มูลนิธิบูรณะนิเวศ เรียกร้องให้รัฐบาลประกาศให้พื้นที่โดยรอบโกดังเก็บกากของเสียอุตสาหกรรมและสารเคมีอันตราย ของบริษัท วิน โพรเสส จำกัด ที่เกิดเพลิงไหม้ เป็นเขตภัยพิบัติทางเคมี แนะควรอพยพชาวบ้านบางส่วนเป็นการชั่วคราว พร้อมให้ยาขับสารพิษแก่ชาวบ้านเนื่องจากต้องทนดมสารพิษ 24 ชม.มาหลายวัน
จากกรณีไฟไหม้โกดังเก็บกากของเสียอุตสาหกรรมและสารเคมีอันตราย ในพื้นที่บริษัท วิน โพรเสส จำกัด ต.บ้านค่าย จ.ระยองก้าวเข้าสู่วันที่ 6 ส่งผลให้ชาวบ้านหนองพะวาและหมู่บ้านใกล้เคียงต้องตกอยู่ในวงล้อมหมอกพิษเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาว ล่าสุดเพจมูลนิธิบูรณะนิเวศ หรือ เอิร์ธ ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานด้านมลพิษจากอุตสาหกรรม และได้เกาะติดกับเหตุการณ์เพลิงไหม้ครั้งนี้ ได้รายงานความคืบหน้าของสถานการณ์ โดยระบุว่าน.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ มีความกังวล หลังได้สำรวจบริเวณพื้นที่โกดัง 5 ในส่วนที่ติดกับสวนยางพาราของชาวบ้าน พบว่ายังมีกลิ่นสารเคมีคละคลุ้งอยู่ในอากาศ มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว
“พื้นที่นี้ต้องมีการประกาศเป็นเขตภัยพิบัติทางเคมี ซึ่งไม่ใช่เขตภัยพิบัติปกติ และน่าจะมีการอพยพชาวบ้านบางส่วนเป็นการชั่วคราว และหน่วยงานสาธารณสุขควรเข้ามาตรวจสุขภาพของชาวบ้าน อย่างน้อยควรมีการให้ยาในการขับสารพิษ เพราะชาวบ้านสูดดมสารพิษตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลาหลายวัน”
จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่อยู่หน้างาน ต่างสะท้อนความกังวลที่เป็นอุปสรรคในด้านข้อมูล เพราะไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลที่เพียงพอ ไม่มีการเปิดเผยผังโรงงาน ไม่มีการชี้แจงให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงทราบว่าบ่อใต้ดินอยู่ตรงส่วนไหนของอาคาร
ทั้งนี้ โกดัง 5 เป็นอาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโรงงานแห่งนี้ และมีกองถังแกลลอนขนาดสองร้อยลิตรจำนวนมากกองทับซ้อนกัน อีกทั้งจากการสำรวจของมูลนิธิฯ เราพบว่า ตัวอาคารมีการขุดหลุม หรือบ่อใต้ดินไว้จำนวนมาก สำหรับเก็บน้ำที่มีความเป็นกรดสูง และน้ำที่มีการปนเปื้อนสารต่างๆ ซึ่งเป็นจุดที่มีความเสี่ยงมากสำหรับเจ้าหน้าที่ดับเพลิง
ก่อนหน้านี้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้เปิดเผยผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณรอบโรงงานวินโพรเสส จ.ระยอง และพื้นที่ชุมชน ในช่วง 300 เมตร ถึง 7 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 ตั้งแต่เวลา 20.20 – 21.25 น. จำนวน 13 จุด ระบุ ยังคงตรวจพบไอระเหยสารเคมีปริมาณเล็กน้อย และมีกลิ่นเหม็น ในพื้นที่ ต. บางบุตร หมู่ที่ 4 และ 8 และ ต. หนองบัว หมู่ที่ 2 3 และ 11 จำนวน 9 ชนิด ได้แก่ #แอมโมเนีย (Ammonia) #ไฮโดรเจนคลอไรด์ (Hydrogen chloride) #โทลูอีน (Toluene) #เอ็มไซลีน (M-Xylene) #ฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) #ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide) #ไนตรัสออกไซด์ (Nitrous oxide) #มีเทน (Methane) และ #ซัลฟูริลฟลูออไรด์ (Sulfuryl fluoride)
ขณะที่วันที่ 26 เมษายน 2567 ในช่วงเช้า เวลา 6.00 – 9.00 น. จำนวน 13 จุด ตรวจพบไอระเหยสารเคมีปริมาณเล็กน้อย ซึ่งเป็นสารที่อยู่ในกลุ่มที่ตรวจพบเมื่อวานนี้ และตรวจพบสารเพิ่มเติม ได้แก่ #เมทิลเมอร์แคปแทน (Methyl Mercaptan) และ #ไนโตรเจนไดออกไซด์ (Nitrogen dioxide) ในพื้นที่ตำบลหนองบัว หมู่ที่ 2 และ 11 และตรวจพบ #เมทิลเมอร์แคปแทน (Methyl Mercaptan) และ #ฟอสจีน (Phosgene) ในหมู่ที่ 3 ซึ่งสารเคมีที่ตรวจพบ อยู่ในระดับที่จะส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ระคายเคืองตาและผิวหนัง
จากข้อมูลของมูลนิธิบูรณะนิเวศ เกี่ยวกับสารทั้ง 3 ตัวที่ คพ. ตรวจพบก่อนหน้านี้ สามารถสรุปได้ดังนี้ #สารอะคริโลไนไตรล์ (Acrylonitrile) กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จัดเป็น “สารเคมีอันตรายสูง” ซึ่งระบุว่า “มีความเสี่ยงที่จะก่อผลกระทบหรือปัญหาสุขภาพเฉพาะที่และความเป็นพิษต่อระบบการทำงานของร่างกาย เช่น ระบบหายใจ ระบบประสาท ระบบสืบพันธุ์ เป็นต้น เนื่องจากการสูดดมไอระเหยของอะคริโลไนไตรล์ซ้ำๆ” และบอกด้วยว่า ผู้ปฏิบัติงานที่เสี่ยงได้รับสัมผัสสารอะคริโลไนไตรล์ “อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง”
#ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide) หรือไซยาไนด์ เมื่ออยู่ในรูปแบบก๊าซจากการเผาไหม้ก็จะเป็นไฮโดรเจนไซยาไนด์ เป็นก๊าซพิษชนิดนี้ไม่มีสี แต่มีกลิ่นฉุน และสามารถส่งผลกระทบรุนแรงต่อร่างกาย แบ่งเป็น พิษเฉียบพลัน เช่น อาการหายใจติดขัด เลือดไหลเวียนผิดปกติ สมองบวม หัวใจหยุดเต้น ชัก และหมดสติ และสามารถเสียชีวิตได้ในเวลา 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง หากได้รับในปริมาณเล็กน้อยแต่ต่อเนื่องยาวนาน อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม เกิดผื่นแดง และอื่นๆ ส่งผลให้รูม่านตาขยาย อ่อนแรง หายใจแผ่ว ตัวเย็น เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้
#สารเมทิลเมอร์แคปเทน (Methyl Mercaptan) จัดเป็นหนึ่งในกลุ่มสารที่ทำให้เกิดกลิ่น ซึ่งใช้เป็นสารเติมกลิ่นในก๊าซหุงต้ม และใช้ในยาปราบเชื้อรา ผลกระทบทางสุขภาพคือ “มีพิษมากต่อระบบประสาทส่วนกลาง หากได้กลิ่นรุนแรงต้องระวัง”
(ขอบคุณข้อมูลและภาพจากเพจมูลนิธิบูรณะนิเวศ)