กรมวิชาการเกษตรถ่ายทอดเทคโนโลยียกระดับการผลิตถั่วลิสงฤดูฝน
น.ส.ญาณิน สุปะมา ผอ.กลุ่มวิชาการ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จ.ขอนแก่น กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กลุ่มถั่วลิสง บ้านหนองทุ่งมน บ้านทุ่มพัฒนา หมู่ 3 และ หมู่ 11 ต.เมืองใหม่ อ.ศรีบุญเรือง ในจ.หนองบัวลำภู เป็นกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตถั่วลิสงสภาพหลังนาฤดูแล้ง และสภาพไร่ฤดูฝนมาเกือบ 20 ปี แต่ปัญหาของการปลูกในสภาพไร่ฤดูฝน คือ ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงที่มีคุณภาพดีตรงตามสายพันธุ์ รวมทั้งเกษตรกรยังขาดความรู้ในการใส่ปุ๋ยได้ไม่ตรงกับความต้องการใช้ของถั่วลิสง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่พบในการผลิตถั่วลิสงสภาพไร่ฤดูฝน ส่งผลกระทบทำให้ผลผลิตต่ำและไม่ได้คุณภาพ ทำให้ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ที่จะนำไปปลูกในฤดูต่อไป
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จึงได้นำเทคโนโลยีเพื่อยกระดับการผลิตถั่วลิสงฤดูฝน เข้ามาถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยี เพื่อสร้างความมั่นคงของระบบการผลิตพืช ในพื้นที่กลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วชุมชน ต.เมืองใหม่ อ.ศรีบุญเรือง เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจและนำไปปฏิบัติจนเกิดทักษะและความเชี่ยวชาญ สามารถพัฒนาการผลิตถั่วลิสงของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้คำแนะนำการเลือกพันธุ์ให้เหมาะสม เช่น ไทนาน 9 ขอนแก่น 5 ขอนแก่น 6 และขอนแก่น 9 และให้คลุกเมล็ดป้องกันโรคที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์ ด้วยสารเคมีแมนโคแซป+เมทาแล็กซิล-เอ็ม 4 % อัตรา 5 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม และคลุกเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงด้วยปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมอัตรา 200 กรัมต่อเมล็ดถั่วลิสง 12-15 กิโลกรัม แล้วปลูกทันที
น.ส.ญาณิน กล่าวว่า เกษตรกรต้องเตรียมดินให้ละเอียด ทำร่องระบายน้ำ เพื่อป้องกันน้ำขังในแปลงปลูก จัดการสมดุลธาตุอาหาร ด้วยการหว่านปูนขาวในช่วงเตรียมดินก่อนปลูก 7 วัน หรือ โดโลไมท์ ก่อนปลูก 14 วัน อัตรา 50-100 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อถั่วลิสงงอกอายุ 7-14 วัน พ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ 1-2 ครั้ง เป็นการป้องกันไวรัสยอดไหม้ พร้อมกับใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ หากในพื้นที่หาปุ๋ยเคมีสูตรแนะนำยาก ให้ใช้แม่ปุ๋ยผสมเพื่อให้ได้สูตรแนะนำ หรือใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 35 กิโลกรัมต่อไร่ การแก้ไขปัญหาเมล็ดลีบในการปลูกในสภาพไร่ดินทราย ให้โรยยิปซัมเมื่อถั่วลิสงอายุ 35-40 วัน ช่วงออกดอกลงเข็ม เก็บผลผลิตเมื่ออายุ 95-120 วัน ขึ้นอยู่กับอายุเก็บที่เหมาะสมของแต่ละพันธุ์ และหากเกษตรกรประสงค์เก็บเป็นเมล็ดพันธุ์ควรเก็บในช่วงที่แก่จัด โดยให้สังเกตจากเปลือกด้านในเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล หากเกษตรกรมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น โทรศัพท์ 043 203 504.
#Thaitabloid#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์#ข่าวการเกษตรวันนี้#กรมวิชาการเกษตร