กมธ.มั่นคง เชิญแบงค์ ซักกรณียูเอ็นระบุ รบ.ทหารเมียนมา ใช้ธนาคารไทยทำธุรกรรมสงคราม

233

กมธ.ความมั่นคง เรียกตัวแทนธนาคารไทยชี้แจงกรณีรายงาน UN ปี 2023 ระบุรัฐบาลทหารเมียนมาใช้ 5 ธนาคารไทยทำธุรกรรมซื้ออาวุธทำสงครามกว่า 120 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้านตัวแทนธนาคารยืนยันไม่รู้ข้อมูลมาก่อน-เชื่อมีการใข้นอมินีหลบเลี่ยงการตรวจสอบ พร้อมร่วมมือ ธปท.-ปปง. ยกระดับมาตรการป้องกันต่อไปในอนาคต

วันที่ 11 กรกฎาคม 2567 ที่สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ (กมธ.มั่นคง) ได้เรียกตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สมาคมธนาคารไทย, ธนาคารไทย 5 ธนาคาร, กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมหารือและตอบข้อซักถาม ในกรณีเกี่ยวกับรายงานของผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ซึ่งระบุว่ามีการใช้ระบบธนาคารไทยในการทำธุรกรรมเกี่ยวกับการทำสงครามโดยรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งในปีล่าสุดมีมูลค่าการทำธุรกรรมสูงถึง 120 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ ทอม แอนดรูวส์ ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา UNHRC ได้เข้าร่วมชี้แจงและตอบข้อซักถามในที่ประชุมด้วยตนเอง โดยทอมระบุว่าสิ่งที่น่ากังวลคือยอดธุรกรรมโดยรัฐบาลทหารเมียนมาที่มีการทำผ่าน 5 สถาบันทางการเงินของไทยในปีล่าสุด เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า คือจาก 60 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2022 เป็น 120 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2023 โดยการทำธุรกรรมจำนวนมากถูกใช้ไปทั้งในการสนับสนุนการซื้อเฮลิคอปเตอร์จู่โจม เครื่องบินขับไล่ และเครื่องบินขนาดเล็ก ซึ่งอาวุธเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในการปฏิบัติการที่เป็นการโจมตีเป้าหมายซึ่งเป็นพลเรือน

อย่างไรก็ตามผู้รายงานพิเศษยังไม่พบหลักฐานที่สามารถชี้ชัดได้ว่ารัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนหรือมีส่วนร่วมในการทำธุรกรรมเหล่านี้โดยกองทัพเมียนมา และจากข้อมูลที่ได้รับจากธนาคารบางแห่ง กรณีดังกล่าวอาจเกิดมาจากการที่รัฐบาลทหารเมียนมาใช้มาตรการหลบเลี่ยงการตรววจสอบที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยตั้งบริษัทนายหน้าขึ้นมา ทำให้ธนาคารในประเทศไทยอาจไม่ได้ตระหนักว่าการทำธุรกรรมเหล่านั้นเกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้าง

ทอมกล่าวว่าประเด็นสำคัญคือปัจจุบันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะสามารถทำอะไรได้บ้าง และในอนาคตจะมีมาตรการป้องกันอะไรได้บ้าง ทั้งนี้เขาเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการและรัฐบาลไทยแถลงจุดยืนที่ชัดเจน คัดค้านการให้ความสนับสนุนทางธุรกรรมในการซื้อขายอาวุธ ดังที่สิงคโปร์ได้เคยแถลงจุดยืนเรื่องนี้อย่างเปิดเผยชัดเจนมาแล้ว ซึ่งจะเป็นการสะท้อนการปฏิบัติตามมติสมัชชาสหประชาชาติ ที่เรียกร้องให้สมาชิกทุกประเทศป้องกันการไหลเวียนของอาวุธทั้งหมดในเมียนมา และสอดคล้องกับฉันทามติ 5 ข้ออาเซียนในกรณีเมียนมา

นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลไทยทำการสืบสวนสอบสวนกรณีดังกล่าวอย่างละเอียด อาจเริ่มต้นด้วยการตรวจสอบรายชื่อบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยดังที่ปรากฏในรายงาน และขอให้คณะกรรมาธิการส่งสัญญาณถึงรัฐบาลไทยในการสืบสวนสอบสวนกรณีดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลไทยเรียกร้องไปยังธนาคารในประเทศไทย ให้ยุติการอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลทหารเมียนมาทั้งหมด โดยเฉพาะต่อธนาคารที่รัฐบาลทหารเมียนมาเป็นผู้ควบคุม เพื่อการยุติและป้องกันอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมา

จากนั้นเป็นการซักถามและให้ข้อเสนอแนะโดยผู้เข้าร่วม และการชี้แจงจากทั้งฝ่ายธนาคาร และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง โดย พรรณิการ์ วานิช ที่ปรึกษากมธ.มั่นคง กล่าวว่าการประชุมในวันนี้ไม่มีวัตถุประสงค์ในการจี้หาคนผิด และตนก็เชื่อตามที่รายงานระบุว่าธนาคารไทยไม่ได้รับรู้มาก่อนว่าการทำธุรกรรมนั้นเกี่ยวกับการทำสงคราม เพียงแต่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการทำสงครามในประเทศเพื่อนบ้านโดยไม่รู้ตัว แต่จากรายงานของผู้รายงานพิเศษต่อยูเอ็นเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ที่ระบุรายชื่อบริษัทที่สนับสนุนการจัดซื้ออาวุธให้รัฐบาลทหารเมียนมาถึง 254 บริษัท ซึ่งหลายบริษัทเป็นบริษัทในประเทศสิงคโปร์ ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์สั่งให้บริษัทเหล่านั้นทำการตรวจสอบลูกค้าของตัวเองอย่างละเอียดที่สุด จนสามารถลดธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องลงไปได้ถึง 90% จาก 110 ล้านเหลือ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

พรรณิการ์กล่าวว่า แต่ธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลทหารเมียนมาในประเทศไทยจากรายงานปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 60 ล้าน มาเป็น 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คำถามคือเป็นไปได้หรือไม่ว่ามีการเคลื่อนย้ายศูนย์กลางการทำธุรกรรมทางการเงินจากสิงคโปร์มาไทยแทน และ แบงค์ชาติ หรือสมาคมธนาคารไทยจะใช้รายชื่อ 254 บริษัทมาตรวจสอบ69ว่าบริษัทเหล่านั้นได้กลายมาเป็นลูกค้าของธนาคารไทยแทนหรือไม่

นอกจากนี้ ในรายงานปีนี้มีรายชื่อ 2 บริษัทที่เกี่ยวข้องในกรณีที่มีความสำคัญมาก คือการจัดซื้อน้ำมันสำหรับเครื่องบินขับไล่ของกองทัพเมียนมา คือ บริษัท CB Energy ที่ผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยและคนเมียนมาอย่างละคน กับบริษัท ตะวัน ออยล์ เทรดดิ้ง ซึ่งมีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยทั้ง 2 คน ทั้งสองบริษัทเป็นบริษัทสัญชาติไทยที่จดทะเบียนในไทยทั้งคู่ และมีข้อมูลที่ชัดเจนว่าทั้ง 2 บริษัทนี้ใช้บริการธนาคารกรุงไทย และธนาคารกสิกรไทยในการทำธุรกรรม คำถามคือทั้งสองธนาคารจะมีการดำเนินการต่อทั้ง6สองบริษัทนี้อย่างไร

น.ส.พรรณิการ์ วานิช

ที่ปรึกษา กมธ.กล่าวว่า ประเด็นต่อมา คือเรื่องของจรรยาบรรณธุรกิจ ซึ่งมีกรณีที่น่าสนใจคือการถอนการลงทุนทั้งหมดโดยบริษัท Total และ Chevron ออกจากเมียนมา โดยให้เหตุผลว่าบริษัทมีจรรยาบรรณทางธุรกิจที่ชัดเจนว่าไม่สามารถทำธุรกรรมกับผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงได้ คำถามคือทุกธนาคารในประเทศไทยมีจรรยาบรรณธุรกิจที่ชัดเจนในแบบเดียวกันหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นท่านย่อมมีพันธะผูกพันกับผู้ถือหุ้นทันที

พรรณิการ์กล่าวว่าแม้รายงานจะไม่มีผลผูกพันในทางพันธปฏิบัติกับประเทศไทย แต่มติสมัชชาสหประชาชาติที่ออกเมื่อเดือนมกราคม 2021 มีผลต่อชาติสมาชิกทุกประเทศ ให้ทุกประเทศสมาชิกต้องไม่ให้การสนับสนุนหรือช่วยเหลือให้เกิดการจัดซื้ออาวุธให้รัฐบาลทหารเมียนมา เช่นเดียวกับที่เราไม่อยากเห็นระบบธนาคารของเราถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนสงครามและการสังหารหมู่ในประเทศเพื่อนบ้าน เราก็ไม่อยากเห็นการทูตของเราสนับสนุนการสังหารหมู่ และรัฐบาลที่กระทำการสังหารหมู่และทำสงครามในประเทศเพื่อนบ้านเช่นเดียวกัน จุดยืนของพวกเราตรงกันหมด

“ในรายงานแม้จะระบุว่าธนาคารและรัฐบาลไทยไม่มีส่วนรู้เห็น แต่ปัญหาคือตอนนี้ท่านรู้แล้วว่ามีสิ่งนี้เกิดขึ้น ปัญหาที่เราต้องการคือเมื่อรู้แล้วท่านทำอย่างไร สามารถจัดการอย่างที่รัฐบาลสิงคโปร์ทำในช่วงปีที่ผ่านมา อันส่งผลอย่างมากต่อความพยายามในการสร้างสันติภาพและการสังหารหมู่ในเมียนมา เราพร้อมที่จะนำแบบนั้นหรือไม่ในฐานะชาติสมาชิกของสหประชาชาติ?” พรรณิการ์กล่าว

ตัวแทนจาก กต. กล่าวตอบว่า กระทรวง ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด รวมถึง ธปท. พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน และไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงกับประชาชนทุกรูปแบบ ขณะที่ตัวแทน ธปท. ระบุว่าที่ผ่านมา ได้กำชับให้ธนาคารดำเนินมาตรการคว่ำบาตร รวมถึงตรวจสอบข้อเท็จจริงการทำธุรกรรมเกี่ยวกับประเทศที่มีความเสี่ยงสูงมาโดยตลอด พร้อมกำชับให้ต้องมีการทบทวนข้อมูลลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงทุกปี ถ้ามีธุรกรรมต้องสงสัยก็จะต้องมีการรายงานต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)

ทั้งนี้ ธปท. พร้อมให้ความร่วมมือกับทุกฝ่าย เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นฐานการสนับสนุนการฟอกเงิน พร้อมจะให้มีการสอบทานกระบวนการเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์อย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม กระบวนการตรวจสอบของไทยกับสิงคโปร์มีความแตกต่างกัน ธปท. ต้องทำงานร่วมกันกับ ปปง. ในการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ซึ่งจากนี้ไป ธปท. จะได้มีการหารือกับ ปปง. เพื่อยกระดับมาตรการการตรวจสอบกำกับสถาบันทางการเงินและกระบวนการนโยบายต่อไป รวมถึงการสอบทานธุรกรรมตามรายงานว่ามีความเกี่ยวพันจริงหรือไม่ โดยผลการตรวจสอบน่าจะเห็นภายในไตรมาสที่ 3-4 ซึ่งถ้าเห็นแล้วก็น่าจะระบุได้ว่ามีกระบวนการตรงไหนที่มีช่องโหว่

ด้านตัวแทนสมาคมธนาคารไทย ระบุว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวค่อนข้างรุนแรง แต่ตนยืนยันได้ว่าสมาชิกสมาคมฯ ทำตามที่กต.และ ธปท. ขอความร่วมมือมาในการไม่สนับสนุนการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้ออาวุธหรือองค์กรทางการทหารเพื่อละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งให้ความสำคัญในการปฏิบัติอย่างมีความรับผิดชอบต่อลูกค้า ประชาชน และประชาคมโลกมาโดยตลอด โดยยึดและปฏิบัติตามกฎหมายขององค์กรกำกับดูแล คือ ธปท. และ ปปง. อย่างใกล้ชิด มีผู้เชี่ยวชาญดูแลการกำกับดูแล ส่วนรายชื่อบริษัท 254 นั้น สมาคมฯ เห็นว่าการตรวจสอบจะต้องยึดโยงกับกฎเกณฑ์หรือคำสั่งจากหน่วยงานที่กำกับดูแลก่อน เพราะทุกธนาคารต้องทำตามกฎเกณฑ์และระเบียบที่มีอยู่

ตัวแทนสมาคมธนาคารไทยกล่าวว่า ธนาคารเองไม่สามารถรับรู้ถึงรายการเหล่านั้นได้ หากรู้ว่าธุรกรรมเหล่านั้นจะนำไปสู่การซื้อขายอาวุธก็ย่อมจะไม่ยอมให้เกิดขึ้น แต่ธนาคารไม่มีฝ่ายสืบสวนเรื่องแบบนี้ ทว่าในอนาคตหากมีหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมาระบุว่ามีธุรกรรมลักษณะนี้ ทุกธนาคารก็พร้อมทำตามแน่นอน ส่วนการดำเนินการต่อไปต้องมีการพูดคุยกับธนาคารสมาชิกก่อน รวมทั้งการปรึกษากับ ธปท. และ ปปง. ต่อไป ขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าสมาคมฯ ต้องทำเท่าที่กฎหมายรองรับ

#Thaitabloid #ไทยแทบลอยด์ #กมธ.มั่นคง #ธนาคารแห่งประเทศไทย #สมาคมธนาคารไทย #ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา #UNHRC