รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นำคณะ ศึกษาโปรตุเกสโมเดล ยกระดับการบำบัดผู้ติดยาเสพติดไทย

198

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นำคณะ ศึกษาโปรตุเกสโมเดล ยกระดับการบำบัดผู้ติดยาเสพติดไทย

วันที่ 20 มิถุนายน 2567 เวลา 09.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต สมาชิกวุฒิสภา พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. นางสาวสุภาพรรณ เตียพิริยะกิจ อัครราชทูตที่ปรึกษา ณ กรุงลิสบอน นางสาวอารีภักดิ์ เงินบำรุง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. และคณะ ได้เข้าร่วมประชุมและหารือข้อราชการกับ ดร. อานา โพโว ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโปรตุเกส ( Dr. Ana Povo, Secretary of State for Health) และ ดร. ชูเอา กูเลา ประธานสถาบันเพื่อพฤติกรรมเสพติดและการพึ่งพายาเสพติดของโปรตุเกส (Dr. João Goulão, Chairman of Institute for Addictive Behaviours and Dependencies) ณ สถาบันเพื่อพฤติกรรมเสพติดและการพึ่งพายาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข ประเทศโปรตุเกส

ในการประชุมฯ ดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้กล่าวชื่นชมโปรตุเกสโมเดล ซึ่งประเทศไทยได้ศึกษาและนำมาเป็นพื้นฐานของการยกร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดของไทย โดยยึดหลักการผู้เสพเป็นผู้ป่วย และได้รับการบำบัดโดยกระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในประเด็นนี้อยู่ จึงอยากศึกษาแนวทางของโปรตุเกส ทั้งการบำบัดผู้ติดยาเสพติดที่เป็นกลุ่มผู้ต้องราชทัณฑ์ และกลุ่มผู้ถูกคุมประพฤติ

ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโปรตุเกส ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติภายใต้โปรตุเกสโมเดล ซึ่งยึดผู้เสพเป็นผู้ป่วย โดยกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงสาธารณสุขจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ในเบื้องต้นจะแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ติดยาเสพติดจะได้รับการบำบัดโดยกระทรวงสาธารณสุข ส่วนผู้ค้ายาเสพติดจะถูกดำเนินคดีโดยกระทรวงยุติธรรม สำหรับแนวทางการบำบัดผู้ติดยาเสพติดจะให้ความสำคัญกับ 1) การวิเคราะห์ข้อมูลรายบุคคล เพื่อประเมินว่าต้องการความช่วยเหลือด้านใด เช่น ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย การสร้างอาชีพ การบำบัด ฯลญ 2) การบำบัดที่เหมาะสม เช่น การใช้สารทดแทน การจัดห้องเสพยาเสพติด การจัดโปรแกรมสุขภาพ ฯลฯ และ 3) การติดตาม เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ติดยาเสพติดสามารถกลับคืนสู่สังคมได้

นอกจากน้้น ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโปรตุเกส ได้เน้นย้ำความสำคัญของการเคารพหลักสิทธิมนุษยชน ตลอดทั้งกระบวนการบำบัดรักษา การลดการใช้ยาเสพติด และการเตรียมความพร้อมในการกลับคืนสู่สังคม โดยการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้สำเร็จได้ จะต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

คณะผู้แทนไทยได้ให้ความสนใจสอบถามโปรตุเกสในหลายประเด็น โดยผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโปรตุเกสได้ตอบข้อซักถามต่างๆ อาทิ 1) สถานภาพของกัญชา : ในโปรตุเกสใช้กัญชาได้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น 2) ผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการบำบัดผู้ติดยาเสพติด : รัฐบาลรับผิดชอบค่าใช้จ่าย 80% ครอบครัว 20% แต่หากครอบครัวไม่สามารถสนับสนุนค่าใช้จ่ายได้ ก็จะมีองค์กรภาคประชาสังคมให้ความช่วยเหลือ 3) ข้อห่วงกังวลในการดำเนินงาน : โปรตุเกส ยังคงมีความกังวลกับสารเสพติดที่อุบัติใหม่ และการกำหนดเกณฑ์เพื่อแบ่งแยกระหว่างการมีไว้เพื่อเสพ และการมีไว้เพื่อจำหน่าย 4) สัดส่วนของการใช้งบประมาณ : ให้ความสำคัญกับการป้องกันและลดจำนวนผู้ติดยาเสพติด เนื่องจากหากมีผู้ติดยาเสพติดน้อยลง การใช้งบประมาณในการบำบัดรักษาก็จะลดลง และคุณภาพของการบำบัดจะดีขึ้น

ในช่วงสุดท้าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้กล่าวขอบคุณผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโปรตุเกส และประธานสถาบันเพื่อพฤติกรรมเสพติดและการพึ่งพายาเสพติดของโปรตุเกส รวมถึงคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์โปรตุเกสโมเดลในการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ซึ่งเชื่อว่าความรู้ที่ได้ในวันนี้จะเป็นแนวทางให้คณะผู้แทนไทยนำไปปรับใช้ในการพัฒนาแนวทางการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพต่อไป

#Thaitabloid#สำนักข่าวไทยอทบลอยด์#กระทรวงยุติธรรม