สุดทึ่ง!! ครั้งแรกในไทยแค่ชั่วโมงครึ่ง ระบบการแพทย์ฉุกเฉินประสานช่วยชีวิตผู้ป่วยได้รับสารพิษคาร์บอนมอนน็อกไซด์นอก รพ.

194

วันนี้ (13 มิ.ย. 67) เฟซบุ๊คเพจ Ramathibodi Emergency Medical Operation Unit หรือหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยถึงความสำเร็จในการช่วยชีวิตผู้ป่วยได้รับสารพิษคาร์บอนมอนน็อกไซด์นอกโรงพยาบาล ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว จะต้องได้รับรักษาที่จำเพาะเจาะจงเพื่อช่วยชีวิต โดยทางทีมหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์หรือทีมกู้ชีพ สามารถทำการช่วยเหลือ และส่งต่อเพื่อรักษาได้ในเวลาเพียงแค่ 1 ชั่วโมง 30 นาที ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่สามารถทำได้เร็วขนาดนี้

โดยข้อความในเนื้อหาเปิดเผยว่า หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รับสั่งการจากศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร ออกปฏิบัติการรับ ผู้ป่วยสงสัยภาวะคาร์บอนมอนออกไซด์สูงจนทำให้เกิดพิษ จึงได้จัดทีมปฏิบัติการแพทย์ระดับเฉพาะทาง สาขาฉุกเฉินการแพทย์ (CLS) อันประกอบไปด้วย แพทย์ประจำบ้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน 1 ท่าน อาจารย์นักฉุกเฉินการแพทย์ 3 ท่าน ออกปฏิบัติการ และหน่วยปฏิบัติการอำนวยการ ซึ่งทำหน้าที่ควบคุม สื่อสารสั่งการ การปฏิบัติการแพทย์ โดยมี อาจารย์แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ปฏิบัติหน้าที่เป็นแพทย์อำนวยการ (พอป.) อาจารย์นักฉุกเฉินการแพทย์ 2 ท่าน ปฏิบัติหน้าที่เป็น SEMD, EMD ตามลำดับ

เมื่อทีมปฏิบัติการฯถึงที่เกิดเหตุ พบผู้ป่วยหมดสติ 1 ราย จากการตรวจวัดค่าออกซิเจนในเลือด และวิเคราะห์ค่าก๊าซในหลอดเลือดแดง ณ จุดเกิดเหตุ พบว่าผู้ป่วยมี “ภาวะคาร์บอนมอนออกไซด์สูงจนทำให้เกิดพิษ” (CO poisoning) จึงรายงานกลับมาให้ทีมอำนวยการทราบ แพทย์อำนวยการ และ paramedic (SEMD, EMD) จึงได้ทำการ Activate flow Prehospital toxico โดยมีกระบวนการ สรุปพอสังเขป ดังนี้

(1)หน่วยปฏิบัติการอำนวยการ โทรประสาน หน่วยปฏิบัติการอำนวยการระดับเฉพาะทาง สาขาพิษวิทยา รามาธิบดี เพื่อปรึกษากระบวนการการรักษา
(2) ประสาน ศูนย์เวชศาสตร์ความดันบรรยากาศสูง โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ เพื่อนำผู้ป่วยจากจุดเกิดเหตุ เข้ารับการรักษาด้วยห้องปรับแรงดันบรรยากาศสูง หรือ hyperbaric chamber
(3) ทีมปฏิบัติการฯ นำผู้ป่วยออกจากจุดเกิดเหตุ มุ่งหน้า ศูนย์เวชศาสตร์ความดันบรรยากาศสูง โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า โดยระหว่างนั้น ทีมจักรยานยนต์การแพทย์ฉุกเฉิน Motorlance นำหลอดบรรจุตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อส่งห้องปฏิบัติการเคมีคลินิก ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี หาค่า COHb (คาร์บอนมอนน็อคไซด์ในเม็ดเลือดแดง)
(4) ผู้ป่วยถึง ศูนย์เวชศาสตร์ความดันบรรยากาศสูง โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า เป็นเวลาเดียวกับที่ผล COHb จากโรงพยาบาลรามาธิบดีออก หน่วยปฏิบัติการอำนวยการแจ้งผล ให้ศูนย์เวชศาสตร์ความดันบรรยากาศสูง โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าทราบ
(5) ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาด้วยอ๊อกซิเจนแรงดันสูง หรือ HBOT ในห้องปรับแรงดันอ๊อกซิเจน Monoplace hyperbaric chamber
(6) หลังจากเสร็จสิ้นการรักษาด้วย HBOT ทีมปฏิบัติการฯ นำผู้ป่วยส่ง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อทำการรักษาเป็นผู้ป่วยในต่อไป

โดยทางเพจยังได้กล่าวขอบคุณ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและมีส่วนร่วมต่อเคสนี้ อันได้แก่ หน่วยปฏิบัติการอำนวยการระดับที่ปรึกษา สาขาพิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, ศูนย์เวชศาสตร์ความดันบรรยากาศสูง โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ, ห้องปฏิบัติการเคมีคลินิก ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, ทีม FMC รามาธิบดี, ทีม Motorlance ทางการแพทย์, ทีมอาสาสมัครกู้ภัยในพื้นที่ และ ทีมปฏิบัติการ ทั้งทีมปฏิบัติการอำนวยการ และทีมปฏิบัติการแพทย์ ของหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ซึ่งกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่ทีมปฏิบัติการฯ ตรวจพบภาวะพิษจากคาร์บอนมอนน็อคไซด์ในที่เกิดเหตุ ไปจนถึงการรักษาด้วย HBOT ใช้เวลาทั้งหมดเพียงแค่ “1 ชั่วโมง 30 นาที” นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ผู้ป่วยได้รับพิษนอกโรงพยาบาล ได้รับการรักษาที่จำเพาะเจาะจง (Definitive care) นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของ Pre-hospital toxico อีกทั่งยังเห็นภาพการร่วมมือหลายองค์กร หลายภาคส่วน โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและไร้รอยต่อ เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินต่อไป

ทั้งนี้ความสำเร็จดังกล่าว ทำให้เห็นถึงภาพของการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลในหลายปีที่ผ่านมาของประเทศไทย ซึ่งยกระดับจากการทำงานที่ต้องอาศัยความสามารถของทีมกู้ชีพในที่เกิดเหตุเพียงอย่างเดียว จนพัฒนามาเป็นการประสานงานกันของทีมปฏิบัติการแพทย์ ณ จุดเกิดเหตุ ทีมปฏิบัติการอำนวยการ โดยมีแพทย์อำนวยการที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการปฏิบัติการ วิเคราะห์สถานการณ์ และประสานงานไปยังการรักษาที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีหน่วยปฏิบัติการอำนวยการระดับที่ปรึกษา ในการให้คำปรึกษาและแนะนำสำหรับภาวะฉุกเฉินที่มีความเฉพาะ ซึ่งในกรณีคือ หน่วยปฏิบัติการอำนวยการระดับที่ปรึกษา สาขาพิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

สำหรับประชาชนที่พบผู้ป่วยฉุกเฉินสำลักควันพิษ เบื้องต้นให้รีบนำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่มีควัน ปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยให้อ๊อกซเจน (หากมี) โทร.แจ้งสายด่วน 1669 โดยให้ข้อมูลอาการผู้ป่วย และแจ้งถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และรอรถพยาบาลเพื่อนำส่ง

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากเพจ Ramathibodi Emergency Medical Operation Unit

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #สพฉ #การแพทย์ฉุกเฉิน #ข่าวอาชญากรรมวันนี้