เกษตรผสมผสานสู่การพัฒนาเกษตรที่สูง

2441

กรมส่งเสริมการเกษตร ดัน “เกษตรผสมผสาน” หลักการผลิตพืชที่ถูกต้องและเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ สู่การพัฒนาอาชีพการเกษตรบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน
 


กรมส่งเสริมการเกษตร สนองงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริบนพื้นที่สูงภายใต้หลักปรัชญา
ของเศรษฐกิจพอเพียง ตั้งแต่ปี 57 ได้ส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรให้กับเกษตรกรชาวไทยภูเขา เพื่อให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีความยั่งยืนในการประกอบอาชีพการเกษตร ส่งผลให้เกษตรกรสามารถนำความรู้ด้านการผลิตพืช
บนพื้นที่สูงมาปรับใช้ในการทำการเกษตร ทำให้มีอาหารบริโภคในครัวเรือนอย่างเพียงพอ

นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ร่วมบูรณาการขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานโครงการหลวง โดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (เกษตรที่สูง) 8 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (เกษตรที่สูง) จ.เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน พะเยา ตาก กาญจนบุรี และจ.เลย เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนระดับภูมิภาคของกรมส่งเสริมการเกษตร

ซึ่ง 10 ปีที่ผ่านมา 
ได้ส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรให้กับเกษตรกรชาวไทยภูเขา โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตด้านการเกษตรที่เหมาะสม
ตามศักยภาพของพื้นที่ และส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐาน 68,750 ราย ส่งเสริมการปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นเมืองหนาว/พืชผักเมืองหนาว/เกษตรผสมผสาน 9,091 ไร่ ส่งเสริมการปลูกไม้ดอกเมืองหนาว 104 ไร่ ส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร 556 กลุ่ม และส่งเสริมการสร้างเกษตรกรต้นแบบ 264 ราย ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมการเกษตร มีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ โดยมีการผลิตพืชที่ถูกต้องและเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่นั้น การนำเอาองค์ความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในพื้นที่เกษตรของตนเอง ทำให้เกษตรกรมีอาหารบริโภค
ในครัวเรือน และส่วนที่เหลือจากการบริโภคสามารถนำไปจำหน่าย ทำให้สามารถลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้จากการทำการเกษตร มีแปลงไม้ผลไม้ยืนต้น/ไม้ดอก/พืชผักเมืองหนาว และพืชสมุนไพรในพื้นที่ ซึ่งเป็นแหล่งกระจายพืชพันธุ์ดี มีเกษตรกรต้นแบบในการขยายผลไปสู่ชุมชน รวมทั้งเกษตรกรมีทัศนคติที่ดีในการร่วมฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรับระบบการทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มพื้นที่สีเขียวในการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน

ด้าน นายหม่อคา กมลลักษณ์พงศ์ เกษตรกรต้นแบบ “เกษตรผสมผสาน” กล่าวว่า เดิมครอบครัวทำการเกษตรเชิงเดี่ยวมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ และช่วยพ่อแม่ทำการเกษตรมาตั้งแต่สมัยเด็ก ต่อมาได้รับเลือกให้เป็นผู้นำชุมชน จึงมีโอกาสได้รับการส่งเสริมการเกษตร ร่วมอบรมและศึกษาดูงานการทำเกษตรหลากหลายรูปแบบ และได้นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับศักยภาพพื้นที่ของตนเอง ภายใต้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิตและการทำการเกษตร ปรับรูปแบบการผลิตจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เป็นการทำเกษตรแบบผสมผสาน เน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเริ่มจากการปลูกพืชผัก กล้วย เกิดผลลัพธ์เป็นอาหารไว้บริโภคในครัวเรือน คือ ข้าวและพืชผักที่ปลูกหมุนเวียนกัน รวมทั้งปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดินและได้จำหน่ายกล้าหญ้าแฝกให้กรมพัฒนาที่ดิน รวมรายได้เฉลี่ย 150,000 บาทต่อปี (ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดในภาพรวมเกือบเท่าตัว) จากการจำหน่าย ข้าว พืชผัก กล้วย ถั่วแดง ถั่วดำ และสุกร รวมถึงการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนภายในแปลง โดยมีการทำปุ๋ยหมักจากกากถั่วแดง และนำมูลขี้ไก่ที่เลี้ยงไว้ มาใช้ในแปลงข้าว แปลงพืชผัก และการใช้แหนแดงเป็นอาหารสุกรและปลา ส่งผลให้ลดต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 6,000 บาทต่อปี และได้รับคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรต้นแบบ ปี 64 เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรหรือผู้สนใจ มีจุดเรียนรู้การขยายพันธุ์อะโวคาโดโดยการเสียบยอด การปลูกพืชแบบผสมสาน การเลี้ยงแหนแดง และการปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ทั้งนี้ ในอนาคตได้วางแผนจะขยายการผลิตแหนแดง เพื่อเป็นอาหารปลา สุกร และใช้ทำปุ๋ยชีวภาพ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการปั๊มน้ำในพื้นที่การเกษตร การเพิ่มพื้นที่การปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชน และทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #เกษตรกร