กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 36.00-36.70 ลุ้นข้อมูลจ้างงานสหรัฐฯ

153

 กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 36.00-36.70 เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 36.39 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 36.24-36.54 โดยเงินดอลลาร์ปรับตัวไร้ทิศทางเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางด้านค่าเงินเยนลดความผันผวนลงขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กระทรวงการคลัง และสำนักงานบริการทางการเงินของญี่ปุ่นจัดประชุมฉุกเฉิน หลังเงินเยนร่วงลงแตะระดับต่ำสุดรอบ 34 ปี ท่าทีของทางการญี่ปุ่นบ่งชี้ว่าพร้อมที่จะเข้าแทรกแซงตลาด โดยระบุว่านักเก็งกำไรอาจอยู่เบื้องหลังการอ่อนค่าของเงินเยน และทางการจับตาดูความเคลื่อนไหวในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดและจำเป็นเร่งด่วน และต้องการให้ค่าเงินเคลื่อนไหวสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน โดยการปรับตัวอย่างรวดเร็วถือเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนา อนึ่ง การซื้อขายสกุลเงินหลักซึมลงท้ายสัปดาห์ขณะเข้าสู่ช่วงเทศกาล Easter ขณะที่ เงินบาทแตะระดับอ่อนสุดรอบ 5 เดือนครั้งใหม่ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทย 113 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตรสุทธิ 14,758 ล้านบาท ส่วนในไตรมาสแรกของปีเงินบาทอ่อนค่าลงถึง 6.4% โดยเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่ามากที่สุดของภูมิภาคเอเชียไม่รวมญี่ปุ่น

         สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนจะติดตามข้อมูล ISM ภาคการผลิตและบริการ รวมถึงการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมี.ค.ของสหรัฐฯ หลังตัวเลขเงินเฟ้อ PCE เดือนก.พ.ออกมาตรงตามการคาดการณ์ของตลาด ขณะที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)แสดงท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้เกี่ยวกับจังหวะเวลาที่เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ย และให้น้ำหนักกับภาวะตลาดแรงงานอย่างชัดเจนมากขึ้นในการตัดสินใจด้านนโยบาย ทำให้ข้อมูลสัปดาห์นี้มีความสำคัญต่อการคาดการณ์ดอกเบี้ยเฟดในระยะถัดไป

         สำหรับปัจจัยในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมี.ค.ยังติดลบต่อเนื่อง ส่วนธปท.รายงานเศรษฐกิจไทยเดือนก.พ.ขยายตัวต่ำ โดยภาคบริการเติบโตแต่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยับขึ้นจากเดือนก่อนหน้า การส่งออกไม่รวมทองคำลดลง ขณะที่บัญชีเดินสะพัดเดือนก.พ.เกินดุล 2 พันล้านดอลลาร์ ธปท.ประเมินว่าเศรษฐกิจเดือนมี.ค. ยังได้รับแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวแต่ต้องติดตามการฟื้นตัวของการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ส่วนหนี้ครัวเรือน ณ สิ้นไตรมาส 4/66 คิดเป็น 91.3% ของจีดีพี เทียบกับ 91.0% สิ้นไตรมาส 3/66