พด.มุ่งพัฒนาศักยภาพดินในพื้นที่ปลูกพืช GI

255

กรมพัฒนาที่ดินบริหารจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืนในพื้นที่ปลูกพืช GI เพื่อส่งเสริมเกษตรกรเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรพื้นถิ่น และผลักดันการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มมากขึ้น




นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ ที่ให้ความสำคัญและเดินหน้าผลักดันโครงการ 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง โดยส่งเสริมให้เกษตรกรนำอัตลักษณ์พื้นถิ่นของไทยมาเป็นผลิตภัณฑ์การเกษตร โดยเฉพาะพืชท้องถิ่นที่สำคัญ และมีเอกลักษณ์เฉพาะ หรือพืชบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา นำไปสู่การขยายพื้นที่ปลูก ทำให้สินค้าเกษตรพื้นถิ่นมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งตั้งเป้าให้ทุกจังหวัดมีสินค้า GI เป็นของตนเอง โดยกองสำรวจดินและวิจัยทรัพยากรดิน ได้สำรวจพื้นที่ ลักษณะ และสมบัติของชุดดิน เก็บตัวอย่างดิน วิเคราะห์ดิน เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลทรัพยากรดินและแนวทางการจัดการดินในพื้นที่ ปลูกพืช GI รายชนิดพืช ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้ทราบสถานภาพทรัพยากรดินและศักยภาพของดินในพื้นที่ อีกทั้งบ่งชี้สถานะของดินที่มีการปลูกพืชให้มีคุณภาพดี




นายปราโมทย์ กล่าวว่า ฐานข้อมูลสารสนเทศและสถานการณ์ของทรัพยากรดินในพื้นที่เพาะปลูกพืช GI กองนโยบายและแผนการใช้ที่ดิน จะนำมาวิเคราะห์และประเมินคุณภาพที่ดิน ทั้งระดับความต้องการปัจจัยของพืช GI และสภาพภูมิอากาศ เพื่อจัดชั้นความเหมาะสมของที่ดินสำหรับปลูกพืช GI ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อจัดทำเขตการใช้ที่ดินสำหรับการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืช GI พร้อมจัดทำเขตเหมาะสมมากสำหรับปลูกและขยายพื้นที่ปลูกพืช GI ต่อไป โดยดำเนินการแล้วกว่า 40 ชนิดพืช อาทิ ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟ จ.บุรีรัมย์ มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ทุเรียนภูเขาไฟ จ.ศรีสะเกษ เป็นต้น และในปี 67 ดำเนินการอีก 11 ชนิดพืช ประกอบด้วย กล้วยไข่ จ.กำแพงเพชร ลิ้นจี่แม่ใจ จ.พะเยา มะยงชิด จ.นครนายก ส้มโอขาวแตงกวา จ.ชัยนาท สับปะรดนางแลและสับปะรดภูแล จ.เชียงราย สับปะรดทอง จ.ระยอง สับปะรดตราดสีทอง จ.ตราด สับปะรดศรีราชา จ.ชลบุรี มะม่วงน้ำดอกไม้บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา และมะม่วงน้ำดอกไม้ จ.สระแก้ว

ทั้งนี้ กรมฯจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จตามที่กรมทรัพย์สินทางปัญญากำหนด เพื่อให้การผลิตพืช GI มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ได้รับความคุ้มครองพื้นที่เกษตรให้สามารถปลูกพืชตรงตามศักยภาพ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับเกษตรกร สามารถสร้างรายได้และช่วยกันคุ้มครองพื้นที่เกษตรให้สามารถผลิตพืชได้อย่างยั่งยืนต่อไป