รมว.ยธ. ประชุมติดตามเร่งรัดงานยาเสพติด เร่งด่วนระยะ 3 เดือน กำหนด 25 จังหวัดนำร่อง เน้นย้ำความเชื่อมั่นและความพึงพอใจของประชาชนเป็นเป้าหมายสำคัญ
วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม 2567 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตาม เร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. ทำหน้าที่รองประธานกรรมการ คนที่ 1 และ คนที่ 2 ตามลำดับ พร้อมด้วย นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนกระทรวงแรงงาน ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนกองทัพบก ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้แทนกรมสุขภาพจิต และหัวหน้าหน่วยราชการต่าง ๆ โดยมี นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการการประชุมฯ ณ ห้องประชุมกระทรวงยุติธรรม 10-01 ชั้น 10 กระทรวงยุติธรรม
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานกรรมการ/ประธานการประชุมกล่าวถึงเรื่องสำคัญที่แจ้งให้ที่ประชุมทราบ 2 เรื่อง ได้แก่ 1. นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในเรื่องปัญหายาเสพติดถือเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข พร้อมทั้งเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายตำรวจ และทุกหน่วยงานทำงานให้หนักขึ้น ทำงานร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดและจัดการอย่างเด็ดขาด โดยจะต้องมีผลการดำเนินงานอย่างชัดเจนภายใน 90 วัน โดยเฉพาะในพื้นที่เร่งด่วน 25 จังหวัดตามที่สำนักงาน ป.ป.ส. จึงมอบหมายให้สำนักงาน ป.ป.ส. จัดทำปฏิบัติการเร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน 3 เดือน (1 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2567) เพื่อชี้เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติงานให้แก่ พื้นที่เร่งด่วน 25 จังหวัด และพื้นที่จังหวัดอื่นทั่วประเทศ และจัดการประชุมคณะกรรมการติดตามฯ ครั้งนี้ เพื่อให้กรรมการทุกท่านได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการลงไปกำกับ เร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามบทบาทหน้าที่ ให้บรรลุผลสำเร็จตามนโยบายและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี
และ 2. ในวันพุธที่ 29 พฤษภาคม 2567 จะมีการนำข้อสรุปจากการประชุมในวันนี้ เป็นข้อสั่งการชี้แจงในการประชุมปฏิบัติการเร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดระยะเร่งด่วน 3 เดือน (1 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2567) ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในพื้นที่ 25 จังหวัด สำหรับจังหวัดอื่น ๆ อีก 52 จังหวัด
พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 นายกรัฐมนตรีมีข้อกำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และฝ่ายตำรวจร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ดำเนินการปราบปรามนักค้ายาเสพติดอย่างจริงจัง ให้ความสำคัญกับการบำบัดรักษา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเวช ให้หน่วยงานด้านความมั่นคง ฝ่ายทหาร สนับสนุนสถานที่เป็นค่ายบำบัดรักษา และให้ดำเนินการให้เห็นผลภายในระยะเวลา 90 วัน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเป้าหมาย 25 จังหวัด ที่สำนักงาน ป.ป.ส. กำหนด
โดยมติคณะกรรมการ ป.ป.ส. ได้เสนอปฏิบัติการเร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน 3 เดือน (1 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2567) โดยมีจุดเน้นที่ต้องเร่งรัดดำเนินการ คือ 1. เร่งนำผู้ที่มีอาการทางจิตเวชจากยาเสพติดและผู้เสพยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา 2.เร่งดำเนินการทำลายเครือข่ายการค้ารายสำคัญตามบัญชีเป้าหมาย 3. เร่งดำเนินการมาตรการสมคบ สนับสนุนช่วยเหลือ และยึด อายัดทรัพย์สินคดียาเสพติดให้เพิ่มสูงขึ้น 4. เร่งดำเนินการกับนักค้าในพื้นที่แพร่ระบาด ปฏิบัติการกวาดล้างในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน 5. เร่งรัดการจัดระเบียบสังคมลดการค้าแพร่ระบาดในสถานบันเทิง และบริเวณรอบสถานศึกษา 6. เร่งสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และองค์กรปกครองส่วนถิ่น สนับสนุนการป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติด 7. เร่งรัดหัวหน้าส่วนราชการ และข้าราชการเจ้าหน้าที่ในระดับจังหวัดให้ความสำคัญเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด 8.เร่งสร้างความพึงพอใจและความเชื่อมมั่นให้กับประชาชนเพิ่มสูงขึ้น
โดยได้กำหนดแนวทางปฏิบัติทั้งหมด 9 แนวทาง ดังนี้ 1. การบริหารจัดการกลไก ศอ.ปส.จ./กทม. และ ศอ.ปส.อ./เขต 2. การบูรณาการข้อมูลเพื่อกำหนดเป้าหมายลดปัญหาในระยะเร่งด่วน 3. การลดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากผู้มีอาการทางจิตเวชจากยาเสพติด 4. การลดปัญหาผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน 5. การพัฒนาศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม 6. การปราบปรามนักค้ายาเสพติดและยึด อายัดทรัพย์สิน 7. การป้องกันและป้องปรามปัจจัยเสี่ยง 8. การขยายการมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 9. การสร้างนวัตกรรมแก้ไขปัญหายาเสพติด
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่ท้าทาย และทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันในการแก้ไข ที่ผ่านมาแม้ว่าผลงานต่างในเชิงปริมาณจะได้เกินเป้าหมาย 100 เปอร์เซ็น เช่นการจับกุมยาเสพติด ในอดีตจับกุม 400 ล้านเม็ด/ปี แต่ในขณะนี้เราผ่านมาเพียง 6 เดือน เราจับกุมได้ถึง 600 ล้านเม็ด อย่างไรก็ตามเราจะทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมายที่นายกรัฐมนตรีกล่าวคือ ประชาชนเชื่อมั่น ได้รับความพึงพอใจจากประชาชน ยาเสพติดได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน
เราจึงกำหนดให้มีมาตรการที่เข้มข้น ในช่วง 90 วัน ที่จะต้องมีการเร่งรัดติดตามในเรื่องสำคัญในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด ซึ่งพบว่าอยู่ในหมู่บ้าน/ชุมชน อาจจะน้อยกว่าอยู่เรือนจำหรือถูกคุมประพฤติ ซึ่งในระยะเวลา 3 เดือน เรามีเป้าหมายว่าจะนำคนกลุ่มนี้กว่า 2 แสนคน นำมาบำบัดรักษา ต้องการให้เขามีสุขภาพที่ดี ได้รับการฟื้นฟู และต้องไม่ละเลยในเรื่องสถานบำบัดฟื้นฟู ซึ่งจะเน้นใน 25 จังหวัดที่นายกรัฐมนตรีได้รวบรวมปัญหาและยกระดับไว้ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้จังหวัดที่มีปัญหายาเสพติดที่เป็นจังหวัดเป้าหมาย
ด้านนายแพทย์ พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เราต้องผลักดันบทบาทจากทุกฝ่ายในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และแน่นอนที่สุดการมีส่วนร่วมจากประชาชน มาเพิ่มเติมจากสิ่งที่ทำมาในเรื่องการป้องกันและปราบปราม เพื่อสร้างความพึงพอใจ และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ฉะนั้นต่อคำถามที่ว่ามั่นใจไหม เราตั้งใจเต็มที่และมั่นใจว่าเรื่องนี้จะประสบความสำเร็จ