เคทีซีเปิดเวทีเสวนา “เคทีซีปลุกกระแสท่องเที่ยวยั่งยืนจากไทยสู่เวทีโลก” อุตสาหกรรมการบินและผู้ประกอบการโรงแรม พร้อมปรับตัวรับเทรนด์การท่องเที่ยวยั่งยืน แนะภาครัฐหามาตรการจูงใจสายการบิน เปลี่ยนใช้เชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ขณะที่หน่วยงานท้องถิ่นเดินหน้าสร้างการท่องเที่ยวยั่งยืนครอบคลุมเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมชูโมเดลการท่องเที่ยวประเทศสวิตเซอร์แลนด์ตัวอย่างการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ด้านเคทีซีร่วมกับพันธมิตรจัดกิจกรรมพิเศษพร้อมสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตลอดทั้งปี
นายยงยุทธ ลุจินตานนท์ ผู้จัดการภูมิภาคประจำประเทศไทย ลาว กัมพูชา และ เมียนมาร์ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (lATA: International Air Transportation Association) กล่าวในเวทีเสวนา “เคทีซีปลุกกระแสท่องเที่ยวยั่งยืนจากไทยสู่เวทีโลก” ว่า IATA ทำงานร่วมกับสายการบินทุกสายในการพัฒนาธุรกิจการบินให้เกิดความยั่งยืนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ทั่วโลกภายในปี 2593 โดยเป้าหมาย Net Zero ดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5องศาเซลเซียส โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมการบินได้เห็นความสำคัญของเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF แต่การเปลี่ยนมาใช้ SAF สายการบินจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 2 – 5 เท่า ดังนั้นหากรัฐบาลสามารถรับรองเครื่องบินและเครื่องยนต์ใหม่เพื่อให้สามารถใช้ SAF ได้ 100% และพิจารณาการใช้สิทธิพิเศษจูงใจในการสนับสนุนการใช้ SAF ในอุตสาหกรรมการบินได้ อาจส่งผลให้ทุกสายการบินเปลี่ยนมาใช้ SAF ได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้นโดยไม่กระทบต่อต้นทุนมากนัก
นางสาวเคอรี่ ลุย ผู้จัดการประจำประเทศไทยและเมียนมาร์ สายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค เปิดเผยว่า การเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญของคาเธ่ย์เสมอมาเนื่องจากเป้าหมายของแบรนด์คือการขับเคลื่อนผู้คนไปข้างหน้าในชีวิต เรามุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง และบุกเบิกเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมการบินให้มากขึ้น เราดำเนินหลากหลายวิธีการเพื่อที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้บรรลุเป้าหมายในการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 และนำไปสู่การเดินทางที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ โดยมีโครงการที่สำคัญ เช่น โครงการชดเชยคาร์บอนที่ดำเนินการโดยการคำนวณการปล่อยคาร์บอน (Fly Greener) / โครงการเพิ่มประสิทธิภาพของอากาศยานและการทำงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน (Corporate Sustainable Aviation Fuel) / การใช้ปลอกหมอนและผ้านวมทำจากผ้าฝ้ายที่ยั่งยืน 100% ในชั้นธุรกิจ การใช้ผ้าห่มที่ทำจากขวดพลาสติกรีไซเคิลและพรมจากวัสดุเหลือใช้ไนลอนที่นำกลับมาใช้ใหม่ การลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวบนห้องโดยสารบนเครื่องบินชั้นประหยัด โดยในปี 2565 สายการบิน ฯ สามารถลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวได้ถึง 56% ต่อผู้โดยสาร 1 คน และจะยังคงลงมือทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนต่อไปในปี 2567
สายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค ได้ดำเนินการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นฟื้นฟูถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ ตลอดจนรับมือกันแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยสายการบินฯ ได้ปลูกต้นไม้ที่ป่าชายเลนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาตั้งแต่ปี 2564 เป็นจำนวนกว่า 21,000 ต้น และในปี 2567 นี้ สายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค ในประเทศไทยก็จะร่วมมือกับเคทีซีในการปลูกต้นไม้ที่ป่าชายเลนในจังหวัดสมุทรปราการจำนวน 4,000 ต้น
ดร.วาสนา พงศาปาน ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า อพท. ดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้และกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนท้องถิ่น โดยทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ โดยบูรณาการและร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน มีความสมดุลใน 3 มิติ ทั้ง“เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม” ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วม Co-creation & Co-own ขณะนี้มี 9 พื้นที่พิเศษฯ ที่ได้รับการประกาศแล้ว ซึ่ง อพท. ได้นำหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานสากลมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและเกิดผลเป็นรูปธรรมแล้ว ได้แก่
1) เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) ใช้พัฒนาและยกระดับแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษฯ จนได้รับรางวัล Green Destinations Top 100 Storiesแล้ว 5 แห่ง
2) ร่วมขับเคลื่อนเมืองสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UCCN) เพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แล้ว 4 เมือง
3) ส่งเสริมมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (STMS) ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว 86 องค์กร
4) เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community-Based Tourism หรือ CBT Thailand) ได้พัฒนาและเพิ่มศักยภาพให้แก่ชุมชน CBT เข้าสู่กระบวนการพัฒนาและด้านการตลาด รวมถึงเครื่องมือการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) มาอย่างต่อเนื่องและในปี 2567 ตั้งเป้าหมายสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในพื้นที่พิเศษไม่น้อยกว่า 60 ล้านบาท
นางสาวสุวิมล งามศรีวิโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายขาย เซเรนาต้า โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท กรุ๊ปและตัวแทนสมาคม TEATA สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันเทรนด์การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั่วโลกเริ่มมองหาการท่องเที่ยวเชิงสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนมากขึ้น โดยผู้ประกอบการและบริษัทนำเที่ยวที่ให้บริการนักท่องเที่ยวต่างชาติ (Inbound Tour) กว่า 50% ของตลาดนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกจะมีการตรวจประเมินสถานที่พักด้านคุณธรรม / สังคมชุมชน / ความปลอดภัย และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก่อนเซ็นสัญญานำนักท่องเที่ยวเข้าพักสะท้อนให้เห็นว่านักท่องเที่ยวต้องการสร้างประสบการณ์ที่ดีในการท่องเที่ยวโดยเน้นกิจกรรมท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon) และคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality)
สำหรับโรงแรมในเครือเซเรนาต้า โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท กรุ๊ปถือเป็นต้นแบบการท่องเที่ยวยั่งยืน (Sustainable Tourism) ตั้งแต่ปี 2519 โดยให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อสนับสนุนส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เช่น ร่วมจัดตั้งสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) / ร่วมดำเนินโครงการ TEATA “เที่ยวไทยไร้คาร์บอน 50 เส้นทาง” (Eco Friendly – Low Carbon) / ร่วมโครงการ Stay Green Stay with SERENATA มอบส่วนลดสำหรับสมาชิกที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวสีเขียว (Green Tourism) ร่วมกับ KTC WorldTravel Service
นางสาวธันย์ชนก น่วมมะโน ผู้แทนประจำประเทศไทย การท่องเที่ยวสวิตเซอร์แลนด์ สถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่า การท่องเที่ยวสวิตเซอร์แลนด์ได้มีการพัฒนากลยุทธ์และปลูกฝังแนวคิดสวิสเทเนเบิล (Swisstainable) ตั้งแต่ปี 2562 เพื่อสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยมีเป้าหมายให้สวิตเซอร์แลนด์เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่สุดในโลกและเป็นจุดมุ่งหมายของนักเดินทางซึ่งจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์และยังเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นอีกด้วย สำหรับยุทธศาสตร์ความยั่งยืนของสวิตเซอร์แลนด์(Swisstainable Strategy) โดยการท่องเที่ยวสวิตเซอร์แลนด์ได้เชิญกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งภาคขนส่ง / ภาคอุตสาหกรรม / โรงแรมที่พัก / ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เข้าร่วมแคมเปญ ซึ่งทุกองค์กรจะได้รับการอนุมัติให้ใช้สัญลักษณ์สวิสเทเนเบิล (Swisstainable) ตามระดับความมุ่งมั่นของแต่ละองค์กร โดยปี 2566 ที่ผ่านมามีองค์กรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสวิตเซอร์แลนด์เข้าร่วมทั้งหมด 2,500 องค์กรและตั้งเป้าหมายภายในสิ้นปี 2567 จะมีองค์กรเข้าร่วมมากถึง 4,000 องค์กร
ขณะที่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาสวิตเซอร์แลนด์สามารถร่วมส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนได้ เช่น การบริโภคผลิตภัณฑ์ ผลผลิตจากท้องถิ่นที่ผลิตในสวิตเซอร์แลนด์ / สัมผัสบรรยากาศธรรมชาติของสวิตเซอร์แลนด์อย่างแท้จริงทั้งภูเขา ทะเลสาบ / เลือกการเดินทางท่องเที่ยวด้วยรถยนต์ไฟฟ้า และอยู่ต่อรวมถึงเข้าพักนานขึ้น (Stay Longer) เพื่อซึมซับธรรมชาติและเพิ่มประสบการณ์ท้องถิ่นในสวิตเซอร์แลนด์ และประเทศจะคงความดั้งเดิมของการท่องเที่ยวเพื่อให้นักท่องเที่ยวเลือกสวิตเซอร์แลนด์เป็นจุดหมายปลายทางในอนาคตตามพันธกิจ “ธรรมชาติของเราเป็นแรงขับเคลื่อนให้คุณ” (Our Nature Energizes You.)
มิสเตอร์อัวร์ส เคสเลอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการรถไฟยุงเฟรา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่า ปัจจุบันพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวทั่วโลกเริ่มมองหาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนมากขึ้น กลุ่มบริษัทรถไฟยุงเฟรา (Jungfrau Railway Group) จึงได้พัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์และแสดงให้เห็นว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวและความยั่งยืนสามารถทำคู่ขนานไปด้วยกัน ทั้งนี้ได้กำหนดกลยุทธ์การใช้ทรัพยากรนิเวศอย่างยั่งยืนเช่น การใช้รถไฟและกระเช้าลอยฟ้า (Cable Car) ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมด 100% นอกจากนี้ได้เตรียมจัดตั้งกองทุนความยั่งยืนระยะเวลา 10 ปี สำหรับการดูแลหมู่บ้านกรินเดิลวาลด์ (Grindelwald) และหมู่บ้านเลาเทอร์บรุนเนน (Lauterbrunnen) กรุงเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และมีแผนที่จะสร้างระบบโซลาร์ขนาด 12 เฮกตาร์บนเทือกเขาแอลป์ โดยมีเป้าหมายเพื่อผลิตพลังงานให้ได้ 12 กิโลวัตต์ – ชั่วโมงต่อปี เพื่อจัดหาพลังงานให้กับ 3,000 ครัวเรือนในช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงที่ราคาไฟฟ้าแพงที่สุดเพราะมีความต้องการใช้มากที่สุด
นางสาวพัทธ์ธีรา อนันต์โชติพัชร ผู้บริหาร KTC World Travel Service และการตลาดหมวดสายการบิน “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า KTC World Travel Service หน่วยงานที่ดูแลและให้บริการด้านการท่องเที่ยวให้กับสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซี ได้วางกลยุทธ์เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ดังนี้
- การสร้างความตระหนักรู้ให้กับนักท่องเที่ยวกับประสบการณ์ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ท้องถิ่น ธรรมชาติและชุมชน ผ่านช่องทางประชาสัมพันธ์ต่างๆ ของเคทีซี เพื่อแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวชุมชน ร้านค้า ร้านอาหารท้องถิ่น ร้านขายของฝาก ที่พักชุมชน ให้กับสมาชิกได้เข้าถึงข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวได้สะดวกมากขึ้น
- การจัดทำโครงการนำร่อง “ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนกับ KTC WORLD” ร่วมกับพันธมิตรท่องเที่ยวกว่า 10 รายทั้งในประเทศและต่างประเทศ คัดเลือกผลิตภัณฑ์กรีนโปรดักส์ด้านการทางท่องเที่ยวที่สะท้อนถึงการลดการปล่อยคาร์บอน หรือการเดินทางท่องเที่ยวแบบสาธารณะและชุมชนมากขึ้น อาทิ บัตรรถไฟ บัตรรถราง รถเช่าไฟฟ้า (EV) และแพคเกจท่องเที่ยวชุมชน โดยทุกยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซีกับกลุ่มผลิตภัณฑ์กรีนโปรดักส์ตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป สมาชิกจะได้รับคะแนนพิเศษ KTC FOREVER 1,000 คะแนน โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
- การมีส่วนร่วมกับพันธมิตรสร้างประโยชน์และคืนผลประโยชน์สู่ทรัพยากรการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม อาทิ การร่วมต่อยอดกับสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค ภายใต้โครงการ “บิน1 เที่ยว ปลูก 1 ต้น” (1 Ticket 1 Tree) ในการพัฒนาความยั่งยืนผ่านการปลูกต้นโกงกางในพื้นที่ป่าชายเลน เมื่อจองตั๋วกับสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค ทุกๆ 1 ใบ ผ่าน KTC World Travel Service เคทีซีจะช่วยสบทบร่วมปลูกต้นไม้เพิ่ม 1 ต้นตลอดปี 2567
อย่างไรก็ตาม เคทีซีมองว่าหากทุกหน่วยงานร่วมมือกันอย่างจริงจัง จะทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายใหม่ๆ พร้อมที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวที่เน้นความยั่งยืนได้หลากหลายและตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวมนั่นคือการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงและไปสู่ชุมชนอันเป็นรากฐานของความยั่งยืนทางเศรษฐกิจให้แข็งแรงได้ระยะยาว