นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โพสต์ข้อความเฟสบุ๊ค กล่าวถึงกรณีนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพระพุทธะอิสระ อดีตเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อยและแกนนำ กปปส.เวทีแจ้งวัฒนะ ได้รับการปล่อยตัวช่วงค่ำวันที่ 15 สิงหาคม 2561 โดยระบุว่า “เทียบมาตรฐานปล่อยตัว ‘พุทธะอิสระ’ กับเหตุการณ์จำขังนปช.ปี53 ‘ณัฐวุฒิ’ ย้อนความหลัง ‘คู่กรณี’ รัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์ส่งหนังสือถึงอัยการเร่งฟ้องก่อนครบกำหนดฝากขัง 84 วัน อยู่คุกยาวนานเกือบปี ขณะชะตากรรม ‘นายสุวิทย์’ ครบกำหนด 12 ผัดได้รับการปล่อยตัวและมีอีกคดีได้รับการประกันตัว
‘ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. กล่าวในรายการ ‘เข้าใจตรงกันนะ’ ทาง Peace TV ประจำวันที่ 16 สิงหาคม 2561 ถึงกรณีนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพระพุทธะอิสระ อดีตเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อยและแกนนำ กปปส.เวทีแจ้งวัฒนะ ได้รับการปล่อยตัวช่วงค่ำวันที่ 15 สิงหาคม 2561 พ้นจากการถูกจำขังหลังเข้าไปอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 84 วัน โดยเช้าวันที่ 16 สิงหาคม มีกำหนดที่จะต้องไปศาลอาญา เพื่อเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีที่ถูกแจ้งความอีกคดีก่อนหน้านี้ แต่ปรากฏว่านายสุวิทย์ส่งทนายความไปเลื่อน โดยศาลให้เลื่อนและนัดอีกครั้งวันที่ 8 ตุลาคมซึ่งต้องติดตามต่อไป
สำหรับการปล่อยตัวเมื่อค่ำวันที่ 15 สิงหาคม นายสุวิทย์ถูกควบคุมตัวในข้อหาปลอมพระปรมาภิไธย จากการไปจัดสร้างพระเครื่องนาคปรก อุดปรอท รุ่นหนึ่งในปฐพี
‘ณัฐวุฒิ’ กล่าวว่า เมื่อถูกจำขังในคดีอาญาแบบนี้ ถ้าศาลอนุมัติฝากขังและไม่อนุญาตให้ประกันตัว จำเลยก็จะต้องอยู่ในเรือนจำ แบ่งเป็นผัดต่างๆ ซึ่งมีกำหนดเวลาผัดละ 12 วัน โดยกรอบระยะเวลาทั้งหมดในการควบคุมตัวเพื่อจะให้อัยการนำตัวส่งฟ้องมีทั้งหมด 7 ผัด รวมแล้ว 84 วัน
ถ้าอัยการสั่งฟ้อง จำเลยมีสิทธิยื่นประกันตัว ถ้าศาลให้ประกันตัวก็กลับบ้าน แล้วสู้คดีต่อไป แต่ถ้าศาลไม่ให้ประกันก็อยู่ในเรือนจำต่อไป
‘กรณีถ้าครบ 7 ผัด 84 วันแล้วอัยการยังไม่มีความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง พูดง่ายๆ ว่ายังฟ้องไม่ทัน ก็ถือว่าหมดอำนาจในการควบคุมตัว ก็ต้องปล่อยตัวมา นายสุวิทย์ จึงออกมาด้วยเหตุผลนี้’
เรื่องคดีความก็ไม่มีอะไรต้องก้าวล่วง เพราะเป็นเรื่องเจ้าหน้าที่และกระบวนการ
‘แต่ว่าผมมานึกย้อนหลังว่า แหม่ พุทธะอิสระหรือคุณสุวิทย์ แกโชคดี คือ ไปอยู่ในคุก 84 วัน อัยการฟ้องไม่ทันก็ได้ออกจากคุกเลย ไม่เหมือนพวกผมตอนปี 2553 อยู่ๆ ในคุกกันไป ทาง DSI หน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านการสอบสวนก็ออกข่าวว่ากำลังรวบรวมพยานหลักฐาน เราก็อยู่แต่ละผัดไปเรื่อยๆ และลุ้นอยู่ว่าถ้ากำลังรวบรวมพยานหลักฐาน เมื่อครบ 84 วันก็ต้องปล่อย แต่ก็ได้แค่ลุ้น เพราะคราวนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ‘เอื้อเฟื้อเป็นพิเศษ’ ทำหนังสือถึงอัยการว่าให้เร่งฟ้องให้ทันก่อนครบกำหนดฝากขัง
ผมจำได้ หนังสือพิมพ์ลงข่าว บอกว่าเป็นเรื่องอื้อฉาวในแวดวงอัยการพอสมควร เพราะไม่เคยมีมาก่อนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะทำหนังสือไปเร่งรัดคดีให้ฟ้องผู้ต้องหา แล้วเป็นผู้ต้องหาที่ต้องคดีความจากการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมือง ซึ่งเป็นฝ่ายปฏิปักษ์กับรัฐบาลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมนั่งทำงานอยู่
ดังนั้น ถ้าถอดรหัสเรื่องยศศักดิ์ตำแหน่งออกเหลือแต่ตัว ก็สามารถพูดได้ว่า ‘คู่กรณีที่ถืออำนาจ ออกหนังสือสั่งการต่อฝ่ายตรงข้ามที่ถูกจองจำ’ อธิบายแบบปอกเปลือกได้เช่นนี้ นั่นคือสิ่งที่พวกผมเจอมา ก็ไม่เป็นไร ไม่ได้อิจฉาริษยานายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ พุทธะอิสระ เมื่อกลับคืนสู่อิสรภาพก็ว่ากันต่อไป คดีความเป็นแบบไหนจะได้ตามศึกษาดู
เพราะคดีปลอมพระปรมาภิไธย ตอนที่นายสุวิทย์ถูกจับใหม่ๆ ทนายความเข้าไปเยี่ยมเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ทนายความออกมาให้ข่าวสื่อมวลชนลงตรงกันทุกสำนักว่า เจ้าตัวผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ นี่เป็นคำให้สัมภาษณ์ของทนายความ
ซึ่งแน่นอนถูกจับไป1-2 วันแรกก็คงจะยังไม่สามารถให้การรับสารภาพได้ในทันที แต่ว่านี่คือสิ่งที่เป็นเจตจำนงของผู้ต้องหา
ทีนี้เราก็ไม่แน่ใจว่า กรณีผู้ต้องหาบอกว่ารับสารภาพ แต่อัยการบอกว่าฟ้องไม่ทัน นี่ไปยังไงมายังไง ก็จะได้เป็นความรู้สำหรับคนที่สนใจเรื่องกฎหมาย หรือติดตามกระบวนการของคดีความ
เพราะเมื่อไม่นานมานี้ก็มีบางคดีที่จำเลยรับสารภาพ แต่ในคำพิพากษาดูเหมือนศาลจะไม่เชื่อที่จำเลยรับสารภาพ เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาโดยเฉพาะยุคนี้เนติบริกรใหญ่ ‘วิษณุ เครืองาม’ บัญญัติศัพท์อภินิหารทางกฎหมาย ก็ยิ่งต้องศึกษาให้ละเอียดลึกลงไปใหญ่ว่า คำว่ากฎหมายจะมีอภินิหารได้ถึงเพียงใด’
‘ณัฐวุฒิ’ กล่าวต่อไปว่า ในขณะที่เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ที่ศาลอาญารัชดา พนักงานอัยการก็ไปยื่นฟ้องนายสุวิทย์ หรือ พุทธะอิสระ อีกคดีหนึ่งในความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือกระทำด้วยการใดให้เจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ฯ ให้รับอันตรายสาหัส, ร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายฯ หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309, 310
เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ช่วงที่เขาชุมนุมและมีการปิดถนนแจ้งวัฒนะ แล้วมีการวางกรวยจนตอนนั้นเรียกว่า ‘กรวยศักดิ์สิทธิ์’ เพราะใครไปแตะต้องกรวยไม่ได้ ใครไปแตะต้องก็โดนเตะโดนกระทืบ ขนาดนายทหารยศพันเอกโดนยิงปางตาย เพราะไปเที่ยวแตะต้องกรวยเขา
ตอนนั้นมีเหตุการณ์หนึ่งที่สันติบาลไปหาข่าวตามปกติ เช่นเดียวกับเวลาเสื้อแดงชุมนุม หรือนกหวีดจะชุมนุม ไม่ว่าเสื้อไหนชุมนุมเขาก็ต้องไปหาข่าว แล้วปรากฏว่า การ์ดกปปส.แถวๆ แจ้งวัฒนะจับได้ ก็มีตุ๊บตั๊บกันน่วมและนำตัวไปให้พุทธะอิสระสอบสวนแล้วปล่อยตัวกลับไป ซึ่งก็เป็นคดี
อัยการไปยื่นฟ้อง ทนายก็ไปยื่นประกันตัว และศาลก็อนุญาตให้ประกันตัว ดังนั้น เมื่อคดีปลอมพระปรมาภิไธย อัยการยังไม่สั่งฟ้องเมื่อครบ 7 ผัด 84 วันแล้ว คดีที่ฟ้องวันที่ 15 ส.ค. ศาลก็อนุญาตให้ประกันตัว ก็ถือว่า คืนสู่อิสรภาพ
มีข่าวบอกว่าไปอยู่ที่วัดอ้อน้อย ซึ่งก็มีประเด็นอยู่ว่าก่อนเข้าเรือนจำ ‘สึก’ หรือยัง แน่นอนฝั่งเจ้าตัวยืนยันว่ายังไม่ได้เปล่งวาจาสึก ยังไม่สึกจะได้บวชเป็นพระต่อ
แต่คนอีกจำนวนหนึ่งมองว่า นั่นถือว่าสึกแล้ว พ้นขาดจากความเป็นพระแล้ว ไปอยู่ในเรือนจำตั้งเกือบ 3 เดือน ซึ่งนี่คงเป็นประเด็นกันอีก ก็ต้องดูว่าจะอย่างไรกันต่อไป”
เทียบมาตรฐานปล่อยตัว ‘พุทธะอิสระ’ กับเหตุการณ์จำขังนปช.ปี53 ‘ณัฐวุฒิ’ ย้อนความหลัง ‘คู่กรณี’…
โพสต์โดย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เมื่อ วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2018