ตม.สนามบิน จับมือสายการบิน ลดปัญหาผู้โดยสารถูกยกเลิกเที่ยวบิน สนอง “Aviation Hub เศรษฐา”

589

ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเมื่อ 1 มี.ค.2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล ตั้งเป้าหมายยกระดับสนามบินสุวรรณภูมิ เป็น Aviation Hub ของภูมิภาค ให้สามารถติด 1 ใน 50 ลำดับสนามบินดีที่สุดของโลกให้ได้ภายใน 1 ปี จากที่ตกไปอยู่อันดับ 68 ของโลก ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทาง โดยเฉพาะที่สนามบินสุวรรณภูมิ ให้เกิดความประทับใจ และล่าสุดวันนี้ (15 มี.ค.2567)นายกรัฐมนตรีได้เปิดประชุม Iginte Thailand Tourism ระดมความเห็นผู้มีส่วนได้เสียจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่หอประชุมสิริกิตติ์

ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า มีข่าวสายการบินหลายสายการบินที่เครื่องบินเกิดการขัดข้อง ไม่สามารถขึ้นบินได้ตามกำหนดจนต้องยกเลิกเที่ยวบิน และปรับเปลี่ยนเที่ยวบินใหม่ จนส่งผลกระทบต่อคนโดยสารที่ผ่านการตรวจคนเข้าเมืองขาออกแล้ว แต่ต้องกลับเข้าไปพักภายในประเทศ หรือต้องยกเลิกคืนเงินแก่คนโดยสาร ดังเช่น สายการบินต่างประเทศบางสายการบิน ที่ต้องยกเลิกเที่ยวบิน จนคนโดยสารโวยตรงจุดตรวจบัตรโดยสาร และปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนแขนงต่างๆ โดยเฉพาะเผยแพร่ทางโซเชียล ในช่วงเดือนที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2567 พล.ต.ต.เชิงรณ ริมผดี ผบก.ตม.2 ได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าว ถึงการแก้ปัญหากรณีเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวในส่วนของการบริหารจัดการของ ตม.ว่า เดิมสายการบินจะนำคนโดยสารที่ประทับตราขาออกจาก ตม.ไปแล้ว มาทำการยกเลิกตราขาออก โดยต้องทำทีละคนจนครบทั้งลำ บางลำมีคนโดยสารกว่า 300 คน โดยรวมต้องใช้เวลากว่า 3-4 ชั่วโมง เพื่อยกเลิกตราขาออก แล้วรับสัมภาระกลับเข้าเมืองไป และเมื่อเครื่องบินสามารถบินต่อไปได้ สายการบินก็ต้องนำคนโดยสารมาประทับตราขาออกที่ ตม.อีกครั้ง ทำให้คนโดยสารที่เดินทางไม่ได้ นอกจากจะเสียความรู้สึกจากการเลื่อนเที่ยวบินแล้ว ยังเสียเวลาจากกระบวนการดังกล่าว ซ้ำร้ายยังเพิ่มปริมาณคนโดยสารหนาแน่นปะปนกับคนเดินทางเข้าออกประเทศภายใต้พื้นที่จำกัดที่แออักอยู่แล้ว ให้แออัดไปอีก

พล.ต.ต.เชิงรณ ฯ เปิดเผยว่า ปกติมีเที่ยวบินที่ต้องยกเลิกประมาณวันละ 1-2 เที่ยวบิน โดยในเดือน ก.พ.-13มี.ค.2567 มีการยกเลิกเที่ยวบินไปแล้ว 17 เที่ยวบิน มีคนโดยสารได้รับผลการทบจำนวน 4,205 ราย ซึ่งแม้ปัญหาดังกล่าวจะไม่ได้เกิดจาก ตม. แต่ก็จำเป็นต้องช่วยบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้นแก่คนโดยสาร ให้ได้รับความสะดวกที่สุด

ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงได้มีการเชิญผู้แทนสายการบินต่างๆ ในสนามบินสุวรรณภูมิ ร่วมประชุมหารือเพื่อแก้ปัญหา โดยมีนายธีระ บัวศรี ประธานคณะกรรมการธุรกิจการบินกรุงเทพ หรือ BKK AOC และนายสถานีสายการบินต่างๆร่วมประชุม และได้ข้อสรุปว่า หากเกิดเหตุเครื่องบินขัดข้องต้องยกเลิกหรือเลื่อนเที่ยวบินเป็นเวลานาน ทางสายการบินจะมีการแยกประเภทคนโดยสาร ออกเป็นประเภทต่างๆดังนี้

(1) กรณี คนโดยสารที่ บินมาแวะเปลี่ยนเครื่อง หรือผ่านลำที่ไทย Transit หรือ Transfer
(2) กรณี คนโดยสารที่ เพิ่งเดินทางออกจากไทย และหมดระยะเวลาอนุญาตตามวีซ่า หรือเข้าข่าย overstay หรือเสี่ยงต่อ overstay
(3) กรณีคนโดยสารที่ เพิ่งเดินทางออกจากไทย และประสงค์จะยังคงใช้การเดินทางตามที่สายการบินที่เกิดปัญหากำหนดไว้

โดยทั้ง 3 กลุ่มนี้ ทางสายการบินจะประสานฝ่ายพิธีการตรวจคนเข้าเมือง เพื่อรวบรวมหนังสือเดินทางให้ทาง ตม.เก็บรักษาชั่วคราว และดำเนินการให้สายการบินนำคนโดยสารเข้าประเทศไปยังที่พัก เพื่อรอการเดินทางในเที่ยวบินต่อไปที่จัดให้ โดยไม่ต้องเสียเวลารอคิวยกเลิกตราขาออก และเสียเวลารอคิวประทับตราขาออกใหม่อีกครั้งเมื่อสามารถเดินทางในเที่ยวบินที่จัดให้ต่อไปได้ ซึ่งจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนแก่คนโดยสาร ให้สามารถเข้าที่พักได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และยังลดความหนาแน่นในพื้นที่ตรวจคนเข้าเมืองได้ด้วย

ส่วนคนโดยสารที่ไม่อยากเดินทางกับสายการบินที่ยกเลิก เพื่อซื้อตั๋วเดินทางกับสายการบินอื่น หรือยกเลิกการเดินทาง และมีสิทธิ์วีซ่าเข้าประเทศ หรือเป็นคนถือหนังสือเดินทางไทยอยู่แล้ว ก็จะจัดเจ้าหน้าที่ ตม.ยกเลิกตราขาออกให้

พล.ต.ต.เชิงรณ ฯ ยอมรับว่า การใช้มาตรการนี้ อาจเพิ่มภาระให้กับสายการบิน โดยเฉพาะสายการบินขนาดเล็กที่มีพนักงานจำกัด และเจ้าหน้าที่ ตม.บางส่วน แต่จะเป็นประโยชน์กับคนโดยสารโดยรวมที่จะได้รับความสะดวกคล่องตัวยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นความสำคัญลำดับแรก ที่สายการบิน และ ตม.ต้องแก้ปัญหาให้คนโดยสาร เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีในการบริหารสถานการณ์ของระบบการบินตามนโยบายนายกรัฐมนตรี

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #AviationHub #เศรษฐา