รัฐประหาร คสช.พ่นพิษ ใส่สำนักสีกากีจนทรุด งานสอบสวนล้มละลาย ชาวบ้านเอือมตำรวจ หันเข้าพึ่งนักร้องเรียน อาชีพ อินฟลูฯผงาด

8743

อ่านข่าว พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ กรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.)ผู้ทรงคุณวุฒิ โพสต์เฟสบุ๊กมีเนื้อหาระบุถึงวิกฤตความขัดแย้งของผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เกี่ยวกับการร้องเรียนพัวพันการพนันออนไลน์ มีการฟ้องร้องกันไปมา รวมถึงพฤติกรรมในทางลบของตำรวจ

    แต่ที่ พล.ต.อ.เอก ห่วงอีกวิกฤตนั่นคืองานสอบสวน ที่บุคลากรขาดแคลนอย่างหนัก สวนทางกับคดีความต่างๆที่พุ่งสูงขึ้น ประกอบกับงานสอบสวนเป็นงานหนัก เสี่ยง ค่าตอบแทนน้อย ส่งผลให้พนักงานสอบสวนหันไปทำงานด้านอื่นแทน บางนายต้องลาออกไป ซึ่งวิกฤตนี้ผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรีต่างทราบดีจึงลงนามแต่งตั้งคณะอนุกรรมการก.ตร.เกี่ยวกับการพัฒนางานสืบสวนสอบสวนขึ้น เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนและจะประชุมครั้งแรกในวันที่ 16 กรกฏาคมนี้ พล.ต.อ.เอก คาดหวังว่าจะได้เห็นการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้วิกฤตงานสอบสวนเพื่อกอบกู้วิฤตศรัทธาประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมไทยได้

     แต่เมื่อย้อนดูงานสอบสวนก่อนที่จะกลายเป็นวิกฤตในปัจจุบัน จะพบว่าผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติในอดีต ต่างให้ความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้มีมาตรฐานเพราะต่างทราบกันนี้ว่างานสอบสวนคือหัวใจสำคัญของต้นธารกระบวนการยุติธรรม จึงมีการศึกษาวางระบบให้ตำรวจชั้นสัญญาบัตรที่จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจและนายตำรวจอบรมที่จบนิติศาสตร์ ทุกคนต้องผ่านการเป็นพนักงานสอบสวนก่อน รวมถึงวางเส้นทางให้เห็นถึงความก้าวหน้าในสายงานสอบสวนพร้อมจัดหาค่าตอบแทนที่เหมาะสม  มีการตอบรับจากพนักงานสอบสวนเป็นอย่างดี บางนายถึงขั้นขอเติบโตในงานสอบสวนแบบไม่ต้องย้ายสายงานเพราะมองเห็นอนาคตว่าขยับติดยศนายพัน นายพลได้โดยไม่ต้องวิ่งเต้น เพียงแต่ใช้ผลงานเป็นใบเบิกทาง ต่างทำงานอย่างมีความสุข แต่ต้องมาสะดุด เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ โดยอ้างการปฏิรูปตำรวจเป็นเงื่อนไขหนึ่งด้วย

        เมื่อคสช.ครองอำนาจ  การบริหารงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเริ่มเป๋ งานบริหารงานบุคคลกลายเป็นเครื่องหาประโยชน์ให้บิ๊กคสช.บางคน มีนายตำรวจบางนายเป็นลิ่วล้อคอยรับใช้ ทุกสายงานถูกล้วงลูก พนักงานสอบสวนที่เคยเห็นเส้นทางเติบโตกลับสู่ความมืดมน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วองค์กรสีกากีต้องรุ่งโรจน์ เพราะบิ๊กคสช.ต่างเป็นทหารและข้าราชการประจำย่อมเข้าใจหัวอกข้าราชการประจำด้วยกัน และตลอดเวลากว่า 8 ปีที่ คสช.ครองเมือง ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)ล้วนแต่นั่งยาวจนเกษียณอายุทุกนาย

      ไล่ตั้งแต่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ดำรงตำแหน่ง 1 ตุลาคม 2557-30 กันยายน 2558 เป็นเวลา 1 ปี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ดำรงตำแหน่ง 1 ตุลาคม 2558-30 กันยายน 2563 เป็นเวลา 5 ปี พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ดำรงตำแหน่ง 1 ตุลาคม 2563-30 กันยายน 2565 เป็นเวลา 2 ปี และ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ดำรงตำแหน่ง 1 ตุลาคม 2565-30 กันยายน 2566เป็นเวลา 1 ปี

    “ในจำนวน ผบ.ตร.ทั้ง 4 นาย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชาวสีกากีต่างตั้งความหวังไว้สูงมากว่าจะนำพาองค์กรไปในทิศทางที่ดี เพราะมั่นใจในความเป็นภาวะผู้นำของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ที่โชว์ศักยภาพให้เห็นบ่อยครั้งก่อนจะก้าวสู่ตำแหน่ง ผบ.ตร.บวกกับอายุราชการยาวถึง 5 ปี แต่สุดท้ายเป็นได้แค่ฝันที่มาพร้อมกับฝันร้ายตลอด 5 ปี ”

เมื่อเกษียณอายุ ดัน พล.ต.อ.สุวัฒน์  เพื่อนร่วมรุ่นมารับไม้ต่อนั่งยาวอีก 2 ปี สถานการณ์ต่างๆในองค์กรก็ได้กระเตื้องขึ้นมาบ้างที่เน้นเรื่องสืบสวนคดี สำคัญเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างกับผู้นำสำนักปทุมวันในอดีต เมื่อเจอมรสุมการเมืองเข้ามาก้าวก่ายหรือล้วงลูกจนเกินงามจะแสดงภาวะผู้นำไม่ทำตัวเป็นเจว็ด ยอมหักไม่ยอมงอให้กับฝ่ายการเมืองแม้จะถูกสั่งปลดหรือสั่งเด้งพร้อมที่จะสู้เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของเลือดสีกากี ส่งผลให้ฝ่ายการเมืองไม่กล้าเข้ามาล้วงลูกจนเกินงาม  ด้วยภาวะแห่งผู้นำของบรรดาอดีตเจ้าสำนักปทุมวัน เมื่อมรสุมการเมืองผ่านไปสายงานต่างๆไม่ว่าจะเป็นงานสืบสวน งานจราจรและงานสอบสวน ไม่ได้เจอกับวิกฤตเยี่ยงปัจจุบัน

           ผลพวงจากการไร้ซึ่งภาวะผู้นำส่งผลให้นายตำรวจเห็นแก่ได้บางคน เกาะผู้มีอำนาจหาประโยชน์และเป็นบันไดไต่เต้าเติบโตแบบบ่มแก๊ส ทำให้สำนักสีกากีเจอวิกฤตในทุกด้าน ประชาชนเอือมระอาไร้ที่พึ่ง ทำให้ก่อเกิดบรรดาอินฟลูเอนเซอร์ เป็นจำนวนมากมีทั้งพึ่งพาได้จริงแบบไร้ผลประโยชน์กับแบบพึ่งพามาพร้อมผลประโยชน์

      ดังนั้นที่ พล.ต.อ.เอก หวังจะกอบกู้วิกฤตงานสอบสวนให้กลับมาขลังเหมือนเดิมนั้น ภาวะผู้นำของ ผบ.ตร.น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่มองข้ามไม่ได้เด็ดขาด เพราะ 8 ปีที่ผ่านมาน่าจะหลักฐานยืนยันได้เป็นอย่างดี !!!