รรท.ผบ.ตร.เตือน ‘สส.โรม’ แฉข้อมูล “พล.ต.ต.” เอี่ยวกาสิโนประเทศเพื่อนบ้าน ต้องมีหลักฐานชัดเจนหากไม่จริงระวังถูกฟ้องกลับ ส่วนกรณี ‘รองฯโจ๊ก’ ตอบไม่ชัดรายงานตัวต้องคดีกับใคร
วันที่ 5 เม.ย.67 พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เผยถึงกรณีกรณีที่ นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้อภิปรายว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจยศ”พล.ต.ต.” เข้าไปเป็นหุ้นส่วนกับบ่อนกาสิโนในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งส่งผลให้การปราบปรามขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศเพื่อนบ้านที่ทำให้มีคนไทยจำนวนมากตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ไม่สามารถทำได้อย่างจริงจังนั้น
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า หากมีข้อมูลเกี่ยวกับข้าราชการตำรวจที่กระทำผิดก็สามารถแจ้งข้อมูล หลักฐานหลักฐานที่ชัดเจนมาได้ ซึ่งตำรวจมีกระบวนการตรวจสอบ เช่น คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) เพื่อสืบสวนและดำเนินการทั้งทางอาญาและวินัย ส่วนที่มีการระบุเป็นชื่อย่อนั้นก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับบุคคลดังกล่าวด้วย ย้ำว่าการให้ข้อมูลในเรื่องใดก็ตามผู้พูดต้องรับผิดชอบ หากมีหลักฐานในการร้องเรียน กร.ตร.ก็พร้อมตรวจสอบ แต่หาก กล่าวหาโดยไม่มีพยานหลักฐานผู้ถูกพาดพิงก็สามารถใช้สิทธิ์ดำเนินคดีตามกฎหมายได้ แต่ หากมีการร้องเรียนมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็จะมีจเรตำรวจแห่งชาติที่จะดำเนินการตามกฎ ก.ตร. และตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ 2565 ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย
พล.ต.อ.กิตตื์รัฐ ยอมรับว่าภาพลักษณ์ของตำรวจที่ติดลบนั้นเป็นเรื่องจริง และการมีข่าวข้าราชการตำรวจพัวพันกับสิ่งผิดกฎหมายนั้นก็เป็นเรื่องที่ส่งกระทบกับภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะทำให้ตำรวจถูกเหมารวม แต่ยืนยันว่า ข้าราชการตำรวจที่ดีนั้นมีจำนวนมาก ส่วนกรณีที่รัฐบาลมีแนวคิดจะผลักดันบ่อนกาสิโนถูกกฎหมายในประเทศไทยนั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องระดับนโยบาย ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ถ้าหากประกาศเป็นกฎหมายตำรวจ ในฐานะผู้ปฏิบัติก็พร้อมจะปฏิบัติตาม
สำหรับความคืบหน้ากรณี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ภายหลังจากถูกออกหมายจับในข้อหาฟอกเงินและได้เข้ามอบตัวที่สถานีตำรวจนครบาลเตาปูน เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมานั้น ผู้สื่อข่าวได้สอบถามว่า ขณะนี้พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ถือว่าเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของพลตำรวจเอกกิตติ์รัฐหรือไม่ และหากต้องรายงานตัวต้องคดีอาญาต้องรายงานตัวกับรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือรายงานตัวกับสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมยืนยันว่า การบังคับบัญชาอยู่ที่สำนักนายกรัฐมนตรีชัดเจน แต่การเป็นผู้บังคับบัญชาตามกฎหมายนั้นคือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่ย้ำว่าไม่ใช่ตนเอง ซึ่งตำรวจตั้งแต่ระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จเรตำรวจแห่งชาติลงไปจนถึงตำรวจทั้งหมดถือเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดังนั้น การรายงานตนต้องคดีตามระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ผู้ถูกกล่าวหาและต้องคดีอาญานั้นจะต้องรายงานตนต้องคดีภายใน 7 วัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ต้องคดีอาญาต้องปฏิบัติ