสินทรัพย์ ธนาคารยังคงเน้นย้ำการเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยในการเติบโตพอร์ตสินเชื่อ ธนาคารต่อยอดแนวคิด Ecosystem Play และใช้จุดแข็งจากความชำนาญ ความเป็นผู้นำตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนมีบ้าน กลุ่มคนมีรถ และกลุ่มพนักงานเงินเดือน ประกอบกับการพัฒนาบริการใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็วผ่านช่องทางดิจิทัล ส่งผลให้สามารถนำเสนอสินเชื่อที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น สะท้อนได้จากสินเชื่อรายย่อยกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากสิ้นปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบ้านแลกเงิน (+7%) สินเชื่อรถแลกเงิน (+5%) และสินเชื่อบุคคล (+7%)

นอกจากนี้ ธนาคารยังคงเน้นการบริหารพอร์ตสินเชื่อเชิงรุก ไม่ว่าจะเป็นการดูแลลูกค้าทุกกลุ่มอย่างใกล้ชิดเพื่อให้สามารถเข้าถึงและให้ความช่วยเหลือลูกค้าได้อย่างตรงจุดและทันท่วงที โดยธนาคารมีแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ที่หลากหลายให้ตรงกับปัญหาของลูกค้า นอกจากนั้นยังสนับสนุนโครงการรวบหนี้ (Debt Consolidation) เพื่อช่วยบรรเทาภาระดอกเบี้ยและช่วยให้ลูกหนี้สามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้ในระยะยาว

ในภาพรวมธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าผ่านการปรับโครงสร้างหนี้คิดเป็นมูลค่าสินเชื่อประมาณ 11% ของพอร์ตสินเชื่อรวม ขณะที่จำนวนลูกค้าภายใต้โครงการรวบหนี้ เพิ่มขึ้นจากประมาณ 17,000 ราย ณ สิ้นปีที่แล้ว สู่ระดับ 25,000 รายในปัจจุบัน ซึ่งธนาคารสามารถช่วยแบ่งเบาภาระดอกเบี้ยของลูกค้ากลุ่มดังกล่าวได้กว่า 1,700 ล้านบาท

จากการดำเนินการข้างต้น ประกอบกับการบริหารกระบวนการลดหนี้เสียผ่านการขายและการ Write off อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้สถานการณ์ด้านคุณภาพสินทรัพย์เป็นไปตามเป้าหมาย สะท้อนได้จากระดับสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 ที่ลดลง 2% จากสิ้นปีที่แล้วมาอยู่ที่ 40,105 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL ratio) ที่ 2.6% ขณะที่อัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพยังอยู่ในระดับสูงที่ 152%

สำหรับช่วงที่เหลือของปี ธนาคารยังเน้นย้ำแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบ เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งนี้ ด้วยสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ทีทีบีเชื่อมั่นว่าเรามีความพร้อมที่จะรับมือกับปัจจัยต่าง ๆ และจะยังคงเดินหน้าให้ความช่วยเหลือลูกค้าตามแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) และการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของภาครัฐ ควบคู่ไปกับการสานต่อพันธกิจที่มีต่อผู้ถือหุ้นในการสร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพและส่งมอบผลตอบแทนอย่างยั่งยืนในระยะยาว

สำหรับผลการดำเนินงานรายการหลัก ๆ ในไตรมาส 2 และ 6 เดือน ปี 2567 มีดังนี้

สินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2567 อยู่ที่ 1,297 พันล้านบาท ชะลอลง 2.4% จากสิ้นปี 2566 เป็นไปตามแนวทางการเติบโตสินเชื่ออย่างรอบคอบ โดยสินเชื่อกลุ่มเป้าหมายยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบ้านแลกเงิน สินเชื่อรถแลกเงิน และสินเชื่อบุคคล ทั้งนี้ การลดลงของสินเชื่อรวมเป็นผลจากการชำระคืนหนี้ของลูกค้าและการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ผ่านการขายและการ Write off

ด้านเงินฝากอยู่ที่ 1,365 พันล้านบาท ปรับลดลง 1.5% จากสิ้นปีก่อนหน้า เพื่อให้เป็นไปตามแผนบริหารสภาพคล่องและให้สอดคล้องกับความต้องการสินเชื่อใหม่ที่ลดลง โดยก่อนหน้านี้ในไตรมาส 4 ปี 2566 ธนาคารได้ขยายเงินฝากกว่า 4.3% เพื่อเตรียมไว้ล่วงหน้าสำหรับการดำเนินงานในปี 2567 ทำให้ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา สภาพคล่องจึงยังคงอยู่ในระดับสูง สะท้อนได้จาก LDR ที่อยู่ที่ 95% ช่วยสร้างความยืดหยุ่นให้กับธนาคารในการบริหารต้นทุนทางการเงิน ทั้งนี้ เงินฝากที่ลดลงเป็นผลจากการลดเงินฝากต้นทุนสูง ในขณะที่เงินฝากจากลูกค้ารายย่อยยังคงขยายตัวได้ตามแผน

สำหรับพอร์ตการลงทุน ธนาคารเน้นการบริหารพอร์ตเชิงรุกเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากทิศทางดอกเบี้ยในตลาด ที่สำคัญคือธนาคารเน้นลงทุนในตราสารภาครัฐเป็นหลัก ไม่มีนโยบายลงทุนหรือเก็งกำไรในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง จึงทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีผิดนัดชำระหนี้ในตลาดตราสารหนี้ในช่วงที่ผ่านมา

กลยุทธ์ในการบริหารพอร์ตดังกล่าวช่วยหนุนแนวโน้มรายได้ดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี รายได้ค่าธรรมเนียมยังคงมีความท้าทาย ทั้งนี้ ในไตรมาส 2 ปี 2567 ธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงานรวมอยู่ที่ 17,372 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 7,210 ล้านบาท ส่งผลให้ใน 6 เดือนแรกของปี 2567 มีรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น 35,042 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.2% จากปีก่อนหน้า สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 14,781 ล้านบาท ลดลง 2.5% จากปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งด้านการเงินและเสริมกันชนรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ธนาคารได้ตั้งสำรองฯ เพิ่มเติมจากระดับปกติ โดยเป็นการตั้งสำรองฯ เพิ่มเติมในส่วนของ Management Overlay ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายตั้งสำรองฯ เป็นจำนวน 5,281 ล้านบาท ในไตรมาส 2 รวม 6 เดือน ปี 2567 ดำเนินการตั้งสำรองฯ ทั้งสิ้น 10,397 ล้านบาท ซึ่งหลังจากหักสำรองฯ และภาษี ธนาคารรายงานกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 2 และรอบ 6 เดือน ปี 2567 ที่ 5,355 ล้านบาท และ 10,689 ล้านบาท ตามลำดับ

ท้ายสุดด้านฐานะเงินกองทุน ยังคงอยู่ในระดับสูงและมีเสถียรภาพ โดย ณ สิ้นไตรมาส

2 ปี 2567 อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier 1) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 17.1% ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนรวม (CAR) อยู่ที่ 19.5% ลดลงเล็กน้อยจากการไถ่ถอนตราสารหนี้ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ก่อนครบกำหนด ในภาพรวมระดับเงินกองทุนยังถือว่าสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรม และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารกลุ่ม D-SIBs ที่ธปท.กำหนดไว้ที่ 9.5% สำหรับ Tier 1 และ 12.0% สำหรับ CAR