เลขาธิการ ป.ป.ส. ร่วมประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เผยผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำในเวทียาเสพติดโลก
พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมสมัยสามัญในห้วงการประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด (Commission on Narcotic Drugs: CND) สมัยที่ 67 ระหว่าง วันจันทร์ที่ 18 – วันศุกร์ที่ 22 มีนาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติกรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย เพื่อติดตามสถานการณ์ยาเสพติดของประเทศสมาชิกและภูมิภาคต่าง ๆ และทบทวนการดำเนินงานตามพันธกรณีที่มีต่อนโยบายการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ โดยมีผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด และกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมการประชุมฯ
โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 18 มีนาคม 2567 เวลา 13.30 น. ตามเวลากรุงเวียนนา เลขาธิการ ป.ป.ส. ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในกิจกรรมคู่ขนานหัวข้อ “Navigating the Shadows: Understanding the Challenges of Illicit Drug Production and Trafficking in the Mekong” ซึ่งจัดขึ้นโดย สปป.ลาว ภายใต้ความร่วมมือกรอบบันทึกความเข้าใจ 7 ฝ่าย ว่าด้วยการควบคุมยาเสพติดในอนุภูมิภาค ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา จีน ลาว เมียนมาร์ ไทย และเวียดนาม โดยมีสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) เป็นฝ่ายเลขานุการ เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้กล่าวขอบคุณ สปป.ลาว ที่เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมคู่ขนานฯ รวมถึงประเทศสมาชิกทุกประเทศที่ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติดในอนุภูมิภาคอย่างเข้มแข็งและยาวนานกว่า 30 ปี รวมถึงจีนที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีเมื่อเดือนกันยายน 2566 และได้ประกาศเพิ่มการสนับสนุนงบประมาณการดำเนินกิจกรรมภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจ 7 ฝ่ายฯ โดยเน้นย้ำความสำคัญของการแก้ไขปัญหายาเสพติดในอนุภูมิภาคและพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ พร้อมเสนอให้เพิ่มความพยายามในการเฝ้าระวังและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเพื่อป้องกันการรั่วไหลของเคมีภัณฑ์และสารตั้งต้นไปสู่แหล่งผลิตในอนุภูมิภาค เน้นย้ำความสำคัญของบทบาท UNODC และคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ (International Narcotics Control Board: INCB) ในการสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพของประเทศสมาชิกทั้งด้านการบังคับใช้กฎหมาย การตรวจพิสูจน์ยาเสพติด การจัดการกับยาเสพติดและสารเคมีที่จับกุมได้อย่างปลอดภัย และการพัฒนาทางเลือก พร้อมทั้งยืนยันความมุ่งมั่นของไทยในการสนับสนุนและร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านกลไกต่าง ๆ ที่มีอยู่
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ใช้โอกาสการเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด สมัยที่ 67 เผยแพร่การดำเนินงานด้านการพัฒนาทางเลือกของไทย โดยได้ประชาสัมพันธ์การจัดโครงการสัมมนานานาชาติของมูลนิธิโครงการหลวง ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันจันทร์ที่ 2 – วันพุธที่ 4 ธันวาคม 2567 ณ จังหวัดเชียงใหม่
นอกจากนี้ หม่อมหลวง ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยังได้เข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนานของเยอรมัน หัวข้อ “ยาเสพติดและสิ่งแวดล้อม: การมุ่งสู่นโยบายยาเสพติดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมากขึ้น” (Drugs and the Environment: Towards More Environment Friendly and Sustainable Drug Policies)
จากนั้น เวลา 15.30 น. ตามเวลากรุงเวียนนา เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้หารือทวิภาคีกับ ผู้อำนวยการสำนักปราบปรามยาเสพติดและองค์กรอาชญากรรม สำนักงานอัยการสูงสุด และอธิบดีกรมสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อเสริมสร้างและสานต่อความร่วมมือในการแก้ไขปัญหายาเสพติดร่วมกันในมิติด้านการปราบปราม รวมถึงการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ประสานงานระหว่างกันและการสืบสวนขยายผลในการติดตามตัวผู้ต้องหา รวมถึงการส่งตัวผู้ต้องหาชาวเกาหลีกลับประเทศ
นอกจากนี้ ผู้แทน สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ร่วมหารือทวิภาคีกับโคลอมเบีย พร้อมด้วยผู้แทนมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเผยแพร่ความสำเร็จ
ของประเทศไทยในการใช้แนวทางพัฒนาทางเลือกแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งจากบทเรียนการใช้การพัฒนาทางเลือกแก้ไขปัญหาพืชเสพติดบนพื้นที่สูงและยาเสพติดชนิดสังเคราะห์ในบริบทชุมชนเมือง โดยฝ่ายโคลอมเบียให้ความสนใจเกี่ยวกับกลไกในการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาทางเลือก