สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดเหตุความไม่สงบในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาสและสงขลา คืนเดียว 44 จุดทั้งระเบิด เผาและทำลายทรัพย์สินของรัฐและเอกชน ถ้าวัดจากความรู้สึกของคนทั่วไปอาจจะรู้สึกกลัว หวาดผวาว่าเป็นพื้นที่อันตราย
แต่คนในพื้นที่จะรู้สึกชินชา เพราะคนส่วนใหญ่ต่างปักใจเชื่อว่าสถานการณ์ความไม่สงบตลอดเวลากว่า 20 ปี คือการเลี้ยงไข้ของ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อถลุงงบประมาณของแผ่นดินที่ทุ่มลงไปปีละนับหมื่นล้าน
หากตั้งคำถามว่าทำไมคนในพื้นที่ถึงเชื่อแบบนั้น มีตรรกะหรือเหตุผลหรือปรากฏการณ์อะไร ?
ขอย้อนอดีตนับแต่เกิดเหตุคนร้ายบุกปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์หรือค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อเช้ามืดวันที่ 4 มกราคม 2547 คนร้ายขโมยปืนไปกว่า 413 กระบอก ยิงทหารเวรเสียชีวิต 4 นาย ไฟใต้เริ่มคุโชนมาโดยตลอด
ต่อมากลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่เผด็จทหารนำโดยพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และเผด็จการทหารนำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้ยึดอำนาจนายทักษิณ ชินวัตร และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยคณะรัฐประหารทั้ง 2 คณะต่างอ้างว่าจะดำเนินนโยบายดับไฟใต้ให้มอดสนิท สุดท้ายเป็นเพียงวาทะกรรม เพราะยุคเผด็จการเรืองอำนาจไฟใต้ยังคุโชนเหมือนเดิมแถมบางจังหวะหนักกว่าเดิม ขณะที่นักวิชาการบางคน ผู้นำศาสนาในพื้นที่และนักการเมืองในพื้นที่ บางคนมองว่ารัฐบาลแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เพราะปัญหา 3 จังหวัดชายแดนมีความซับซ้อนทั้งเรื่องศาสนาและเชื้อชาติ
แต่ในมุมของชาวบ้านทั้งไทยและพุทธ กลับมองว่าเรื่องศาสนาและเชื้อชาติ เป็นปัญหาที่ไม่ใหญ่นัก แต่ปัญหาใหญ่คือผลประโยชน์ที่ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ทั้งข้าราชการ นักการเมืองและผู้นำศาสนาบางคนนั่งทับอยู่มากกว่า ซึ่งเหตุปล้นปืนเกิดขึ้นหลังนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.)ตั้งมาตั้งแต่ปี 2524 เป็นหน่วยงานคุมการบริหารจัดการในพื้นที่ทั้งหมด โครงสร้างประกอบด้วยทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และผู้นำศาสนา
หลังยุบศอ.บต.เกิดเสียงวิจารณ์ว่ารัฐบาลได้ทลายห้างผลประโยชน์ที่คน ศอ.บต.บางกลุ่ม นั่งทับอยู่ไม่ว่าจะเป็น น้ำเถื่อน ยาเสพติด สินค้าหนีภาษี ที่ขนผ่านแดน รวมถึงงบประมาณที่ทุ่มแบบไม่อั้นถูกยกเลิกไป เมื่อห้างถูกทลาย จากคนเคยนั่งเบนซ์กลับมานั่งสามล้อแทน ยอมเกิดความไม่พอใจแน่นอน
อดีตนักการเมืองในนราธิวาสคนหนึ่งเล่าว่าเส้นทางลำเลียงสินค้าเถื่อนทั้งจากไทยไปมาเลเซีย จากมาเลเซียเข้าไทย ล้วนต้องเคลียร์กับคนศอ.บต.บางกลุ่ม ถ้าเกิดระเบิดเส้นทางรถไฟหรือระเบิดใกล้ชายแดนคราใดมั่นหมายถึงว่ายาเสพติดบิ๊กล็อตถูกลำเลียงออกไปแล้ว การก่อเหตุระเบิดเพียงเพื่อเบี่ยงความสนใจของเจ้าหน้าที่ให้มุ่งไปที่เกิดเหตุมากกว่า
ช่วงที่ไร้ ศอ.บต.เหตุความไม่สงบเกิดขึ้นต่อเนื่อง จนรัฐบาลต้องหันมาตั้งศอ.บต.อีกครั้งในปี 2552 แต่เหตุความสงบยังเกิดเป็นระลอก รัฐบาลต้องทุ่มงบประมาณจำนวนมากเพื่อแก้ปัญหา แต่สถานการณ์ยังเกิดเป็นระยะไม่สมดุลกับงบประมาณที่ทุ่มลงไป
เมื่อเวลาทอดมากว่า 10 ปี งบประมาณกยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนสร้างความกังขาให้ชาวบ้านในพื้นทื่อย่างมาก เพราะงบประมาณหลายโครงการใช้อย่างไร้ค่า แต่ข้าราชการที่เกี่ยวข้องกลับกระเป๋าตุง
เหตุการณ์ใหญ่ๆหลายเหตุการณ์ อาทิ เหตุการณ์คนร้ายนำธงชาติมาเลเซีย ขึงตามเสาไฟฟ้า สถานที่ราชการ จำนวน 101 แห่ง แต่ทหารและตำรวจไม่สามารถจับกุมคนร้ายได้แม้แต่คนเดียว ซึ่งไม่แตกต่างกับเหตุป่วน 44 จุดช่วงเวลา 01.00 น.วันที่ 22 มีนาคม ประกอบด้วย ยะลา 12 จุด ในพื้นที่หลายอำเภอ อาทิ เผาเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ เผาโรงบรรจุแก๊ส และเผาโรงงานยางพารา เป็นต้น ปัตตานี 23 จุด ในหลายอำเภอ มีทั้งเผาร้านสะดวกซื้อ เผาเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ และเผาห้องพักรายวัน เป็นต้น จ.นราธิวาส 7 จุด เผากล้องวงจรปิด เผาโรงงานดินขาว และวางเพลิงในเหมืองแร่ เป็นต้น จ.สงขลา 2 จุด เพลิงไหม้เสาสัญญาณโทรศัพท์ ต.คูหา อ.สะบ้าย้อย และ ต.ปากบาง อ.เทพา
หลังเกิดเหตุทหารและตำรวจ ไม่สามารถจับกุมคนร้ายหรือผู้ก่อเหตุได้แม้แต่คนเดียว ทั้งที่พื้นที่เกิดเหตุหลายแห่งอยู่ห่างจากจุดตรวจของทหารและตำรวจมากนัก เสมือนไปตอกย้ำความรู้สึกของชาวบ้านที่มีความรู้สึกว่า ทหาร ตำรวจ ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึง ศอ.บต.เลี้ยงไข้ เพียงเพื่อผลประโยชน์มากกว่าจะต้องการให้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่กันอย่างสงบจริงๆ
เพื่อให้เกิดความกระจ่างว่าทำไมชาวบ้านรู้สึกว่านี่คือการเลี้ยงไข้ คอลัมน์ดาวดำ จะฉายภาพบริเวณที่เกิดเหตุให้เห็นว่าถ้าเจ้าหน้าที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่จริง ต้องจับกุมคนร้ายอย่างน้อย 2-3 เหตุการณ์ !!!