“ก้าวไกล” ผิดหวัง สภาฯ คว่ำร่างคุ้มครองแรงงาน ไม่สนใจกฎหมายเป็นประโยชน์ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน ด้าน “วรรณวิภา” พร้อมสู้ต่อในชั้น กมธ. ถกเนื้อหาสิทธิลาคลอด-คุ้มครองคนทำงานภาครัฐ
วันที่ 7 มีนาคม 2567 สส.พรรคก้าวไกล นำโดย เซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ วรรณวิภา ไม้สน สส.บัญชีรายชื่อ และ สหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี เขต 7 ร่วมแถลงข่าวแสดงความผิดหวัง หลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวานนี้ (6 มีนาคม) มีมติไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ของพรรคก้าวไกลที่เซียเป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนนเห็นด้วย 149 เสียง ไม่เห็นด้วย 252 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง เป็นผลให้ร่างไม่ผ่านการพิจารณาวาระที่ 1
เซียกล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้ใช้แรงงานมากว่า 30 ปี และในฐานะผู้เสนอร่างกฎหมาย รู้สึกเสียใจอย่างยิ่ง เพราะร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับดังกล่าว จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทำงานทุกคนในประเทศนี้ให้ดีขึ้น ด้วยหลักการ ‘ทำงาน พักผ่อน ใช้ชีวิต’ อีกทั้งขยายความคุ้มครองให้ครอบคลุมทุกรูปแบบการจ้างงาน เช่น ไรเดอร์ ฟรีแลนซ์ แรงงานอิสระ ให้ได้รับการคุ้มครองตามมาตรฐานสากล
การปัดตกร่างดังกล่าว ทำให้ประเทศเสียโอกาสสร้างความเสมอภาคทางสังคม เสียโอกาสที่จะเพิ่มผลิตภาพการทำงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าและคุณค่าให้กับระบบเศรษฐกิจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นวิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาที่สำคัญของผู้แทนราษฎรที่มีความประสงค์ดีต่อคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ในประเทศ
“ผิดหวังต่อผู้แทนของประชาชนที่คว่ำร่างกฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่วาระแรก โดยไม่สนใจเนื้อหาว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของพี่น้องแรงงานอย่างไร ท่านมองข้ามการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนทำงาน ทั้งที่พวกเขาเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และทุกอย่างที่เราเสนอ ล้วนเป็นเรื่องพื้นฐาน แม้กระทั่งในสังคมออนไลน์ เราพบเห็นฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลจำนวนมาก ก็เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้” เซียกล่าว
สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าพรรคก้าวไกลจะเดินหน้าทำงานผลักดันกฎหมายเพื่อเปลี่ยนชีวิตคนทำงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
ด้านวรรณวิภา กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องแยกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เป็นหลายฉบับ เนื่องจากมีประสบการณ์จากสมัยพรรคอนาคตใหม่ ที่เมื่อเสนอร่างกฎหมายเพียงฉบับเดียว พอถูกสภาฯ ปัดตก หลักการและวาระหลายอย่างในร่างกฎหมายนั้นก็ถูกปัดตกทั้งหมด ครั้งนี้จึงยื่น 2 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างของตนที่เสนอคุ้มครองคนทำงานภาครัฐและเพิ่มสิทธิลาคลอดเป็น 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้ ซึ่งต่อมาถูกวินิจฉัยเป็นร่างการเงิน และร่างของเซีย จำปาทอง ซึ่งไม่ใช่ร่างการเงิน โดยหลังจากนี้ตนต้องต่อสู้เรื่องเนื้อหาในชั้นกรรมาธิการ เพราะร่างหลักคือร่างของรัฐบาล เสนอสิทธิลาคลอดเพียง 98 วัน รวมถึงพิจารณาประเด็นการคุ้มครองคนทำงานภาครัฐ จะครอบคลุมกลุ่มใดบ้าง
จากนั้นสหัสวัต กล่าวว่า กฎหมายของพรรคก้าวไกลไม่ได้ก้าวหน้าหรือเรียกร้องอะไรที่มากเกินไป คนที่กล่าวว่ากฎหมายของพวกเราก้าวหน้าเกินไป ต้องถามว่าหัวจิตหัวใจทำด้วยอะไร ส่วนที่บอกว่ากฎหมายฉบับนี้จะส่งผลกระทบต่อ SMEs ขอให้คนที่กล่าวแบบนี้เลิกมุดหัวอยู่หลัง SMEs เพราะต้นทุนแรงงานเป็นเพียงต้นทุนส่วนหนึ่ง ยังมีต้นทุนอื่น ๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ทำไมไม่พูดถึง เวลาแรงงานเรียกร้องสิทธิแรงงาน ก็ใช้ SMEs เป็นเกราะกำบัง พฤติกรรมแบบนี้เป็นเรื่องน่ารังเกียจ
“วันนี้แม้เราจะเสียโอกาสของคนหลายสิบล้านคน แต่สิ่งหนึ่งที่เราทำสำเร็จคือการกระชากหน้ากากนักการเมืองบางกลุ่มที่แฝงตัวเป็นหนึ่งเดียวกับนายทุน คอยขัดขวางสิทธิประโยชน์ของแรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้ว คนพวกนี้ยืนอยู่ข้างใคร” สหัสวัตกล่าว