‘ดีอี’ จับมือพันธมิตร ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า ผ่าน DE Platfrom พัฒนาทักษะแรงงานขั้นสูงอย่างยั่งยืน เตรียมใช้ มทร.อีสานเป็นฐานตั้งศูนย์ฝึกอบรม ปั้นบุคลากรคุณภาพป้อนตลาด
วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้ร่วมพิธีเปิดกิจกรรมอบรมสัมมนา หัวข้อ “Digital Korat: The Future Starts Now – โคราช มหานครดิจิทัลแห่งอนาคต” ซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวงดีอี ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) ซึ่งมีการนำเสนอผลงานการขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของรัฐบาลผ่าน DE Platform
นายประเสริฐ กล่าวว่า กิจกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นจังหวัดต้นแบบของการพัฒนาดิจิทัลในระดับภูมิภาค เมื่อวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา กระทรวง ดีอี ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจด้านการพัฒนากำลังคนดิจิทัล ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กับ 3 มหาวิทยาลัยในจังหวัดนครราชสีมา คือ (มทร.อีสาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มรม.).
นอกจากนี้ยังสร้างการพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในจังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ศูนย์กลางโลจิสติกส์ และส่งเสริมซอฟท์พาวเวอร์ของจังหวัดนครราชสีมา เพื่อการเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่น ศิลปะ และการสร้างสรรค์ผลงานผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยผ่านเอ็มโอยู ระหว่างกระทรวง ดีอี และภาคส่วนต่าง ๆ ในจังหวัด จำนวน 3 ฉบับ
ดีอี, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มทร.อีสาน และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันนำเสนอศักยภาพดิจิทัลขั้นสูงของประเทศ เพื่อรองรับการพัฒนาแรงงานสมรรถนะสูง ตอบสนองอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ สร้างเสริมทักษะทุกมิติด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก VR Training บนโครงข่าย DE Platform เชื่อมโยงการถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยี และนวัตกรรมระหว่างประเทศอย่างไร้พรมแดน โดยมีแนวคิดการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมระดับชาติ เพื่อขยายสู่ภูมิภาคและสากล โดยอาศัยความพร้อมของ มทร.อีสาน เป็นฐานการผลิตกำลังแรงงาน ร่วมกับภาคีเครือข่าย
พร้อมทั้งมอบเครื่องมือและอุปกรณ์เทคโนโลยี EV Training ด้าน DE Platform รองรับการพัฒนาทักษะด้วยเทคโนโลยีด้าน EV ขั้นสูง ซึ่งได้รับการสนับสนุน จากบริษัท จีไอ นิว เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ให้แก่ มทร.อีสาน ติดตั้งภายในสถาบัน เพื่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านยานยนต์ไฟฟ้าของ มทร.อีสาน โดยมีเป้าหมายมุ่งเน้นการพัฒนากำลังคนสมรรถนสูงด้าน EV สู่ความเป็นเลิศอย่างยั่งยืน
“กระทรวงดีอี และหน่วยงานพันธมิตร พร้อมร่วมบูรณาการทำงานเพื่อตอบสนองวิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND : จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง” ของรัฐบาล ให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต โดยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนที่สำคัญที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผลักดันให้ประเทศไทยเป็น EV Hub และ 10 อันดับแรกของโลกในการผลิตยานยนต์ที่ไม่ปล่อยมลพิษ (ZEV) ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดของประเทศไทย ในปี 2030 หรือ พ.ศ. 2573 หรือคิดเป็นกำลังการผลิตรถยนต์ประมาณ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ประมาณ 675,000 คัน โดย มทร.อีสาน จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตามภารกิจ ของกระทรวง อว. For EV ดำเนินการใน 3 แผนงาน “พัฒนากำลังคน เพิ่มสัดส่วนการใช้รถ EV และหนุนงบวิจัย EV ทั้งระบบ” เพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้กับประเทศ และสร้างอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” นายประเสริฐ กล่าว