ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ร่วม อย.ทลายแหล่งผลิต แชมพูกวนมือปลอมสารพัดยี่ห้อกรอกขวดรีไซเคิ้ลขายตลาดนัดทั่วกรุงเทพและปริมณฑล
วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงข่าว ทลายแหล่งผลิตแชมพูสระผม, ครีมนวดผม, ครีมอาบน้ำปลอมยี่ห้อดัง ตระเวณขายตามตลาดนัด ตรวจยึดของกลาง จำนวน 56 รายการ รวมกว่า 779 ชิ้น มูลค่ากว่า 100,000 บาท
พฤติการณ์กล่าวคือ สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ การคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับการแจ้งเบาะแสจากประชาชนให้ตรวจสอบบ้านพักอาศัยที่ลักลอบผลิตแชมพูยี่ห้อต่างๆ ซึ่งเป็นที่นิยมตามท้องตลาดโดยจำหน่ายให้กับประชาชน ตามตลาดนัด และแหล่งชุมชนในราคาถูกเกินกว่าความเป็นจริง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้สืบสวนติดตามจนทราบถึงสถานที่ผลิตสินค้าดังกล่าวจนนำมาสู่การเข้าตรวจค้นในครั้งนี้
ต่อมาวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นำหมายค้นของศาลจังหวัดนนทบุรี เข้าตรวจค้นบ้านพักอาศัย ในหมู่บ้านบัวทอง หมู่ที่ 9 ต.บางรักพัฒนา อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี พบนายดำรงเดช (สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี เป็นผู้นำตรวจค้น ตรวจยึด ผลิตภัณฑ์แชมพู ครีมนวดผม ครีมอาบน้ำ สูตรต่าง ๆ ซึ่งผลิตและเตรียมนำไปจำหน่ายให้ลูกค้า จำนวน 129 ชิ้น , สารตั้งต้นที่ใช้ผลิต อาทิเช่น เคมีภัณฑ์ชนิดผง เหลวใส หัวน้ำหอมและขวดบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว สำหรับเตรียมบรรจุเครื่องสำอางกวนขาย จำนวน 667 ขวด โดยพบยี่ห้อที่ถูกปลอม จำนวน 7 ยี่ห้อ รวมกว่า 159 สูตร ดังนี้
1. แชมพูยี่ห้อ Sunsilk จำนวน 31 ขวด
2. แชมพูยี่ห้อ Loreal Paris Elseve จำนวน 9 ขวด
3. แชมพูยี่ห้อ Head&Shoulder จำนวน 21 ขวด
4. แชมพูสระผมยี่ห้อ PANTENE จำนวน 19 ขวด
5. ครีมนวดผม ยี่ห้อ PANTENE จำนวน 1 ขวด
6. ครีมอาบน้ำ ยี่ห้อ Vaseline จำนวน 9 ขวด
7. ครีมอาบน้ำ ยี่ห้อ Shokubutsu Monogatari จำนวน 16 ขวด
8. แชมพูสระผมยี่ห้อ DOVE จำนวน 20 ขวด
9. ครีมนวดผม ยี่ห้อ DOVE จำนวน 4 ขวด
10. ขวดเปล่าฉลากระบุแชมพูสระผม และครีมนวดผม คละยี่ห้อ จำนวน 467 ขวด
11. ขวดเปล่าครีมอาบน้ำ คละยี่ห้อ จำนวน 200 ขวด
12. เคมีภัณฑ์ ฉลากระบุ ผงข้น ถุงละ 1 กิโลกรัม จำนวน 10 ถุง
13. เคมีภัณฑ์ ฉลากระบุ ฟองเส้น ถุงละ 1 กิโลกรัม จำนวน 5 ถุง
14. เคมีภัณฑ์ ฉลากระบุ KALCOL ถุงละ 1 กิโลกรัม จำนวน 1 ถุง
15. เคมีภัณฑ์ ฉลากระบุ MARCOQUARTA ถุงละ 1 กิโลกรัม จำนวน 1 ถุง
16. เคมีภัณฑ์ใส ใส่ถุงพลาสติก ฉลากระบุ N-70 บรรจุถุงละ 4 กิโลกรัม จำนวน 5 ถุง
17. เคมีภัณฑ์ ฉลากระบุ ขาวขุ่น ถุงละ 0.5 กิโลกรัม จำนวน 2 ถุง
18. หัวน้ำหอม จำนวน 2 ขวด
19. สีสำหรับผสม คละสี จำนวน 7 ขวด
20. ฝาหัวปั้ม จำนวน 70 ชิ้น
21. พลาสติกสำหรับหุ้มขวด จำนวน 40 ใบ
22. อุปกรณ์ในการผลิต ได้แก่ ไม้พาย ถังพลาสติก เหยือก กระบวย หม้อ ไดร์เป่าลมร้อน จำนวน 10 ชิ้น
จากการสอบถาม นายดำรงเดช (สงวนนามสกุล) รับว่า ตนเองจบระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้ศึกษาวิธีการผลิตแชมพูสระผม ครีมนวดผม และครีมอาบน้ำ ด้วยตนเองผ่านยูทูปจนพัฒนาสูตร จนใกล้เคียงกับสินค้าที่ขายตามท้องตลาด จึงได้ทดลองผลิตและจำหน่าย เมื่อได้รับการตอบรับจากลูกค้าดี จึงเพิ่มจำนวนการผลิตมากขึ้น
โดยตนจะซื้อขวดบรรจุภัณฑ์จากร้านรับซื้อของเก่า ในพื้นที่สายไหม ในราคากิโลกรัมละ 50 บาทจากนั้นนำมาทำความสะอาด เพื่อขจัดคราบ และให้ดูเหมือนของใหม่ โดยซื้อวัตถุดิบในการผลิตมาจากร้านขายเคมีภัณฑ์หลายแห่ง ได้แก่ ย่านวงเวียนใหญ่, โรงพยาบาลกลาง และบริเวณตลาดบางบัวทอง โดยผลิตแชมพูโดยการนำ ยาหัวเชื้อ มาเทใส่ในถัง นำผงเข้ม (เกลือ) มาเทผสมเพื่อทำให้ครีมเหนียว โดยใช้น้ำเปล่าจากก็อกน้ำในห้องน้ำมาผสมจนได้เนื้อ สี และกลิ่นเหมือนผลิตภัณฑ์ของจริง จากนั้นนำมาบรรจุลงขวด ซีลพลาสติกใหม่เตรียมส่งขายให้กับลูกค้า โดยการผลิต 1 ถัง จะบรรจุได้ประมาณ 100-120 ขวด ในส่วนครีมอาบน้ำ จะมีขั้นตอนการผลิตโดยนำผงเกล็ดไปต้มน้ำในหม้อหุงข้าวให้ละลาย จากนั้นนำมาใส่ถังผสมเช่นเดียวกับการผลิตแชมพู หลังจากผลิตเสร็จจะนำสินค้าใส่รถยนต์กระบะ ตระเวนขายตามตลาดนัดในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล เช่น ตลาดเพชรเกษม ย่านบางแค กรุงเทพมหานคร, ตลาดระแหง, ตลาดโพหะ, ตลาดอิคคิว จังหวัดนนทบุรี ,ตลาดบ้านโป่ง,ตลาดโพธาราม จังหวัดราชบุรี,ตลาดอ้อมใหญ่ จังหวัดนครปฐม, ตลาดนัดเพนียดท้องช้างเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น โดยติดป้ายโฆษณาเสนอขายในราคาโปรโมชั่น 3 ขวด 100 บาท และขายปลีกแยกเป็นขวด ราคาตั้งแต่ 39-59 บาท ซึ่งของแท้จะขายในราคาที่แพงกว่า 3-4 เท่า โดยอ้างกับลูกค้าว่าเป็นสินค้ามามีตำหนิ ขวดไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพจากโรงงาน และรับว่าได้ผลิตและนำสินค้าออกไปขายสัปดาห์ละ 1 -3 วัน โดยขายได้วันละประมาณ 100-150 ขวด มีรายได้ประมาณเดือนละ 60,000 บาท ทำมาแล้วประมาณ 1 ปี
จากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่เป็นของปลอมนั้นนอกจากจะมีการจำหน่ายในราคาต่ำกว่าราคาจริงแล้ว ตัวอักษรบนขวดบรรจุภัณฑ์จะไม่ชัดเจนเนื่องจากผ่านกระบวนการล้างทำความสะอาด และจะมีซีลพลาสติกหุ้มเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่จากโรงงาน
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 (1) ฐาน “ผลิตเครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้ง” ระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (2) ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้ง” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (3) ฐาน “ผลิตเครื่องสำอางปลอมฝ่าฝืนมาตรา 27(2) ประกอบมาตรา 29 (1) โดยเป็นเครื่องสำอางที่ใช้ฉลากแจ้งชื่อผู้ผลิต หรือแหล่งผลิตที่ไม่ใช่ความจริง” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (4) ฐาน “ผลิตเครื่องสำอางปลอมฝ่าฝืนมาตรา 27(2) ประกอบมาตรา 29 (4) โดยเป็นเครื่องสำอางที่แสดงว่าเป็นเครื่องสำอางที่ได้จดแจ้งไว้ซึ่งมิใช่ความจริง” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (5) ฐาน “ผลิตเครื่องสำอางฉลากแสดงข้อความที่ไม่ตรงต่อความจริง” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ การคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่สืบสวน ขยายผล จนสามารถตรวจยึดเครื่องสำอางปลอมที่ผิดกฎหมายได้
จำนวนมาก
การจับกุมในครั้งนี้พบการลักลอบผลิตแชมพูสระผม, ครีมนวดผม, ครีมอาบน้ำ ปลอมสินค้ายี่ห้อดัง เช่น Sunsilk, head and shoulders, PANTENE, Loreal, Vaseline, Shokubutsu, DOVE เป็นต้น โดยรับซื้อขวดเปล่ามาจากร้านขายของเก่ามาคัดแยก ดูสูตรการทำมาจากยูทูป เมื่อผลิตเสร็จจะนำไปขายตามตลาดนัดต่างจังหวัด โดยอ้างว่าเป็นสินค้าหลุด QC จากโรงงาน จึงขอย้ำเตือนพี่น้องประชาชนว่าก่อนซื้อผลิตภัณฑ์หากพบความผิดปกติ เช่น ฉลากผลิตภัณฑ์ที่เก่าลอก ดูไม่เป็นสินค้าใหม่ กลิ่น สี ผิดไปจากที่เคยใช้ หรือการกล่าวอ้างต่าง ๆ เช่น สินค้าหลุด QC หรือการตัดล็อตใหญ่จากโรงงานเลยนำมาขายในราคาที่ถูกกว่าปกติ หากผู้บริโภคนำสินค้าดังกล่าวไปใช้ อาจมีอาการแพ้ผมร่วง ผิวหนังเป็นผื่นเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ขอแนะนำผู้บริโภคก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพ ควรซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน กรณีซื้อออนไลน์ให้ซื้อจากร้านค้าออนไลน์ที่มีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เรียบร้อยแล้ว สำหรับยา ไม่สามารถซื้อทางออนไลน์ได้ ต้องซื้อจากร้านยา หรือได้รับการตรวจวินิจฉัยและจ่ายจากแพทย์ในสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชนเท่านั้น
ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th และ Line@FDAThai และหาก
พบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ควรตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน อย่าหลงซื้อ เพียงเพราะเห็นแก่ราคาสินค้าที่ถูกกว่าท้องตลาดผิดปกติ โดยอ้างว่าสินค้าราคาถูกเนื่องจากมีตำหนิจากโรงงาน ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น เครื่องสำอาง อาหารเสริม และยา หากขายในราคาถูกเกินกว่าปกติ ให้ระลึกไว้เสมอว่าท่านกำลังเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อการโฆษณาและได้ของปลอม ของไม่มีคุณภาพ ใช้แล้วอาจเกิดอาการแพ้ และขอเน้นย้ำกับผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งหลายว่าอย่านำสินค้าที่ผิดกฎหมายมาจำหน่ายหรือหลอกลวงผู้บริโภคโดยเด็ดขาด หากพบจะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด ทั้งนี้ผู้ที่พบเห็นการกระทำความผิดกฎหมายในลักษณะอื่นใด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน ปคบ.1135 หรือ เพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา
“ผู้ต้องหาหรือจําเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคําพิพากษาถึงที่สุด”