อว.นำนวัตกรรมพัฒนาน้ำมันรำข้าว
“รมว.ศุภมาส” นำวิทยาศาสตร์สู่การพัฒนาอุตสาหกรรม“น้ำมันรำข้าว” เปิดห้องปฏิบัติการ มอบกรมวิทยาศาสตร์บริการ นำงานวิจัยและนวัตกรรม มาพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันรำข้าว เพิ่มคุณค่าให้กับสินค้า ที่มีมูลค่าส่งออก นับหมื่นล้านบาท
น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผย ว่า ประเทศไทยมี “ข้าว” เป็นสินค้าหลัก มีการเพาะปลูกปริมาณมาก ผลพลอยได้จากการขัดสีข้าวทำให้ได้ “รำข้าว” ปัจจุบันมีภาคเอกชนนำรำข้าวมาสกัดน้ำมันปีละกว่า 800,000 ตัน มูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำมันรำข้าว
สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยรูปแบบ BCG Economy Model ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า ใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด จึงได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) นำกลไกวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) มาขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันรำข้าวตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้า ตั้งแต่รากฐานการผลิตวัตถุดิบ กระบวนการแปรรูปจนกระทั่งได้ผลิตภัณฑ์พร้อมจำหน่ายสู่เชิงพาณิชย์ ด้วยการตรวจสอบรับรองคุณภาพ ตลอดจนการจัดทำข้อกำหนดคุณลักษณะผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ที่สามารถบ่งชี้ถึงคุณค่าของผลิตภัณฑ์ และได้เปิดห้องปฏิบัติการอ้างอิงทดสอบคุณภาพอาหารและน้ำมันรำข้าว และห้องปฏิบัติการเครือข่าย
ด้าน นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กล่าวว่า เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของท่าน รมว.อว. ที่ให้ยกระดับห่วงโซ่คุณค่าน้ำมันรำข้าวด้วยการใช้กลไกวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งขณะนี้ วศ.อว. ได้เปิดห้องปฏิบัติการอ้างอิงทดสอบคุณภาพอาหารและน้ำมันรำข้าวด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ทันสมัย นักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพและมีการบูรณาการร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดย วศ.อว. มีการพัฒนาวิธีวิเคราะห์ทดสอบหาชนิดและปริมาณสารสำคัญในน้ำมันรำข้าว ให้บริการทดสอบคุณภาพน้ำมันรำข้าวตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นอกจากนี้ วศ. ยังเป็นองค์กรกำหนดมาตรฐาน (Standards Developing Organization หรือ SDO) ของประเทศไทย ในการจัดทำมาตรฐาน หรือข้อกำหนดคุณลักษณะ ตามหลักการในการจัดทำมาตรฐานสากล เร่งส่งเสริมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีการวิจัยพัฒนานวัตกรรมจากน้ำมันรำข้าวหรือนวัตกรรมกระบวนการผลิตน้ำมันรำข้าว เช่น นวัตกรรมอาหาร นวัตกรรมเครื่องสำอาง นวัตกรรมเครื่องมือในการสกัดน้ำมันรำข้าว เป็นต้น สามารถมาปรึกษาหารือ วศ. ในการวิจัยพัฒนาการทดสอบคุณภาพสินค้านวัตกรรม การกำหนดคุณลักษณะสินค้านวัตกรรม ตลอดจนการผลักดันสินค้าให้สามารถขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยได้
นพ.รุ่งเรือง กล่าวต่อว่า การยกระดับห่วงโซ่คุณค่าน้ำมันรำข้าว ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำที่มีความเกี่ยวเนื่องและเชื่อมโยงกันเสมือนห่วงโซ่ เป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจจาก “ทำมากแต่ได้น้อย” ไปสู่ “ทำน้อยแต่ได้มาก” ทำให้ได้น้ำมันรำข้าว นวัตกรรมจากน้ำมันรำข้าวที่มีมูลค่าสูง ตลอดจนนวัตกรรมกระบวนการผลิตน้ำมันรำข้าว สามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ขยายตลาดทั้งภายในประเทศและสู่ตลาดโลก เสริมสร้างเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิตประชาชนให้เข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน.
#Thaitabloid#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์#น้ำมันรำข้าว