กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 35.80-36.40 หลังสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯแผ่ว

128

 กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประเมินเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่ามีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 35.80-36.40 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 36.25 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 36.04-36.83 บาท/ดอลลาร์ โดยระหว่างสัปดาห์เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 2 เดือน ขณะที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯร่วงลงขณะที่เงินเฟ้อชะลอตัวตามคาดในเดือนเมษายน โดยดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI)เพิ่มขึ้น 3.4% เมื่อเทียบรายปี ขณะที่ดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 3.6% นับเป็นอัตราต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี นอกจากนี้ ยอดค้าปลีกเดือนเมษายนของสหรัฐฯอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด บ่งชี้ว่าการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคกำลังลดความร้อนแรงและเปิดโอกาสให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)สามารถลดดอกเบี้ยได้ในเดือนกันยายนหรือก่อนหน้านั้น อย่างไรก็ตาม แรงขายดอลลาร์ถูกจำกัดท้ายสัปดาห์หลังข้อมูลเศรษฐกิจจีนออกมาในเชิงผสม โดยผลผลิตภาคการผลิตสูงเกินคาดในเดือนเมษายนแต่ยอดค้าปลีกอ่อนแอกว่าคาด ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 5,212 ล้านบาท และ 3,707 ล้านบาท ตามลำดับ

            กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี ให้ความเห็นถึงสถานการณ์ตลาดในสัปดาห์นี้ว่า ตลาดจะติดตามรายงานประชุมเฟดเมื่อวันที่ 30 เมษายน – 1 พฤษภาคม  ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญเดือนเมษายนกลับมาหนุนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงท่ามกลางความหวังที่ว่าเงินเฟ้ออยู่ในทิศทางชะลอลงในไตรมาส 2 หลังจากอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสแรกของปีได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของเฟดเกี่ยวกับการควบคุมภาวะเงินเฟ้อและทำให้ตลาดทบทวนมุมมองสู่สถานการณ์ที่เฟดอาจต้องตรึงดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานาน อนึ่ง ภาพใหญ่สนับสนุนการคาดการณ์ของเราที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะชะลอตัวอย่างชัดเจนมากขึ้นและค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มย่อตัวลงในระยะข้างหน้า

           สำหรับปัจจัยในประเทศ นักลงทุนจะให้ความสนใจกับการเปิดเผยตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1 เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายด้านเศรษฐกิจต่อไป ทางด้านรมว.คลังระบุหลังการหารือกับผู้ว่าการธปท.ว่าปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อโดยเฉพาะรายย่อยและ SME เป็นประเด็นน่ากังวลกว่าระดับอัตราดอกเบี้ย พร้อมให้ความเห็นว่าธปท.มีอิสระในการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามกระบวนการที่มีอยู่ เรามองว่าท่าทีการสื่อสารที่ผ่อนคลายลงดังกล่าวช่วยประคองความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติได้ในระดับหนึ่ง