“กรมประมง”เพิ่มกำลังการผลิตจุลินทรีย์ ปม.1,2 บำบัดน้ำเสีย

115

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ตามที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มจากแม่น้ำบางปะกงไหลเข้าพื้นที่ทำการประมงและพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในจ.ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำที่อาศัยในคลองหลักและคลองย่อย เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะรายที่ไม่มีบ่อพักน้ำและมีความจำเป็นต้องสูบน้ำจากคลองเติมลงบ่อ เพื่อชดเชยการระเหยของน้ำในช่วงฤดูร้อน โดยได้มอบหมายให้กรมประมง เร่งสำรวจความเสียหายด้านประมงและช่วยเหลือโดยเร่งด่วน กรมประมงได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบ
ด้านการประมงฯขึ้นทันที เพื่อเร่งสำรวจและรวบรวมจำนวนและรายละเอียดของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อกำหนดมาตรการ แนวทางแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือ และฟื้นฟูเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบอย่างรอบด้านและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

“จากการสำรวจพบเกษตรกรภาคการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่จ.ฉะเชิงเทราได้รับผลกระทบทั้งหมด 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ บ้านโพธิ์ และบางปะกง ขณะที่จ.สมุทรปราการได้รับผลกระทบ 1 อำเภอ คือ อ.บางบ่อ กรมประมงได้จัดทีมนักวิชาการลงพื้นที่ทันทีเพื่อให้ความช่วยเหลือ คำแนะนำ รวมถึงติดตามคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมแจกจ่ายจุลินทรีย์สำหรับบำบัดน้ำเสียในบ่อเลี้ยงให้กับเกษตรกร รวมถึงเพิ่มกำลังการผลิตจุลินทรีย์ ปม.1 จำนวน 25,000 ซอง และหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม.2 กว่า 700 ลิตร เพื่อนำไปขยายสำหรับใช้บำบัดน้ำเสียครอบคลุมพื้นที่กว่า 28,000 ไร่ นอกจากนั้นยังประสานและจัดหาแหล่งรับซื้อผลผลิตสัตว์น้ำในกรณีที่เกษตรกรมีความจำเป็นต้องจับผลผลิตเร่งด่วน และยังได้จัดทำแผนที่แสดงความต้องการใช้น้ำเพื่อการประมงในลำคลองสายต่าง ๆ จากฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร และอ้างอิงตามจุดตรวจวัดคุณภาพน้ำของกรมชลประทาน ซึ่งได้ระบุค่าปริมาณออกซิเจนในน้ำ (DO) และค่าความเค็มที่เหมาะสมต่อการประมงเพื่อให้เกษตรกรสามารถนำข้อมูลมาใช้เปรียบเทียบประกอบการตัดสินใจในการนำน้ำเข้าบ่อเลี้ยงได้แบบ Real time อีกด้วย”


สำหรับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบกรมประมงขอแนะนำแนวทางการจัดการคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ กรณีน้ำเค็มเข้าบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ฉะเชิงเทราและสมุทรปราการ ดังนี้ (1) ตรวจวัดค่าความเค็มของน้ำเป็นระยะ (2) เติมอากาศอย่างเพียงพอต่อความต้องการของสัตว์น้ำ  3. ควบคุมปริมาณอาหารสัตว์ 4. จัดการของเสียเมื่อน้ำในบ่อเลี้ยงลดลงแต่ของเสียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และ(3) จัดการสุขภาพสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยมี 2 สิ่งที่ควรปฏิบัติ คือ เพิ่มภูมิคุ้มกันให้สัตว์น้ำ โดยเฉพาะในภาวะที่สัตว์น้ำมีความเครียด โดยการเสริมด้วยวิตามินโดยใช้ตามวิธีที่ระบุในฉลาก หลีกเลี่ยงการใช้ยาเพื่อป้องกันโรค และควรเลือกใช้อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสม โดยควรเป็นผลิตภัณฑ์ ที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และหมั่นสังเกตพฤติกรรมที่ผิดปกติของสัตว์น้ำ เช่น การลอยหัวเกาะขอบบ่อ การกินอาหารลดลง การว่ายน้ำผิดปกติ มีแผลหรือตกเลือดบริเวณลำตัว ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่กรมประมงในพื้นที่เพื่อเข้าตรวจสอบและพิจารณาจับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดตลาด ออกขายเพื่อลดความเสี่ยง

     อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ภายหลังจากที่สถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ กรมประมงมีแผนในการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำพื้นถิ่นเพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำและคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศในพื้นที่ สำหรับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว ขอให้ติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิดและสามารถติดต่อขอคำแนะนำ

จากเจ้าหน้าที่ของกรมประมงในพื้นที่ เพื่อตรวจติดตามคุณภาพน้ำก่อนนำน้ำเข้าบ่อเลี้ยงเพื่อให้มั่นใจว่าน้ำมีคุณภาพเหมาะสมกับการเลี้ยง โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประมงจ.ฉะเชิงเทรา โทร 0 3851 1852, 09 8550 3343, 06 5504 5055 และสำนักงานประมงจ.สมุทรปราการ โทร 0 2173 0229, 08 1150 0210 และติดตามสถานการณ์คุณภาพน้ำแบบ Real time ผ่านแผนที่ติดตามคุณภาพน้ำคลองประเวศบุรีรมย์โดย Scan QR code ด้านล่าง หรือทางเว็บไซต์ https://www.thaiwater.net/report-salinity

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #ข่าวเกษตรวันนี้ #กรมประมง