“ก้าวไกล” ขอภาคธุรกิจเคารพสิทธิคนข้ามเพศ

482

“ธัญวัจน์” หนุนภาคเอกชนยึดหลักปฏิบัติสากล UNGP ดำเนินธุรกิจตอบสนองความหลายหลาย-ความเสมอภาคทางเพศ เชื่อช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลง คู่ขนาน “ก้าวไกล” ผลักดันกฎหมายในสภาฯ

ที่กรุงเทพมหานคร วันที่ 9 มิถุนายน 2567 ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมงาน LGBTQI+ BIZ 2024 เพื่อนำการพูดคุยประเด็นหลักปฏิบัติสากลภายใต้แนวคิดธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หรือ UNGPs: (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights) ซึ่งมีการกำหนดหน้าที่ให้ภาครัฐมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิของประชาชนจากการถูกละเมิดโดยการประกอบธุรกิจ และภาคธุรกิจมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการเคารพสิทธิมนุษยชน ตลอดจนกำหนดให้มีการเยียวยาเมื่อเกิดความเสียหายที่เกิดจากการละเมิดสิทธิของประชาชน จัดโดย APCOM Foundation ณ โรงแรม อวานี พลัส ริเวอร์ไซด์

สำหรับประเทศไทย ได้ให้คำมั่นโดยสมัครใจเมื่อ 11 พฤษภาคม 2559 ในเวทีประชุมทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยตามกระบวนการ UPR (Universal Periodic Review) ภายใต้สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่เสนอให้นำหลักการ UNGPs ไปปรับใช้อย่างมีประสิทธิภาพพร้อมทั้งเสนอให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หรือ NAP (National Action Plan on Business and Human Rights) ซึ่งเป็นเครื่องมือในการนำหลักการ UNGPs ไปปฏิบัติใช้อย่างเป็นรูปธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักในการสนับสนุนการดำเนินการของภาคธุรกิจให้เป็นไปตามหลักปฏิบัติสากลฯ ตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (NAP) ซึ่งปัจจุบันเป็นความสมัครใจ มิได้มีกฏหมายกำหนด

ธัญวัจน์กล่าวว่า จากประเด็นคำนำหน้านามของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งในประเทศไทย ที่ออกมาชี้แจงว่าการใช้คำนำหน้าว่า “คุณ” ของดาราผู้หญิงข้ามเพศคนหนึ่งเป็นข้อผิดพลาด จึงทำให้เกิดดราม่าในสื่อออนไลน์และข้อถกเถียงของสังคมต่างมุมต่างความคิด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตนเห็นว่าบุคคลทั่วไปไม่สามารถเลือกคำนำหน้าได้เพราะต้องยึดตามเอกสารราชการหรือบัตรประชาชน และทำให้บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ต้องการใช้คำนำหน้าตามเพศสภาพถูกเลือกปฏิบัติและไม่เป็นไปตาม UNGPs ข้อ 5 ที่พูดถึงการลดทอนการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ที่ประเทศไทยได้ลงนามที่เจนีวาเมื่อปี 2552

แต่ในการปฏิบัติของภาคเอกชนนั้น การไม่ระบุคำนำหน้าหรือให้เลือกคำนำหน้าตามเพศสภาพ ไม่ได้ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย สามารถกระทำได้ มีส่วนเป็นการลดการตีตราการเลือกปฏิบัติทางเพศสภาพให้กับผู้มาใช้บริการของธนาคาร และไม่ส่งผลต่อความปลอดภัยเนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีระบบยืนยันตัวตนแบบชีวมิติ (Biometrics) อยู่แล้ว

ธัญวัจน์กล่าวต่อว่า ขณะนี้ตนและพรรคก้าวไกลได้ยกร่าง พ.ร.บ.แก้ไขคำนำหน้าและการระบุเพศ เพื่อเตรียมยื่นเข้าสภาฯ อีกครั้งหลังถูกปัดตกเมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในภาคธุรกิจหากปฏิบัติตามแนวทาง UNGPs ก็สามารถผลักดันความเปลี่ยนแปลงได้ จะเป็นอีกแรงสนับสนุนให้สภาฯ ผ่านกฎหมายดังกล่าวในอนาคตอันใกล้

ธัญวัจน์กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการก่อตั้ง “แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย” ประกอบด้วยหน่วยงานเอกชนที่ทำงานด้านวิจัยและองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อร่วมสนับสนุนและผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ของไทยปฏิบัติตามมาตรฐาน Fair Finance Guide International (FFGI) หรือ “แนวปฏิบัติของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ”

อาทิ สถาบันการเงินมีนโยบายไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติทางเพศทุกรูปแบบ (zero-tolerance policy) ในกระบวนการจ้างงานและในการปฏิบัติงาน, มีนโยบายไม่ยอมรับความรุนแรงทางเพศทุกรูปแบบ (zero-tolerance policy) ในที่ทำงาน ซึ่งรวมการคุกคามทางวาจา ทางร่างกาย และทางเพศ, มีการจัดฝึกอบรมเรื่องอคติทางเพศและการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศในสถานที่ทำงาน, รับประกันว่าผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศ จะสามารถเข้าถึงตำแหน่งคณะกรรมการ คณะกรรมการบริหาร และผู้บริหารระดับสูง ได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยมีการกำหนดเป็นสัดส่วนขั้นต่ำ เป็นต้น

ธัญวัจน์ทิ้งท้ายว่า ทั้งนี้ ตนได้ทำงานในคณะทำงานธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (Business and Human Rights) ในคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร หลังจากนี้จะดำเนินการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (NAP) ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมต่อไป

#Thaitabloid #ไทยแทบลอยด์ #คนข้ามเพศ #ครูธัญก้าวไกล #ธัญวัจน์กมลวงศ์วัฒน์ #LGBTQI+BIZ2024