“รมว.ทวี-เลขาป.ป.ส.”ดูงานยาเสพติดเยอรมนี

355

รมว.ยุติธรรม นำเลขา ป.ป.ส. แลกเปลี่ยนความรู้การลดอันตรายยาเสพติด พร้อมชม ”ห้องเสพยา” เน้นการใช้ยาเสพติดอย่างปลอดภัย ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

เมื่อวันพุธที่ 22 พ.ค.2567 เวลา 09.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต สมาชิกวุฒิสภา พลตำรวจโทภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. นางสาวอารีภักดิ์ เงินบำรุง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. และคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้รับฟังการบรรยายสรุปและศึกษาดูงานด้านการให้บริการคำปรึกษาและการลดอันตรายจากยาเสพติดสำหรับกลุ่มประชากรที่ด้อยโอกาสในสังคม และบริการห้องเสพยาแบบถาวรและแบบเคลื่อนที่ ณ ศูนย์ให้คำปรึกษาและบำบัดรักษายาเสพติด Fixpunkt Berlin (ฟิกซ์พุงค์ เบอร์ลิน)

คุณ Sabine Beck (ซาบีน เบ็ค) สารวัตรยาเสพติด สำนักงานตำรวจเบอร์ลิน นำเสนอการสนับสนุนการดำเนินงานลดอันตรายจากยาเสพติดของตำรวจในเบอร์ลิน โดยเมืองเบอร์ลินมีประชากร 3.8 ล้านคน แบ่งการปกครองออกเป็น 5 เขต โดยแต่ละเขตมีหน่วยงานภายใต้สำนักงานตำรวจรับผิดชอบงานด้านยาและสารเสพติดโดยเฉพาะ เมืองเบอร์ลินมีผู้ติดยาเสพติด 15,000 คน และประมาณ 6,000 คนได้รับการบำบัดยาเสพติด แต่เดิมนโยบายยาเสพติดมุ่งเน้นการปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มข้น แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ นำไปสู่การปรับนโยบายยาเสพติดเน้นเชิงสุขภาพและแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบองค์รวม โดยแบ่งเป็น 4 เสาหลัก ได้แก่ การให้คำปรึกษาและการลดอันตรายจากยาเสพติด การป้องกัน การบำบัดรักษาและการปราบปรามยาเสพติด การดำเนินงานเริ่มจากการสร้างพื้นที่สาธารณะ เช่น สถานีรถไฟ สวนสาธารณะ ให้ปลอดภัย การป้องกันยาเสพติดในโรงเรียน ออกระเบียบหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพบว่าประชาชนเกิดความรู้สึกปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น รวมทั้ง ผู้เสพยาเสพติดมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

จากนั้น คุณ Astrich Leicht (แอสทริตช์ ไลท์) ผู้แทนองค์กร Fixpunkt Berlin นำเสนอการดำเนินงานศูนย์ให้คำปรึกษาและบำบัดรักษายาเสพติด Fixpunkt Berlin ซึ่งจัดตั้งปี ค.ศ. 1989 ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเอดส์ จึงนำไปสู่การให้บริการด้านการลดอันตรายจากยาเสพติดเพื่อลดปัญหาการติดเชื้อเอชไอวีและการเสียชีวิต ต่อมา เมื่อปัญหาเอดส์ลดลง จึงพัฒนาไปสู่เป้าหมายเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะของผู้ใช้ยาเสพติดและสังคม โดยบริการของศูนย์ ได้แก่ การสนับสนุนเข็มและอุปกรณ์ฉีดยาสะอาด การบริการห้องเสพยา การให้คำปรึกษา การจัดหางาน การตรวจวิเคราะห์ยาเสพติด โดยมีจุดให้บริการเชิงรุก 5 จุดในเบอร์ลิน ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีผู้ใช้ยาเสพติดจำนวนมาก

ภายหลังสิ้นสุดการบรรยายสรุป คณะได้เยี่ยมชมห้องเสพยา ซึ่งในการจัดตั้งและดำเนินการห้องเสพยา ต้องขออนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยและสาธารณสุข ภายใต้เงื่อนไขให้ต้องมีบุคลากรสาธารณสุขเพื่อช่วยเหลือในกรณีเสพยาเกินขนาด การจัดบริการช่วยเหลือในการเลิกยาเสพติดและช่วยเหลือเชิงสังคม ทั้งนี้ ผู้เสพยาต้องนำยาเสพติดมาเอง ห้ามให้ยาเสพติดหรือค้าขายในห้องเสพยาเป็นอันขาด ซึ่งหากพบการค้ายาเสพติดเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการทางกฎหมายในทันที ความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ สาธารณสุข และภาคประชาสังคม จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ รมว.ยธ. และคณะได้เยี่ยมชมพื้นที่การทำงานเชิงรุกในสวนสาธารณะ ในรูปแบบรถให้บริการเคลื่อนที่ โดยบริการประกอบด้วย การให้คำปรึกษา การตรวจสุขภาพโดยแพทย์และให้คำแนะนำเบื้องต้น การสนับสนุนอุปกรณ์การเสพที่สะอาด ซึ่งจากการดำเนินงานพบว่าสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชุมชนในการดูแลผู้ใช้ยาเสพติด ลดอันตรายที่เกิดจากการทิ้งอุปกรณ์การเสพ และลดปัญหาอาชญากรรมในชุมชนโดยรอบ

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีแนวคิดที่จะนำรูปแบบการดำเนินงานในเยอรมนีไปพัฒนาแนวทางการลดอันตรายจากยาเสพติดในไทยต่อไป

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #ปปส #ยาเสพติด #ข่าวอาชญากรรมวันนี้