ตำรวจสอบสวนกลาง(CIB) ร่วม สบส., สสจ.ปทุมธานี, สสจ.นนทบุรีกวาดล้างหมอเถื่อนย่านปริมณฑล

139

ตำรวจสอบสวนกลาง(CIB) ร่วม สบส., สสจ.ปทุมธานี, สสจ.นนทบุรี
กวาดล้างหมอเถื่อนย่านปริมณฑล รวบ 6 หมอเก๊รักษาโรค-เสริมความงามให้ประชาชน

 
วันที่ 12 กรกฎาคม 2567 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์  เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.โสภณ  สารพัฒน์ รอง ผบช.ก.,เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์  รักษ์เจริญ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.ชัฎฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ, พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ. และเจ้าหน้าที่ กก.4 บก.ปคบ, กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดย นพ.สุระ  วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, ดร.ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี โดย นพ.ภุชงค์  ไชยชิน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี โดย นพ.รุ่งฤทัย  มวลประสิทธิ์พร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติกรณีระดมตรวจค้น 5 จุด จับกุมผู้ต้องหาโดยเป็นแพทย์เถื่อน 6 ราย ตรวจยึดของกลาง จำนวน 29รายการ 
พฤติการณ์ สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานีและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี อีกทั้งได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ให้ทำการตรวจสอบบุคคลที่ไม่ใช่แพทย์ ลักลอบให้บริการตรวจรักษาให้ประชาชนทั่วไปทั้งในรูปแบบรักษาโรคทั่วไป และฉีดหน้าเสริมความงามอาทิเช่น ฉีดโบท๊อก ฟิลเลอร์ ฉีดวิตามินบำรุงผิวฯลฯ ซึ่งบางรายมีการโฆษณาเชิญชวนประชาชนให้มารับการรักษา แพลตฟอร์มออนไลน์อย่างโจ่งแจ้งโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย
เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่ทำการสืบสวนพบว่า มีบุคคลที่ไม่ใช่แพทย์หลายรายลักลอบใช้สถานที่ต่างๆ เปิดรับการรักษาให้แก่ประชาชนโดยทั่วไปจริง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้บริการ บางรายเจ็บป่วยคาดหวังการตรวจรักษาให้หาย แต่กลับไม่ได้รับการรักษาโดยแพทย์ที่แท้จริง ในการณีผู้ที่เสริมความงาม อาจเกิดอันตรายต่อร่างกายรูปแบบอื่นๆ เช่น ใบหน้าผิดรูป บิดเบี้ยว หรือเกิดการอักเสบติดเชื้อจนเป็นอันตรายถึงชีวิต จึงเป็นการนำมาสู่การระดมกวาดล้างหมอเถื่อน และสถานพยาบาลเถื่อนรวม 5 จุด ดังนี้
 

1.สถานพยาบาลแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ ตลาดไท ต.คลองสอง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้รับการประสาน จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ให้ตรวจสอบสถานพยาบาลแห่งหนึ่งย่าน อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ที่เปิดรักษษาโรคทั่วไป โดยผู้ตรวจรักษาเป็นอาจไม่ใช่แพทย์ทำการรักษา
โดยในวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี จึงได้ร่วมกันวางแผนเข้าตรวจสอบขณะเข้าตรวจสอบ พบ

  น.ส.สุภัคจิรา (สงวนนามสกุล) อายุ 53 ปี แสดงตนเป็นแพทย์ผู้รักษา เมื่อทำการตรวจสอบพบว่า แพทย์ผู้ทำการรักษาไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมแต่อย่างใด โดย น.ส.สุภัคจิรา ฯ รับว่า ตนเองจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากนั้นไปเรียนต่อหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล เมื่อจบแล้วได้ไปทำงานในคลินิกใน พื้นที่  จ.ปทุมธานี  ได้นำความรู้ที่ได้เรียนมาและประสบการณ์จากการทำงาน มาสมัครทำงานที่ สถานพยาบาลดังกล่าว ทำมาได้ประมาณ 1 ปี เจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกันจับกุม น.ส.สุภัคจิรา ฯ พร้อมตรวจยึดยามีทะเบียน จำนวน 2 รายการ ส่ง พนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี

2.คลินิกแห่งหนึ่ง บริเวณถนนรังสิต-นครนายก ต.บึงยี่โถ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี สืบเนื่องจาก เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) และประชาชนให้ตรวจสอบสถานพยาบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งมีการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ เกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์ยา มาฉีดเข้าร่างกายผู้เข้ารับบริการต้องสงสัยว่าบุคคลที่ให้บริการรักษาไม่ใช่แพทย์ และทำหัตถการในเวลาที่ไม่ได้รับอนุญาต ต่อมาวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงร่วมกับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี(สสจ.ปทุมธานี) นำหมายค้นของศาลจังหวัดธัญบุรี เข้าตรวจค้นสถานพยาบาลดังกล่าว ขณะเข้าตรวจค้น พบ 

น.ส.สนธยา (สงวนนามสกุล) อายุ 54 ปี เป็นผู้นำผลิตภัณฑ์ยา ฉีดให้กับประชาชน โดยน.ส.สนธยาฯ รับว่าตนเองจบปริญญาตรีพยาบาลศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง แต่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม อีกทั้งได้ทำหัตถการนอกเวลาที่คลีนิคได้รับอนุญาต โดยทำมาแล้วประมาณ 3 ปี มีรายได้เดือนละ 30,000 บาท พร้อมทั้งตรวจยึดยามีทะเบียน จำนวน 4 รายการ รวมกว่า 128 ชิ้น พร้อมจับกุม น.ส.สนธยาฯ ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก. ปคบ. ดำเนินคดี

3. สถานพยาบาลแห่งหนึ่ง ย่าน ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี เข้าตรวจค้นสถานพยาบาลดังกล่าว พบ

นายเอกภพ (สงวนนามสกุล) อายุ 63 ปี กำลังทำการรักษาให้กับประชาชนที่มาใช้บริการ โดยนายเอกภพฯ รับว่าตนเอง จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านเทคนิคการแพทย์ จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และไม่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมแต่อย่างใด โดยได้ค่าจ้างวันละ 1,600 บาท เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ตรวจยึดอุปกรณ์การตรวจรักษาและพยานหลักฐานอื่น จำนวน 3 รายการ พร้อมจับกุม นายเอกภาพฯ ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี

    4. สถานพยาบาลแห่งหนึ่ง ย่าน ต.เสาธงหิน อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี นำหมายค้นของศาลแขวงจังหวัดนนทบุรี ขณะเข้าตรวจค้น พบ น.ส.รมย์ชลี (สงวนนามสกุล) และ
น.ส.อรพิน (สงวนนามสกุล) กำลังฉีดโบท็อกให้กับผู้มารับบริการ โดย น.ส.รมย์ชลีฯ ทำหน้าที่ ผสมยาที่ใช้ฉีด และ น.ส.อรพินฯ ทำหน้าที่เป็นผู้ทำการฉีดให้กับผู้มารับบริการ เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบ น.ส.รมย์ชลีฯ รับว่าเป็นเจ้าของสถานที่ โดยสถานที่ดังกล่าวขออนุญาตประกอบและดำเนินกิจการในวันเสาร์และอาทิตย์ ในเวลา 06.00-11.00 น. อีกทั้ง ผู้ทำการตรวจรักษา ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม
    โดย น.ส.รมย์ชลีฯ รับว่าตนเองจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากการศึกษานอกโรงเรียน มีรายได้เดือนละประมาณ 40,000 บาทส่วน น.ส. อรพินฯ รับว่าตนเองจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาคอมพิวเตอร์ และไปเรียนต่อผู้ช่วยพยาบาล จากสถานศึกษาแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพมหานคร มีประสบการณ์เคยทำงานคลินิกมา 4-5 ปี โดยทำงานที่คลินิกแห่งนี้มา 1 ปี มีรายได้เดือนละ ประมาณ 15,000 – 20,000 บาท เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการตรวจยึด ยาแผนปัจจุบัน เครื่องมือแพทย์ และอุปกรณ์การรักษาอื่นๆ จำนวน 12 รายการ พร้อมทั้งจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี

    5.ร้านนวดหน้า สปาแห่งหนึ่ง ย่าน ต.ลำผักกูด อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม2567 โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่จากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี นำหมายค้นของศาลจังหวัดธัญบุรี เข้าตรวจค้น ผลการตรวจค้นพบ

    น.ส.จินตนา (สงวนนามสกุล) อายุ 39 ปี กำลังฉีดวิตามินบำรุงผิวเข้าเส้นเลือดให้กับผู้มารับบริการ จากการตรวจสอบพบว่า พบว่าสถานที่ดังกล่าวเปิดเป็นร้านนวดหน้า และสปาทรีทเม้นบังหน้าเพื่อใช้นัดหมายลูกค้ามาฉีดรักษา โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ และไม่มีใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล อีกทั้งผู้ทำการตรวจรักษา ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมแต่อย่างใด
    โดย น.ส.จินตนา ฯ รับว่าตนเองจบการศึกษาระดับประกาศณีบัตรวิชาชีพ มีประสบการเคยทำงานที่คลินิกเสริมความงามมาก่อน จึงนำความรู้ที่มีรับฉีดเสริมความงามให้กับลูกค้า โดยใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางในการนัดกับลูกค้า และโฆษณาโดยใช้ร้านนวดสปาเป็นสถานที่นัดลูกค้ามาฉีด โดยทำมาแล้วเป็นเวลา 4 ปี รายเดือนละประมาณ 30,000 บาท ในส่วนยา เครื่องมือแพทย์ที่นำมาใช้กับประชาชน ตนเองสั่งมาจากผู้ขายผ่านช่องทางออนไลน์ออนไลน์ ตรวจยึด ยาแผนปัจจุบัน ยาไม่มีทะเบียน และอุปกรณ์ที่ใช่ฉีด จำนวน 8 รายการ

    รวมตรวจค้น 5 จุด ตรวจยึดของกลาง จำนวน 29 รายการ แจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาที่ทำการรักษา และเจ้าของสถานที่ ทั้งหมด 6ราย โดยผู้ทำการรักษาจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 1 ราย, มัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 1 ราย, ประกาศณีบัตรวิชาชีพ 1 ราย และปริญญาตรี 3 ราย โดยผู้ต้องหาทั้งหมดให้การรับสารภาพตลอดทุกข้อกล่าวหา ดังนี้

    1.น.ส.สุภัคจิรา (สงวนนามสกุล) อายุ 53 ปีในความผิดฐาน “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต”

    2.น.ส.สนธยา (สงวนนามสกุล) อายุ 54 ปีฐาน “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต”

    3.นายเอกภพ (สงวนนามสกุล) อายุ 63 ปีฐาน “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต”

    4.น.ส.รมย์ชลี (สงวนนามสกุล) อายุ 40 ปีฐาน “ร่วมกันประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต”

    5.น.ส.อรพิน (สงวนนามสกุล) อายุ 33 ปีฐาน “ร่วมกันประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต”

    6.น.ส.จินตนา (สงวนนามสกุล) อายุ 39 ปี ฐาน “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต,ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต และขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา”
     
    อนึ่ง การปล่อยให้บุคคลที่มิใช่แพทย์มาให้บริการรักษา ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลจะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐาน “ปล่อยปละละเลยให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพทำการประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีคำสั่งทางปกครองให้ปิดสถานพยาบาลเป็นการชั่วคราว หรืออาจถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตได้ โดยหากพบการกระทำความผิดพนักงานสอบสวนจะมีการออกหมายเรียกผู้เกี่ยวข้องมารับทราบข้อกล่าวหาต่อไป
     
    เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม

    1.พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐาน “ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  

    2.พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ฐาน“ประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    3.พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท

    4.พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ฐาน “ขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี
    หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    ดร.ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาลจะต้องจัดให้มีแพทย์ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลอยู่ประจำ ณ สถานพยาบาลตลอดเวลาทำการ เพื่อความปลอดภัยของผู้รับบริการ หากมีการนำชื่อแพทย์มาแขวนป้ายโดยไม่จัดให้มีแพทย์ผู้ดำเนินการฯ ประจำอยู่จริงนั้น จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ซึ่งมีโทษทั้งจำ ทั้งปรับ ส่วนแพทย์ที่ยินยอมให้สถานพยาบาลนำชื่อมาแขวนป้ายก็จะมีการดำเนินคดีด้านจริยธรรมทางการแพทย์ จากแพทยสภา ซึ่งอาจจะรุนแรงถึงขั้นระงับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้ ดังนั้น จึงขอเน้นย้ำให้แพทย์ผู้ดำเนินการฯ ทุกรายปฏิบัติตามที่กฎหมายอย่างถูกต้อง มีการปฏิบัติงานอยู่ ณ สถานพยาบาลตลอดระยะเวลาทำการตามที่ได้แจ้งกับผู้อนุญาต โดยแพทย์หนึ่งคนจะสามารถเป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลได้ไม่เกิน 2 แห่ง และวัน-เวลาในการปฏิบัติงานจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกัน อีกทั้ง จะต้องประเมินระยะเวลาเดินทางระหว่างสถานพยาบาลทั้ง 2 แห่ง เพื่อให้สามารถเดินไปปฏิบัติงานได้ตามระยะเวลาทำการ
    พล.ต.ต.วิทยา  ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า ก่อนเข้ารับการรักษาโรค หรือเสริมความงาม ตามสถานพยาบาลต่างๆ ควรตรวจสอบการได้รับอนุญาตของคลินิกก่อนและจากนั้นตรวจสอบแพทย์ที่ทำการรักษาว่าเป็นแพทย์จริงหรือไม่อย่าเห็นแก่โปรโมชั่นการรักษาที่ถูกเกินกว่าปกติ เพราะนอกจากจะเสียงต่อการอาจทำให้ได้รับความเสี่ยงในการวินิจฉัยและรับการรักษาที่ไม่ถูกต้องจากบุคลากรที่ไม่ใช้แพทย์แล้ว อาจทำให้ได้รับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานเข้าสู่ร่างกาย หรือฉีดรักษาในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้องจนได้รับอันตรายต่อร่างกาย และขอเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่สวมรอยเป็นหมอ, หมอเถื่อน หรือคลินิกเถื่อน ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการจับกุมอย่างต่อเนื่อง หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด พี่น้องประชาชนหากพบสถานพยาบาลหรือแพทย์ที่ต้องสงสัยว่าอาจอยู่ลักษณะหมอเถื่อน หรือคลินิกเถื่อน สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ สายด่วน บก.ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค
    “ผู้ต้องหาหรือจําเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคําพิพากษาถึงที่สุด”

      #Thaitabloid#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์#CIB #สบส.#สสจ.ปทุมธานี#สสจ.นนทบุรี#หมอเถื่อน#ข่าวอาชญากรรมวันนี้