หน้าแรกการเมืองเอาจริง! 'รสนา' ฮึ่ม 'อธิบดีศุลกากร' จ่อเอาผิดม.154-157 ปมเชฟรอนเลี่ยงภาษี

เอาจริง! ‘รสนา’ ฮึ่ม ‘อธิบดีศุลกากร’ จ่อเอาผิดม.154-157 ปมเชฟรอนเลี่ยงภาษี

น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภาและอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค ภายใต้ชื่อเรื่องว่า “ตอบข้อชี้แจงอธิบดีกรมศุลกากรกรณีเชฟรอนเลี่ยงภาษี” โดยระบุว่า “ตามที่อธิบดีกรมศุลการได้ชี้แจงการตั้งคำถามในบทความของดิฉันเรื่องการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเชฟรอนหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีตอนหนึ่งว่า

“การส่งน้ำมันไปใช้ที่แท่นขุดเจาะที่ไหล่ทวีป ในคราวแรกบริษัท ปฏิบัติพิธีการศุลกากรส่งออกสินค้า แต่ต่อมา เมื่อมีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 1886/2559 ว่า การส่งน้ำมันไปยังแท่นขุดเจาะเป็นการใช้ภายในประเทศ จึงต้องมีการยกเลิกใบขนสินค้า (ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามข้อสังเกตของ สตง. ที่ให้ยกเลิกใบขนสินค้า) และเมื่อไม่ใช่การส่งออก จึงต้องชำระภาษีสรรพสามิต ดังนั้น เมื่อไม่ใช่การส่งออก เป็นการใช้ภายในประเทศ จึงไม่มีอากรศุลกากร และไม่มีความผิดฐานหลีกเลี่ยงอากร ไม่มีค่าปรับตามกฎหมายศุลกากร”นั้น

ดิฉันขอเสนอให้ท่านอธิบดีกลับไปอ่านกฏหมายศุลกากรให้ละเอียดรอบคอบอีกครั้ง ในมาตรา 27ใช้คำว่า “ค่าภาษี ” ไม่ใช่อากร ซึ่งค่าภาษีหมายถึงภาษีทั้งหมดได้แก่ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม

ท่านอธิบดีควรไปดูใบขนสินค้าขาออกด้วยว่าบริษัทเชฟรอนสำแดงไว้อย่างไรตั้งแต่ปี 2554-2557 และ 2558-2559 ส่วนคณะกฤษฏีกามาวินิจฉัยปลายปี 2559 เป็นการตัดสินชี้ขาดว่าที่ทำมาแล้ว “ผิด”

คณะกรรมการกฤษฎีกาตัดสินคดีว่าการส่งน้ำมันไปใช้ที่แท่นขุดเจาะเป็นการใช้ในประเทศที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่
บริษัทเชฟรอนได้สำแดงเอกสารใบส่งออกเป็นเท็จเพื่อยกเว้นภาษีมาตั้งแต่ปี 2554-2557 และ 2558-2559

ในปี2554-2557 บริษัทเชฟรอนใช้รหัส ZZ อันเป็นรหัสว่าส่งน้ำมันออกไปยังเขตต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเขตที่รัฐบาลอนุญาตให้นำน้ำมันปลอดภาษีไปขายให้เรือประมงที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง เพื่อนำไปใช้จับปลานอกน่านน้ำไทย แต่บริษัทเชฟรอนไม่ได้ส่งน้ำมันไปขายยังเขตต่อเนื่องจริง จึงน่าจะเป็นการสำแดงใบขนเท็จเพื่อหลอกเจ้าหน้าที่ว่าส่งออกไปเขตต่อเนื่อง แต่ความจริงแล้วเอาน้ำมันไปขนลงจากเรือที่แท่นขุดเจาะเอราวัณกลางทะเล ใช่หรือไม่

ต่อมาบริษัทเชฟรอนถูกจับน้ำมันเถื่อน1.6 ล้านลิตรได้ที่ด่านสงขลา เพราะเอาน้ำมันปลอดภาษีที่อ้างว่าส่งไปเขตต่อเนื่องมาใช้ในเรือขนส่งอุปกรณ์ระหว่างแท่นขุดเจาะกับแผ่นดินใหญ่ ซึ่งท่านอธิบดี ยอมรับว่าบริษัทเชฟรอนมีการกระทำผิดฐานพยายามนำของที่ยังไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักร และยินยอมยกของกลางคือน้ำมันไฮสปีดดีเซลให้เป็นของแผ่นดิน ตามเกณฑ์ระงับคดีของกรมศุลกากร ซึ่งต่อมาได้นำของกลางจำหน่ายเป็นรายได้ของรัฐ และนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินแล้ว

หลังจากถูกจับน้ำมันเถื่อน บริษัทเชฟรอนจึงยอมซื้อน้ำมันแบบการค้าชายฝั่งที่ต้องเสียภาษี ในช่วงปี2557 -2558

ต่อมาในปี 2558 บริษัทเชฟรอนก็กลับมาหารือผู้บริหารในกรมศุลกากรอีก และผ.อ สำนักกฎหมายก็ตอบข้อหารือว่าการส่งน้ำมันไปแท่นขุดเจาะไม่ใช่การค้าชายฝั่ง แต่เป็นการส่งออกจึงไม่ต้องเสียภาษี

ดังนั้นระหว่างปี 2558-2559 บริษัทเชฟรอนจึงกลับไปซื้อน้ำมันไม่เสียภาษีอีก แต่คราวนี้เปลี่ยนมาสำแดงการส่งออกด้วยรหัส YY หมายถึงการส่งออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ระบุจุดหมายปลายทาง ซึ่งก็เป็นการสำแดงเท็จอีกเพื่อไม่ต้องเสียภาษี ใช่หรือไม่

บริษัทเชฟรอนมีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงตัวบทกฏหมายและข้อจำกัดใดๆอันเกี่ยวแก่การนำเข้า ส่งออกของที่ต้องเสียภาษี และทั้งๆที่ไม่ได้ส่งออกน้ำมันจริงตามที่สำแดงในใบขน แต่ก็สำแดงเท็จเพื่อได้ยกเว้นภาษี บริษัทเชฟรอนได้สัมปทานขุดเจาะเป็นเจ้าแรกๆในไทย และตั้งแต่ปี2514-2554 ก็ซื้อน้ำมันไปใช้ที่แท่นขุดเจาะแบบการค้าชายฝั่งเพราะบริษัทเชฟรอนย่อมรู้ดีว่าในพรบ.ปิโตรเลียม2514 มาตรา70 ไม่ได้ยกเว้นภาษีให้กับน้ำมันที่นำไปใช้ที่แท่นขุดเจาะ การใช้ช่องทางศุลกากรเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีโดยสำแดงเท็จว่าส่งออก ทั้งที่เป็นน้ำมันเพื่อใช้ที่แท่นขุดเจาะในประเทศ จึงเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงตัวบทกฏหมายโดยเจตนาฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใช่หรือไม่

คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษชี้ขาดในปี2559 ว่าแท่นขุดเจาะอยู่ในราชอาณาจักร น้ำมันที่ส่งไปใช้ที่แท่นขุดเจาะจึงเป็นการใช้ในประเทศที่ต้องเสียภาษี คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาเปรียบเหมือนการตัดสินคดีของศาล ซึ่งกรมศุลกากรต้องเอาใบขนที่กระทำผิดเพราะเป็นการสำแดงเท็จว่าส่งออกไปเขตต่อเนื่อง และส่งออกไปนอกราชอาณาจักรมาพิจารณาลงโทษตามมาตรา 27,99 ของพรบ.ศุลกากร 2469 จึงจะถูกต้อง

การไปยกเลิกใบขนสินค้าผิดกฏหมายที่กระทำสำเร็จแล้ว ย่อมกระทำไม่ได้ ถ้าไปยกเลิกเท่ากับไปช่วยเหลือไม่ให้บริษัทเชฟรอนถูกลงโทษ ใช่หรือไม่

ผู้มีอำนาจหน้าที่ผู้ใดกระทำการช่วยเหลือให้มีการหลบเลี่ยงภาษีย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 154 และมาตรา 157

ส่วนข้ออ้างว่าทำตามคำแนะนำของสตง.นั้น ย่อมฟังไม่ขึ้น เพราะ
สตง.ไม่มีอำนาจตามกฏหมายใดๆมาสั่งหรือแนะนำให้ยกเลิกใบขนสินค้าที่ผิดกฎหมาย

ดิฉันจึงขอเรียนอีกครั้งว่าหากท่านอธิบดีไม่ดำเนินการให้ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ดิฉันก็จะจำเป็นที่จะต้องดำเนินการกล่าวหาท่านตามมาตรา154 และ157 ต่อไป”


 

RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img