‘พระพุทธชินราช’ จักรพรรดิ์มหาพุทธาภิเษก

565

หนึ่งในวัตถุมงคลที่ถูกสร้างและเสกในสุดยอดแห่งพิธีปลุกเสกวัตถุมงคลที่สืบทอดมาแต่โบราณกาล พิธีมหาพุทธาภิเษกจักรพรรดิ์ อ่านสนุกแบบมีทั้งศรัทธาและพาณิชย์ไปกับ คอลัมน์พระบ้าน by ต้นคนชอบพระ

( รูปใบปลิวพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลพิธีจักรพรรดิ์ปี15 )


คำว่า “พุทธาภิเษก ” ตามความหมายของพระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙) ราชบัณฑิต และเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม หมายถึง คำเรียกพิธีปลุกเสกวัตถุมงคล โดยใช้ พุทธคุณซึ่งอยู่ในบทพุทธปริตร หรือ พุทธมนต์ หรือ โดยการใช้ สมาธิจิตที่แน่วแน่ที่เกิดจากการปฏิบัติกรรมฐานมาเป็นองค์ประกอบ เรียกพิธีเช่นนี้ว่า พิธีพุทธาภิเษก

วัตถุใดๆที่ผ่านพิธีพุทธาภิเษกแล้วย่อมกลายเป็นวัตถุมงคลพระปริตที่ศักดิ์สิทธิ์ เปรียบได้กับการสาธยายพุทธมนต์บทต่างๆ ในการเจริญพระพุทธมนต์เพื่อใช้ทำน้ำมนต์ น้ำที่ผ่านกระบวนการเช่นนี้แล้วถือว่าเป็นน้ำมนต์พระปริตที่มีความบริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์ พิธีพุทธาภิเษกนั้นมีหลายระดับแล้วแต่กำลังและความตั้งใจ เช่นเกจิอาจารย์ท่านสร้างและเสกตะกรุดเอาไว้ใช้แจกลูกศิษย์ใกล้ชิดได้ใช้กันไปจนถึงการสร้างและเสกวัตถุมงคลใช้ในการเปิดเช่าบูชาเพื่อหารายได้บำรุงถาวรวัตถุของทางวัดซึ่งขนาดของพิธี ขั้นตอนการดำเนินการและงบประมาณในพิธีพุทธาภิเษกย่อมมีความแตกต่างกันหนึ่งในพิธีพุทธาภิเษกที่ยอมรับกันว่ามีความยิ่งใหญ่เข้มขลังแต่จัดพิธีได้ยากมากพิธีหนึ่งคือ

พิธีมหาพุทธาภิเษกระดับจักรพรรดิ์

พิธีมหาพุทธาภิเษกระดับจักรพรรดิ์นี้ เมื่อจะประกอบพิธีจะต้องอาราธนาพระสงฆ์อริยะเถระคณาจารย์มาร่วมประกอบพิธีเป็นจำนวน108รูปขึ้นไป เพราะเป็นพิธีที่ถือกันว่าจะสำเร็จขึ้นได้จากอิทธิฤทธิ์และบุญญฤทธิ์ของพระมหาบุรุษที่ทรงอานุภาพบรรลุถึงสมบัติบรมจักรพรรดิ์ที่แท้จริง ก็คือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระมหาสาวกเท่านั้น เพราะท่านสมบูรณ์พร้อมด้วยอริยทรัพย์และโลกียะทรัพย์ อันมาจากคติความเชื่อในการแปลงเป็นพระจักรพรรดิราชเพื่อสยบทิฐิของท้าวมหาชมพูจากพุทธประวัติช่วงหนึ่ง พระอริยะเถระคณาจารย์ 108 รูป จะถูกสมมติให้เป็นพระวิปัสสิสัมมาสัมพุทธเจ้า 28 องค์ พระอสีติมหาสาวก 80 องค์ รวม 108 องค์

ในอดีตพิธีมหาพุทธาภิเษกระดับจักรพรรดินั้นถูกจัดขึ้นเพื่อสร้างและเสกตะกรุดมหาจักรพรรดิ์ตราธิราช เท่าที่มีบันทึกสืบค้นได้ก็เริ่มในสมัยอยุธยาเป็นต้นมา มีการจัดสร้างวัตถุมงคล ตะกรุดมหาจักรพรรดิ์ตราธิราช ที่ถูกต้องตามตำราของวัดประดู่ทรงธรรม โดยผู้ทรงวิทยาคมหรือพระอริยะเถระคณาจารย์ ที่มีการบันทึกไว้นั้นมีไม่กี่ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว เพื่อถวายแด่องค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช อยู่ในช่วงราวๆปี พ.ศ. 2133 ถึง พ.ศ. 2140 ซึ่งอยู่ในช่วงปีที่เกิดสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชา มังสามเกียด ในปี พ.ศ. 2135

ครั้งที่ 2 สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยพระพรหมมุนี วัดปากน้ำประสพ ได้สร้างถวายแด่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช อยู่ในช่วง ราวๆปี พ.ศ. 2199 ถึง พ.ศ. 2225

ครั้งที่ 3 สมัยรัตนโกสินทร์ โดยได้ดำเนินพิธีที่วัดประดู่โรงธรรม เพื่อถวายแด่องค์สมเด็จพระปิยะมหาราชรัชกาลที่ 5 อยู่ ในช่วงราวๆปี พ.ศ. 2411 ถึง พ.ศ. 2453 ซึ่งถือเป็นการจัดพิธีใหญ่แบบครบสมบูรณ์ครั้งแรกในยุคนี้

ครั้งที่ 4 สมัยรัตนโกสินทร์ มีการสร้างตะกรุดมหาจักรพรรดิ์ตราธิราชโดย อาจารย์เฮง ไพรวัลย์ ฆราวาสจอมขมังเวทย์ ราวปี 2484 โดยท่านได้สร้างถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ตามตำราโบราณทุกประการ

ครั้งที่ 5 สมัยรัตนโกสินทร์ ทางวัดปรินายก กรุงเทพ ได้จัดพิธีมหาจักรพรรดิตราธิราช เพื่อสร้างตะกรุดมหาจักรพรรดิตราราช เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2500

ครั้งที่ 6 สมัยรัตนโกสินทร์ ที่พุทธอุทธยานธรรมโกศล โดยหลวงพ่อสาลีโข หรือหลวงพ่อสมภพ เตชปุญโญ เมื่อ พ.ศ.2525 ซึ่งหลวงพ่อสมภพก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่ได้จัดสร้างถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ตามตำราทุกประการ

ครั้งที่ 7 สมัยรัตนโกสินทร์ ปี พ.ศ.2515 มีการจัดพิธีจักรพรรดิ์มหาพุทธาภิเษกขึ้น ที่ถือเป็นครั้งที่ 2 ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะเป็นพิธีใหญ่ครบสมบูรณ์ ส่วนพิธีอื่นๆก่อนหน้าในยุครัตนโกสินทร์จัดเป็นพิธีเล็ก เมื่อวันที่ 19-20 มกราคม พ.ศ.2515 ณ พระวิหารพระพุทธชินราช เมืองพิษณุโลก นำโดย อาจารย์ เทพย์ สาริกบุตร และ พระครูญาณวิจักษณ์ หรือ พระปรมาจารย์ผ่อง วัดจักรวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม) เป็นเจ้าพิธี ดำเนินพิธีตามหลักโบราณจารย์ พระสวดคาถาจักรพรรดิตราธิราช 108 รูป พระเกจิอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณ มีชื่อเสียงเกียรติคุณแห่งยุค นั่งปรก จำนวน ๑๐๙ รูป พิธีครั้งนี้จัดเป็นพิธีครั้งประวัติศาสตร์ที่เป็นที่นิยมในวงการพระเครื่องของสยามประเทศมาจนทุกวันนี้

ครั้งที่ 8 สมัยรัตนโกสินทร์ ได้มีการจัดพิธีจารตะกรุดจักรพรรดิตราธิราช เพื่อทูลกล้าฯถวายพระสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 ที่พระวิหาร หลวงพ่อพระพุทธชินราช จ.พิษณุโลก ถือเป็นพิธีจักรพรรดิมหาพุทธาภิเษก พิธีใหญ่ ครั้งที่ 3 ของกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 2-3 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 ซึ่งทางผู้เป็นเจ้าพิธีสร้างได้ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ตามตำราโบราณทุกประการเช่นกัน

(ขอขอบคุณข้อมูลจากบทความจาก อาจารย์โจ้ พิษณุโลก)

( รูปพระพุทธชินราชกลีบบัว หลังพุทธสมาคม ปี15 )

ในพิธีทั้งหมด8ครั้งนั้น วัตถุมงคลที่เป็นที่นิยมในหมู่นักสะสมนิยมพระเครื่องคือครั้งที่7 ในพิธีจักรพรรดิ์ปีพ.ศ. 2515 ที่มีวัตถุมงคลหลากชนิดหลายรูปแบบให้เลือกเช่าบูชาแต่ที่มาเป็นอันดับต้นๆคงไม่พ้นเหรียญพระพุทธชินราช ปี15 ที่ราคาเช่าหา ณ เพลานี้มีหลักหมื่น แต่ยังมีวัตถุมงคลรูปแบบอื่นพิธีเดียวกันที่ราคาเช่าบูชาน่ารักน่าคบอย่าง พระพุทธชินราชกลีบบัว หลังพุทธสมาคม เนื้อดิน รูปแบบสวยงามเข้มขลังมีเฉดสีทั้งแดง ดำ แดงอมน้ำตาล และอีกหลายเฉด สนนราคาเช่าหาก็อยู่ในหลักร้อยถึงหลักพันกลางๆแล้วแต่ความสวยและความหายาก แฟนคอลัมน์นักนิยมพระเครื่องตามหาเช่าเก็บเอาไว้รับรองใช้ติดตัวก็ดีแถมมีอนาคตแน่นอน

คราวหน้ามาลุ้นกัน ว่าจะนำเสนอองค์ไหนหรือตำนานอะไรครับ

เขียนโดย ต้น คนชอบพระ

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก สื่อโซเซี่ยล ครับ

ปล. หากมีวัด ศาสนถาน โรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯใดที่ต้องการประชาสัมพันธ์การขายวัตถุมงคลหรือบริจาคเพื่อการกุศลอย่างแท้จริง ทางคอลัม์พระบ้าน ยินดีประชาสัมพันธ์ให้ฟรีครับ
สนใจลงโฆษณาประชาสัมพันธ์ ติดต่อ 0818214442 ต้น