“กรุงไทย” จับมือ “NatureWorks” ประกาศดีลประวัติศาสตร์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ    ตามแนวทาง BCG  สนับสนุนเงินลงทุนโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพ    วงเงิน 12,600 ล้านบาท

104

“NatureWorks” ผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ประเภทพอลิแลกติกแอซิด ซิด (Polylactic Acid หรือ PLA)ชั้นนําของโลกที่ผลิตจากทรัพยากรหมุนเวียน  และธนาคารกรุงไทย  ร่วมลงนามในสัญญาสนับสนุนเงินลงทุนโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพ PLA ภายใต้แบรนด์   “Ingeo™️” แบบครบวงจรแห่งใหม่ในประเทศไทย มูลค่ากว่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่า 12,600 ล้านบาท นับเป็นหนึ่งในสินเชื่อเงินกู้ที่มีผู้ให้กู้รายเดียว (Bilateral loan) ที่ใหญ่ที่สุดในรอบทศวรรษของวงการธนาคาร สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของทั้งสององค์กร ในการผลักดันเศรษฐกิจชีวภาพตามแนวคิด BCG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน

        นายอิริค ริพเพิล (Mr.Erik Ripple) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ NatureWorks เปิดเผยว่า การสนับสนุนจากธนาคารกรุงไทยครั้งนี้ เป็นการสนับสนุนกลยุทธ์ของ NatureWorks ในการรักษาความเป็นผู้นำธุรกิจชีวภาพระดับสากล โดยโรงงานแห่งที่ 2 ในประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตเพื่อมุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และผลักดันไปสู่การขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับเศรษฐกิจชีวภาพและความต้องการผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพสำหรับใช้เป็นบรรจุภัณฑ์และเส้นใยทั่วโลก

        ทั้งนี้ โรงงานของ NatureWorks แห่งที่ 2 นี้ ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นไบโอคอมเพล็กซ์แห่งแรกในประเทศไทยที่ก่อตั้งขึ้นตามแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านวัตถุดิบทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์และหาได้ในท้องถิ่น ได้แก่ อ้อย โดย NatureWorks พิจารณาเลือกสถานที่ก่อสร้างโครงการจากปัจจัยด้านทำเลที่ตั้งที่ใกล้กับที่ปลูกอ้อย และมีโครงสร้างพื้นฐานในการแปรรูปอ้อยเป็นน้ำตาลสำหรับใช้ในกระบวนการผลิต ตลอดจนพิจารณาถึงความพร้อมของระบบสาธารณูปโภคในการดำเนินการผลิต
นายสุรธันว์ คงทน ประธานผู้บริหาร Wholesale Banking ธนาคารกรุงไทย  เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงไทย ในฐานะธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของประเทศ มุ่งมั่นขับเคลื่อน “นวัตกรรมสร้างคุณค่า ตอบโจทย์ลูกค้า สู่ความยั่งยืน” เล็งเห็นถึงศักยภาพของ NatureWorks ในการเป็นผู้นำในธุรกิจพลาสติกชีวภาพ ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Model หรือ Bio-Circular-Green Economy) ของประเทศไทย และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของประเทศ เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยธนาคารพร้อมให้การสนับสนุน NatureWorks ก่อสร้างโรงงานและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ

        “ประเทศไทยเป็นผู้นำทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกด้านการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งธนาคารกรุงไทยมีบทบาทร่วมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ การสนับสนุนเงินลงทุนแก่ NatureWorks ซึ่งเป็นบริษัทผู้นำระดับโลกในการผลิตวัสดุชีวภาพผลิตพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ประเภทพอลิแลกติกแอซิด ซิด (Polylactic Acid หรือ PLA) จากทรัพยากรหมุนเวียน นับเป็นดีลใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ของธนาคารในการการขับเคลื่อนโมเดล BCG ในประเทศไทย  สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของธนาคาร ที่มุ่งเน้นการจัดการการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และผลักดันกิจกรรมต่างๆ  เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจแบบสีเขียว สอดคล้องกับการดำเนินงานของธนาคารที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ  ทั้งในด้านการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน โดยโครงการนี้ช่วยสร้างโอกาส ในการเพิ่มมูลค่าให้กับแก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยที่อยู่ในพื้นที่นครสวรรค์
อีกด้วย”

          นายณะรงค์ศักดิ์  จิวากานันต์ ประธานคณะกรรมการเนเชอร์เวิร์คส์ และซีอีโอ  บริษัท
พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า การลงทุนครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของ NatureWorks  Cargill และ GC เนื่องจากเป็นการขับเคลื่อนเจตนารมณ์ร่วมกันทุกฝ่ายในการเป็นผู้นำด้านเคมีชีวภาพ และวัสดุชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกด้วยการสนับสนุนด้านเงินลงทุนในการก่อสร้างโรงงาน PLA แห่งที่ 2 ในประเทศไทย  ทำให้ NatureWorks สามารถรักษาความสามารถในการแข่งขัน และมีความพร้อมในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ และวัสดุชีวภาพขั้นสูง รวมถึงมีกำลังการผลิตที่เพียงพอสำหรับตอบสนองความต้องการของตลาดและลูกค้าทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีการเติบโตสูง

          โรงงานแห่งใหม่นี้ได้รับการออกแบบให้เป็นโรงงานผลิต PLA แบบครบวงจร ที่ผลิตตั้งแต่กรดแลคติค แลคไทด์ และ PLA ด้วยกำลังการผลิตพลาสติกชีวภาพ ภายใต้แบรนด์  Ingeo™️ จำนวน 75,000 ตันต่อปี สามารถผลิต Ingeo™️ ได้หลากหลายเกรด เพื่อตอบสนองการเติบโตของตลาดพลาสติกชีวภาพในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสำหรับการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์เส้นใยสำหรับการพิมพ์ 3 มิติ สิ่งทอประเภท nonwovens แคปซูลกาแฟที่ย่อยสลายได้ ถุงชา บรรจุภัณฑ์ที่มีความยืดหยุ่น(Flexible packaging) และบรรจุภัณฑ์อาหารที่ย่อยสลายเองได้ พลาสติกชีวภาพ Ingeo™️ ที่ผลิตในโรงงานแห่งนี้จะผลิตจากอ้อยที่ได้จากไร่การเกษตรในรัศมี 50 กิโลเมตรในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งความคืบหน้าของโครงการและการก่อสร้างในปัจจุบันได้ดำเนินลุล่วงตามแผน พร้อมดำเนินการผลิตอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2568