หนึ่งในสุดยอดแห่งพระเกจิคณาจารย์สายนครปฐม ผู้มีตำนานก่อนการถือกำเนิดอันมหัศจรรย์ อ่านสนุกแบบมีทั้งศรัทธาและพาณิชย์ไปกับ คอลัมน์พระบ้าน by ต้นคนชอบพระ
มีเรื่องเล่ากล่าวขานถึงตำนานการกำเนิดของสุดยอดเกจิคณาจารย์ท่านนึงว่าคราที่ท่านจะถือกำเนิดเกิดมานั้น มีครอบครัวอยู่ครอบครัวนึงสามีชื่อนายพรม ภรรยาชื่อนางกรอง วันหนึ่งนางกรองผู้เป็นมารดาได้หลับฝันไปว่า ขณะที่นางกำลังนั่งพักผ่อนอยู่ในบ้าน หูของนางก็ได้ยินเสียงเหมือนมีพายุพัดมา นางจึงรีบออกไปดูท้องฟ้าที่นอกชาน แต่ก็หาได้เห็นเค้าลางแห่งพายุจากท้องฟ้าแต่อย่างใด แต่เสียงลมประดุจพายุลูกใหญ่พัดกระหน่ำมาจากทิศประจิมนั้น ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดแต่กลับดังใกล้เข้ามา ด้วยความแปลกใจนางกรองพยายามหันไปมองรอบ ๆ เพื่อจะหาเค้าลางแห่งพายุแต่ก็ไม่พบ
จนทันใดนั่นเอง นางกรองได้เหลือบไปเห็นสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่มีสีเหลืองอร่ามแวววาวเฉกเช่น ทองคำบริสุทธิ์ ลอยลิ่วลงมาจากท้องฟ้าและกำลังค่อยๆแลนดิ้งลงมาตรงนอกชาน จนเรือนไหวโยกไปทั้งหลัง
นางกรองผู้ประสบเหตุมหัศจรรย์ ก็พลันเกิดขนพองสยองเกล้า แต่หากทว่าไม่สามารถที่จะเปล่งเสียงร้องออกมาจากลำคอออกมา ได้แต่ยืนตกตะลึงตัวแข็งอยู่กับที่ สิ่งที่นางกรองเห็นอยู่ตรงหน้าก็คือพญานาคที่มีลำตัวเปล่งแสงเป็นสีทองหมอบอยู่เบื้องหน้า
จากนั้นพญานาคทองคำตัวนั้นได้กล่าวแก่นางด้วยภาษาของมนุษย์ว่า
“แม่จ๋า ขอแม่อย่าได้ตกใจไปเลย ฉันมาดี ไม่ได้มาร้าย แต่ฉันจะมาขออาศัยอยู่ด้วยกับแม่”
จากนั้นพญานาคสีทองก็เลื้อยปราดๆ เข้ามาหานางกรอง จากนั้นนางกรองก็สะดุ้งตื่น จากนั้นตอนเช้านางกรองจึงได้เล่าความฝันให้นายพรมฟังโดยละเอียด นายพรมสามีได้ฟังแล้วก็นิ่งไป แล้วจึงบอกว่า
“ชะรอยเราน่าจะได้ลูกอีกคนหนึ่งที่มีบุญมาก ต่อไปจะได้เป็นใหญ่เป็นโต หากเป็นชายได้บวชเรียนอย่างน้อยต้องได้เป็นเจ้าอาวาส”
แล้วนางกรองก็ได้ตั้งครรภ์ขึ้นมาจริงๆ และให้กำเนิดเป็นเด็กชายได้นามว่า เงิน ซึ่งต่อมาก็คือ หลวงพ่อเงิน ยอดเกจิคณาจารย์แห่งวัดดอนยายหอม จังหวัดนครปฐมนั่นเอง ประสูติกาลของหลวงพ่อเงินนั้นท่านเกิด เมื่อวันอังคารที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2433 ตรงกับวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 10 ปี ขาล ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นบุตรคนที่ 4 ของ นางกรอง นายพรม นามสกุล ด้วงพลู ครอบครัวของท่านถือได้ว่าเป็นผู้มีอันจะกินครอบครัวหนึ่งในตำบลดอนยายหอม ณ ขณะนั้น
( รูปหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม จ.นครปฐม )
หลวงพ่อเงินท่านเมื่ออายุ 20 ปีบริบูรณ์ ครบบวชแล้ว บิดามารดา จึงได้จัดการบวชให้ตามประเพณี เป็นการบวชอย่างเรียบง่าย ไม่จัดงานบวชแบบอลังการงานสร้างเหมือนอย่างชาวบ้านทั่วไป เพียงแต่บอกญาติมิตรคนที่เคารพนับถือกัน จัดเครื่องอัฐบริขาร แล้วก็พากันไปวัด เดินประทักษิณเวียนโบสถ์ 3 รอบ แล้วก็เข้าโบสถ์ ทำพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2453 เวลา 18.15 นาฬิกา พระอุปัชฌาย์ให้ฉายาว่า “จนฺทสุวณฺโณ”
หลังบวชมีวันหนึ่ง ท่านไปบิณฑบาตที่บ้าน โยมบิดาก็พูดว่า “คุณเงิน คุณอย่าจำวัดแต่หัวค่ำนัก เป็นพระไม่ได้ทำไร่ทำนาก็ควรจะฝึกหัด ให้อดทน” หลวงพ่อเงิน ทราบดีว่าที่โยมบิดาทราบเรื่องนี้ได้นั้น เพราะโยมพ่อสำเร็จการเข้าฌานเพ่งกสิณ ต่อมาในเวลาค่ำ โยมพ่อพรหม มักจะไปหา พระลูกชาย เพื่อถ่ายทอดวิชาเพ่งกสิณและเข้าฌานให้ และถ่ายทอดเคล็ดลับการเรียนวิชาไว้ว่า
“จะเรียนวิชานี้ให้สำเร็จต้องประกอบด้วย ศรัทธาคือความเชื่อมั่น วิริยะคือความเพียรพยายาม ขันติคือความอดทน และสัจจะความถือสัตย์อธิษฐานความตั้งใจแน่วแน่”
ซึ่งหลวงพ่อเงินท่านก็ตั้งใจฝึกหัด จนสำเร็จวิชาตามที่โยมบิดาสอนให้เป็นอย่างดี
( รูปเหรียญหน้าวัว ปี2513 หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม )
หลวงพ่อเงิน ท่านได้เข้าดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม เมื่อ ปี พ.ศ. 2466 เนื่องจากพระปลัดฮวย อดีตเจ้าอาวาส ได้ถึงแก่มรณภาพลง ประมาณเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2504 หลวงฟอเงินได้รับพระราชทานสมณศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในนาม “พระราชธรรมาภรณ์” หลวงพ่อเงินท่านได้สร้างคุณประโยชน์มากมายตั้งแต่ช่วยเหลือประชาชนและชาวบ้านละแวกใกล้ๆ วัดดอนยายหอม อีกทั้งวัตถุมงคลของท่าน ก็คอยคุ้มครองปกปักรักษาลูกศิษย์และผู้ที่ศรัทธาท่านทุกคน หลวงพ่อเงินท่านได้เริ่มอาพาธในปี พ.ศ. 2520 และได้ถึงแก่มรณภาพ ลงในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2520 ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี สิริอายุ 86 ปี 66 พรรษา
วัตถุมงคลของหลวงพ่อเงินนั้นถือเป็นวัตถุมงคลที่อยู่ในกระแสของผู้นิยมสะสมพระเครื่องเป็นอย่างมากยิ่งเหรียญรุ่นแรกของท่านนั้นค่านิยมเคยแตะเลขหกหลักมาแล้วส่วนรุ่นอื่นๆก็มีราคาเช่าหาที่ไม่ยิ่งหย่อนกันแต่สำหรับชาวเราที่นิยมสะสมแต่จำกัดด้วยงบประมาณก็อย่าเพิ่งท้อใจยังมีวัตถุมงคลของหลวงพ่อท่านที่แท้และทันสมัยที่ท่านยังดำรงขันธ์อยู่ ที่ราคาไม่แพงแต่แรงด้วยพุทธคุณอย่างเช่น ชุดเหรียญหน้าวัว ปี พ.ศ. 2503 ถึง 2516 เหรียญหน้าวัว หลวงพ่อเงิน มีการจัดสร้างทั้งหมด 4 รุ่น รุ่นแรก ปี 2503 เป็นรุ่นที่เรียกว่า รุ่นหนังสือจีน รุ่น ถัดมาที่จัดเป็นรุ่นที่ 2 สร้างในปี 2513 เรียกว่า รุ่นวัดมฤคทายวัน รุ่นที่ 3 สร้างในปี 2513 เช่นเดียวกันแต่คนละวาระ เรียกว่ารุ่นชนมายุ 81 ปี และรุ่น 4 ที่ถือเป็นรุ่นสุดท้ายที่ทันหลวงพ่อท่าน จัดสร้างในปี 2516 เรียกว่า รุ่นมูลนิธิ หรือเหรียญหน้าวัวเล็ก ซึ่งรุ่นนี้ค่อนข้างมีปัญหาในการเช่าหาพอสมควรเพราะนอกจากจะมีเหรียญเสริมที่หลวงพ่ออวยพรสร้างไว้ให้เอาไปแจกตามงานต่างๆ รุ่นนี้เหรียญเก๊ทำออกมาค่อนข้างดีเลยใกล้เคียงของแท้มากหากประสงค์จะเช่าหาแนะนำว่าเช่ากับคนที่ไว้ใจได้ดีกว่าครับ
( รูปเหรียญหน้าวัว ปี2513 หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม )
แต่สำหรับในคอลัมน์วันนี้ที่จะมาแนะนำคือ เหรียญหน้าวัว รุ่นที่2 จัดสร้างในปี 2513 ครับ ในวงการนักนิยมสะสมวัตถุมงคลเรียกว่า รุ่นวัดมฤคทายวันฯ เป็นรุ่นที่คนส่วนใหญ่คิดว่าเหรียญออกวัดมฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี ทั้งที่จริงๆแล้วรุ่นนี้ออกที่วัดดอนยายหอม แต่ที่เขียนว่าวัดมฤคทายวันฯ เพราะเป็นเหรียญที่ออกมาเพื่อนำเงินเอาไปสร้างวัดไทยที่ชื่อ วัดมฤคทายวัน ที่แคว้นพาราณาสี ประเทศอินเดีย โดยเหรียญรุ่นนี้ ด้านหน้าจะไม่คล้ายกับรุ่นแรกนัก ส่วนด้านหลังจะมีคำว่า มฤคทายวันฯ พาราณาสี เป็นการระบุถึงเหตุที่สร้างชัดเจน เหรียญรุ่นนี้จัดสร้างและพุทธาภิเษกที่วัดดอนยายหอม เหรียญรุ่นนี้ มี 3 เนื้อคือ เนื้อทองคำ เนื้อเงิน และเนื้อทองแดง แต่หากแฟนคอลัมน์ท่านใดแต่ไม่อยากยุ่งยากตามหาเหรียญ ทางผู้เขียนก็ขอแนะนำ ตามหาและติดต่อเพจ อ้อ ลูกสะท้อน เซียนรุ่นใหม่นิสัยดี มีความรับผิดชอบที่ผมขอยืมรูปเหรียญหน้าวัว รุ่น 2 อย่างสวยของน้องเค้าเอามาให้ชมครับ
คราวหน้ามาลุ้นกัน ว่าจะนำเสนอองค์ไหนหรือตำนานอะไรครับ
เขียนโดย ต้น คนชอบพระ
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก สื่อโซเซี่ยล ครับ
ปล. หากมีวัด ศาสนถาน โรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯใดที่ต้องการประชาสัมพันธ์การขายวัตถุมงคลหรือบริจาคเพื่อการกุศลอย่างแท้จริง ทางคอลัม์พระบ้าน ยินดีประชาสัมพันธ์ให้ฟรีครับ
สนใจลงโฆษณาประชาสัมพันธ์ ติดต่อ 0818214442 ต้น