ศก.ทรุด-ภัยแล้ง-ทองกระฉูด คาดสารพัดคดีอาชญากรรมพุ่ง อยากเห็นตร.กำชับทุก บช. คุมเข้ม“กระทรวง ไอซีทีลอยตัว” ปล่อยมือ ลอยตัวให้ตำรวจลุยงาน ภัยออนไลน์ ตำรวจต้องกระอักหน้างานล้นมือ

348

                  
          เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนคราวใด อดที่จะนึกถึงสมัยอยู่ในสนามข่าวสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ได้เพราะทุกปีจะมีมาตรการที่ อธิบดีกรมตำรวจ(อ.ตร.)หรือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)วางเป็นแนวทางให้ ผู้บัญชาการ(ผบช.)คุมพื้น กวดขันป้องกันและปราบปรามภัยอาชญากรรม ไม่ให้เกิดกับประชาชนเสมอมา


        เหตุที่ต้องกำชับเพราะจากสถิติในอดีตพบว่าช่วงหน้าแล้ง อาชญากรรมประเภทลัก วิ่ง ชิง ปล้น จะสูงเป็นพิเศษโดยเฉพาะคดีโจรกรรมเครื่องมือทำเกษตร ไม่ว่าจะเป็น ขโมยวัว ควาย เครื่องสูบน้ำ และ รถไถนา เป็นต้น


     แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนโลกเจริญการก่ออาชญากรรมจะปรับเปลี่ยนไปตามความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี คนไทยตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก โดยเฉพาะการก่ออาชญากรรมด้วยการใช้ระบบออนไลน์ ในรูปแบบต่างๆ เจ้าหน้าที่รัฐทำได้แค่เตือนให้ป้องกัน เพราะศักยภาพในการสืบสวนจับกุมยังด้อยกว่าอาชญากรหลายก้าวเสมอ กระทราง ไอซีที ลอยแพตำรวจ ไร้ผลงาน ตั้งขึ้นมางบประมาณภาษี แต่กลับลอยตัว ให้ตำรวจทำงานอยู่หน่วยเดียว ลำพังหน้างานอาชญากรรมปกติก็ล้นมืออยู่แล้ว

      ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะตำรวจนอกแถวบางกลุ่มใช้ระบบออนไลน์ ทำธุรกิจผิดกฎหมายเปิดเว็บพนันออนไลน์ บางกลุ่มอาสาเป็นหน่วยคุ้มครองแก๊งอาชญากรเพื่อแลกเศษเงินที่พวกมันโยนให้


     แม้แต่ทุกวันนี้ชาวบ้านบางส่วนที่ไม่รู้เท่าทันยังเป็นตกเป็นเหยื่ออาชญากรแก๊งนี้อยู่เนืองๆ เสมือนเป็นการชิงหรือปล้นทางอากาศ นั่นคือภัยที่ทำให้แค่เสียทรัพย์ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตและร่างกาย


    แต่ ณ เวลานี้ภัยอาชญากรรมที่เกิดซึ่งๆหน้ามีแนวโน้มสูงขึ้น สาเหตุหลักๆเพราะ พิษเศรษฐกิจ สิงห์ขี้ยาเพิ่มจำนวนมากขึ้น รวมถึงแรงงานภาคเกษตรหนีภัยแล้งอพยพเข้ารับจ้างทำงานในเมืองใหญ่ๆคนกลุ่มนี้มีโอกาสก่ออาชญากรรมและตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมได้


     ซึ่งการก่ออาชญากรรมมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการชิงทรัพย์ซึ่งหน้า ย่องเบาขโมยทรัพย์สินตามบ้านเรือน ห้าง ร้าน ขโมยทรัพย์สินของทางราชการ ขโมยเครื่องมือทางการเกษตร รวมถึงการบุกชิงหรือปล้นร้านทอง อาจจะเกิดถี่ขึ้นเพราะราคาทองคำพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์


           ซึ่งจะเป็นภาระหนักของตำรวจ จึงไม่แน่ใจว่าแต่ละกองบัญชาการหลักๆไม่ว่าจะเป็น กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 (บช.ภ.1-9)และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.)มีอำนาจสืบสวนสอบสวนจับกุมทั่วประเทศ ได้ออกมาตรการอะไรเป็นพิเศษนอกเหนือจากภาระหน้าที่หลักที่ปฏิบัติซ้ำทุกวันหรือยัง ?


   เพราะเท่าที่ติดตามข่าวในแวดวงตำรวจยังไม่เห็นมาตรการอะไรเป็นพิเศษ ที่ทำให้ประชาชนรู้สึกอุ่นใจ นอกจากออกการมาเตือนแบบซ้ำซากว่าให้ระวังภัยจากแอปที่ต้มตุ๋นหรือภัยจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์เท่านั้น


    ทั้งที่ในความเป็นจริง ผบ.ตร.หรือผบช.คุมพื้นที่ควรเร่งปัดฝุ่นมาตรการต่างๆพร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบว่าช่วงภัยแล้งนี้ จะดำเนินการป้องกันอาชญากรรมต่างๆอย่างไร อาทิ เพิ่มสายตรวจออกตรวจพื้นที่ลักษณะไหนบ้าง เช่น เดินเท้าตามชุมชน สายตรวจมอเตอร์ไซด์  สายตรวจรถยนต์  รวมถึงให้ตำรวจสายสืบลงพื้นที่สืบข่าวบ่อยขึ้น เป็นต้น


   ที่สำคัญเพิ่มควรความถี่ในการประชาสัมพันธ์ผ่านรูปแบบต่างๆผ่านสื่อโซเซียลไม่ว่าจะเป็น ไลน์กลุ่ม เฟสบุ๊ก หรือเสียงตามสายในหมู่บ้าน เพื่อข่มขวัญพวกที่คิดจะก่ออาชญากรรมว่าหากก่อเหตุมีโอกาสถูกจับสูง เพราะมีสายตรวจและฝ่ายสืบสวนอยู่เต็มพื้นที่
  หากทุกพื้นที่หรือทุกโรงพักสามารถดำเนินการลักษณะนี้ได้จะเป็นจิ๊กซอว์อุดช่องว่างไม่ให้อาชญากรก่อเหตุได้


  ข้อเสนอนี้ดูเผินๆเป็นมาตรการปกติธรรมดาที่ทุกโรงพักรับรู้รับรับทราบอยู่แล้ว แต่ที่ยกมานำเสนอเพราะเท่าที่ทราบโรงพักส่วนใหญ่ไม่ได้ปฏิบัติอย่างจริงจัง อย่างกรณีรถสายตรวจเดือนหนึ่งออกตรวจไม่ถึง 10 วัน เพราะงบน้ำมันไม่เพียงพอ หรือบางโรงพักตรวจแค่ต้นเดือนกับปลายเดือน เพราะหัวหน้าโรงพักอมน้ำมันไปใช้ส่วนตัวและจัดสรรให้ระดับกองบังคับการอีกต่างหาก


  ดังนั้นภัยแล้งปีนี้พิเศษกว่าทุกปีเพราะมาพร้อมภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ชาวบ้านระดับกลางถึงรากหญ้าอยู่แบบชักหน้าไม่ถึงหลังค่า สินค้าจำเป็นพาเหรดขึ้นราคา แถมขี้ยาเกลื่อนเมือง ล้วนแต่เป็นปัจจัยนำไปสู่การก่ออาชญากรรมทั้งสิ้น


  สำนักงานตำรวจแห่งชาติในฐานะหน้าด่านป้องกันและปราบปราม ไม่ทราบว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้นำเบอร์ 1 มีมาตรการอะไรเป็นพิเศษให้ตำรวจทั่วประเทศนำไปปฏิบัติเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชนบ้าง ?


   หากไม่มีอะไรพิเศษขอฟันธงได้เลยว่าตัวเลขอาชญากรรมพุ่งกระฉุดพอๆกับราคาทองที่ทะยานจนเย้ายวนใจบรรดาอาชญากรทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นแน่นอน !!!