กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 35.80-36.60 ลุ้นยอดค้าปลีกสหรัฐฯ

80

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประเมินเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 35.80-36.60 บาท/ดอลลาร์ หลังเงินบาทปิดแข็งค่าที่ 36.21 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 36.10-36.50 บาท/ดอลลาร์ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 สัปดาห์ เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ประเมินว่ามีความคืบหน้าในการควบคุมภาวะเงินเฟ้อและตลาดแรงงานชะลอตัวลง ขณะที่เฟดกำลังเผชิญความเสี่ยงสองด้านและไม่สามารถให้น้ำหนักไปที่การดูแลภาวะเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียว โดยเฟดใกล้ที่จะลดดอกเบี้ยแต่ยังต้องการเห็นอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวต่อไป นอกจากนี้ ประธานเฟดระบุว่าการตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยไม่ใช่การกระทำเพื่อหวังผลทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 5 พ.ย. ทั้งนี้ แรงขายดอลลาร์เร่งตัวหลังสหรัฐฯรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI)เพิ่มขึ้น 3.0% ในเดือนมิ.ย.ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นน้อยที่สุดในรอบ 1 ปี ทางด้านดัชนี CPI พื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น3.3% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นน้อยที่สุดในรอบ 3 ปี ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 3,150 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 8,717 ล้านบาท ตามลำดับ

      กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี ให้ความเห็นถึงสถานการณ์ตลาดในสัปดาห์นี้ว่าตลาดจะติดตามจีดีพีไตรมาส 2 ของจีน ยอดค้าปลีกเดือนมิ.ย.ของสหรัฐฯ รวมถึงการประชุมธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) ซึ่งคาดว่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 3.75% ในวันที่ 18 ก.ค. อนึ่ง ภายหลังตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯสะท้อนการชะลอตัวมากขึ้น ทำให้นักลงทุนคาดว่าเฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. นี้ โดยในภาพรวม ข้อมูลต่างๆทำให้เราเชื่อมั่นมากขึ้นว่าการเร่งตัวของเงินเฟ้อเมื่อต้นปีนี้เป็นเพียงภาวะชั่วคราว สนับสนุนมุมมองของเราที่ว่าเงินดอลลาร์อยู่ในทิศทางอ่อนค่าลงขณะที่ในการประชุม FOMC สิ้นเดือนนี้เฟดมีแนวโน้มส่งสัญญาณเพื่อปูทางไปสู่การปรับลดดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า ส่วนเงินเยนฟื้นตัวจากระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 38 ปี ขณะที่ข้อมูลบ่งชี้ว่าทางการญี่ปุ่นอาจเข้าแทรกแซงตลาดหลังสหรัฐฯประกาศตัวเลขเงินเฟ้อต่ำกว่าคาด ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนกลยุทธ์ดูแลค่าเงินเยนไปสู่แนวทางเชิงรุก

      สำหรับปัจจัยในประเทศ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าศักยภาพการเติบโตของไทยที่ 3% ยังไม่พอที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืนในระยะยาว ขณะที่หนี้ครัวเรือนซึ่งอยู่ที่ราว 91% ของจีดีพีสูงเกินไปสำหรับเสถียรภาพของประเทศ แต่การแก้ไขต้องใช้เวลา