ประธานบอร์ดทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) เปิดแผนกลยุทธ์ขับเคลื่อนองค์กรปี 2567 มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการผ่าน Ecosystem Play โดยเน้นการใช้ช่องทางดิจิทัลเป็นแพลตฟอร์มหลักในการพัฒนาความสัมพันธ์และดูแลลูกค้าในระดับบุคคลตลอดทุกช่วงเวลา พร้อมสนับสนุนนโยบายภาครัฐช่วยลดภาระหนี้ของประชาชน มุ่งให้ความสำคัญกับการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมควบคู่ Transition Finance ปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยให้ลูกค้าเปลี่ยนผ่านไปยังธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตอกย้ำการเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน เพื่อชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นของคนไทย พร้อมประกาศปักหมุดก้าวสู่ Net Zero สอดรับเป้าหมายของประเทศไทย
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานกรรมการ ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยว่า ผลสำเร็จจากการรวมกิจการทำให้ทีทีบีแข็งแกร่งยิ่งขึ้นและเพิ่มความสามารถในการช่วยเหลือลูกค้าได้รอบด้าน พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจ ภายใต้แนวคิด The Bank of Financial Well-being โดยต่อยอดจากฐานลูกค้าที่มีมากขึ้นและเพิ่มศักยภาพด้านดิจิทัล ผ่านการเปิดตัวเวอร์ชันใหม่ ttb touch ในปี 2565 เพื่อยกระดับการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองต่อความต้องการที่แตกต่างกันของลูกค้าแต่ละคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อสร้างความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการผ่านกลยุทธ์การทำ Ecosystem Play บนกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารมีความชำนาญและมีฐานลูกค้าเป็นแต้มต่อ เช่น กลุ่มพนักงานเงินเดือน คนมีรถ คนมีบ้าน สอดรับกับกลยุทธ์ระยะกลางถึงระยะยาวที่ธนาคารได้วางเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนธุรกิจบนช่องทางดิจิทัลและเพิ่มประสบการณ์ทางการเงินของลูกค้า เพื่อให้ธนาคารสามารถพัฒนาความสัมพันธ์และดูแลลูกค้าได้ในระดับบุคคลตลอดทุกช่วงเวลา
ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวค่อนข้างช้าและหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อลูกค้า ทีทีบีในฐานะ D-SIBs Bank ยังคงเดินหน้าดำเนินธุรกิจ ภายใต้พันธกิจหลักในการช่วยให้ลูกค้ามีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นทั้งกลุ่มลูกค้าบุคคล และลูกค้าธุรกิจ โดยธนาคารได้ให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เพราะเรื่องหนี้เป็นปัญหาใหญ่ของคนไทยที่ต้องการการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ในขณะที่ลูกค้าธุรกิจก็ต้องการความช่วยเหลือในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Transition Finance) เพื่อให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้อย่างแข็งแกร่งในอนาคตและเติบโตได้อย่างยั่งยืน ธนาคารจึงได้นำหลักคิดเหล่านี้มาใช้ในการพัฒนากลยุทธ์และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือลูกค้า ซึ่งเป็นผลดีต่อทั้งลูกค้า ผู้ถือหุ้น และสิ่งแวดล้อม
ดร.เอกนิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การช่วยลดภาระหนี้ของประชาชนอย่างยั่งยืนและเป็นระบบมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยตั้งแต่ต้นปี 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมเพื่อสานต่อการแก้หนี้ครัวเรือน ยกระดับการบริหารจัดการด้านสินเชื่อให้มีความรับผิดชอบและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น พร้อมส่งเสริมให้ลูกค้าที่มีความจำเป็นก่อหนี้ใหม่อย่างมีคุณภาพและมีวินัยทางการเงินที่ดีขึ้น ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาทีทีบีได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับพันธกิจในการช่วยให้ลูกค้ามีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น โดยในปี 2566 ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าผ่านสินเชื่อสำหรับรวบหนี้ / โอนยอดหนี้ / สวัสดิการ มากกว่า 17,000 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวมกว่า 6.7 พันล้านบาท ช่วยลูกค้าประหยัดดอกเบี้ยไปได้กว่า 1.2 พันล้านบาท
ความโดดเด่นของทีทีบี ในด้าน Responsible Lending คือ การจัดทีม Loan Specialist มากกว่า 900 คนที่สาขา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์สินเชื่อแบบครอบคลุม จึงสามารถทำให้แนะนำสินเชื่อที่เหมาะสมกับลูกค้าได้ตรงความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ สินเชื่อส่วนบุคคล หรือ โซลูชันรวบหนี้ เป็นต้น และมีโปรแกรมสวัสดิการพิชิตหนี้เพื่อมนุษย์เงินเดือน และเครื่องมือวัดระดับสุขภาพทางการเงินฟรีให้กับลูกค้าที่ใช้บัญชีเงินเดือนทีทีบี โดยปัจจุบันมีลูกค้าที่สามารถเข้าถึงสินเชื่ออเนกประสงค์ทีทีบี (ttb welfare loan) ได้มากกว่า350,000 ราย และสำหรับลูกค้าทีทีบีที่เริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้ ธนาคารจะแนะนำให้ลูกค้ามาปรึกษากับทีมงานผู้เชี่ยวชาญของทีทีบี เพื่อปรับเทอมการจ่ายและค่างวดให้เหมาะสมกับความสามารถปัจจุบัน หรือปรับโครงสร้างหนี้ และในอนาคตทีทีบีจะมีทีมโค้ชปลดหนี้ที่จะช่วยให้คำปรึกษากับกลุ่มลูกค้าบัญชีเงินเดือนของธนาคารต่อไป
ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้กลายเป็นประเด็นสำคัญเร่งด่วนของโลก ซึ่งทีทีบีได้ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจังมานานแล้ว และในปี 2567 คณะกรรมการธนาคารมีมติประกาศเป้าหมายสำคัญ ปักหมุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero เพื่อให้สอดรับตามเป้าหมายของประเทศไทย โดยความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธนาคารสะท้อนผ่านการดำเนินกิจกรรมภายในองค์กร (Scope 1 and 2) รวมไปถึงการให้สินเชื่อในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Scope 3) และธนาคารเล็งเห็นถึงความรับผิดชอบและความสามารถในการสร้างโซลูชันทางการเงินที่จะช่วยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน เพราะบทบาทของธนาคารไม่ใช่การนำพาตนเองไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์เพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นการเสริมสร้างศักยภาพของธุรกิจต่าง ๆ ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ผ่านการให้สินเชื่อ ให้คำปรึกษา และสนับสนุนลูกค้าบนเส้นทางการเปลี่ยนผ่านนี้
ทั้งนี้ ธนาคารได้มีกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Strategy) อาทิ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินกิจกรรมของธนาคาร โดยเปลี่ยนยานพาหนะส่วนกลางที่สำนักงานใหญ่เป็นยานยนต์ไฟฟ้าทดแทนทั้งหมด พร้อมติดตั้งที่ชาร์จรถไฟฟ้า รวมทั้งศึกษาดูความเป็นไปได้ (Feasibility Study) ในการเปลี่ยนยานพาหนะทั้งหมดของธนาคารทั่วประเทศเป็นยานยนต์ไฟฟ้าทดแทน และการลงทุนติดตั้ง Solar Rooftop ที่สำนักงานใหญ่และสำนักงานเขตเพื่อเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด
สำหรับการให้สินเชื่อและการให้คำปรึกษาลูกค้าในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ธนาคารได้ตั้งวงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ในปี 2567 สำหรับการปล่อยสินเชื่อเพื่อธุรกิจหรือโครงการที่ต้องการมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งยังมุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่สนับสนุนกลุ่มธุรกิจที่ต้องการปรับตัว และธนาคารยังคงสานต่อโครงการเสริมสร้างความรู้ ความสามารถให้กับลูกค้าธุรกิจผ่านการจัดสัมมนาที่มุ่งเน้นเกี่ยวกับความท้าทายของภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงในการเผชิญหน้ากับกฎระเบียบใหม่ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมช่วยให้คำปรึกษาและวางแผนให้กับธุรกิจที่มีความประสงค์ที่จะมุ่งสู่ Net Zero
“นอกจากความแข็งแกร่งและความพร้อมของธนาคารในการเดินหน้าสร้างประสบการณ์ทางการเงินที่ดียิ่งขึ้นผ่านกลยุทธ์ Ecosystem Play แล้ว ทีทีบียังได้ผนวกเรื่องความยั่งยืนเป็นเนื้อเดียวกันกับการดำเนินธุรกิจ พร้อมยกระดับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล ทั้งด้านธุรกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลที่ดี ตอกย้ำการเป็นการการธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking) และมุ่งสู่ Net-zero Commitment” ดร.เอกนิติ กล่าวสรุป