กระทรวงสาธารณสุข ลงนามความร่วมมือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดทำ 8 โครงการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ “หมอชลน่าน” เผย ทั่วประเทศมีพระสงฆ์-สามเณร 2.4 แสนรูป กว่าร้อยละ 50 สูงอายุ อาพาธโรคเรื้อรัง อาพาธระยะท้าย วางแผนเปิดกุฏิชีวาภิบาลดูแลตามหลักพระธรรมวินัยในทุกอำเภอทั่วประเทศ ปัจจุบันมีกุฏิชีวาภิบาล/บ้านชีวาภิบาล พร้อมดำเนินการแล้ว 788 แห่ง
วันนี้ (29 กุมภาพันธ์ 2567) ที่ วัดจันทาราม (ท่าซุง) จังหวัดอุทัยธานี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกันเปิดโครงการดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์และสามเณร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมี สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม พระครูปลัดสุวัฒนรัตนคุณ เจ้าอาวาสวัดจันทาราม (ท่าซุง) นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี คณะสงฆ์ ข้าราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และประชาชน จำนวน 5,000 คนเข้าร่วมพิธี พร้อมกันนี้ ได้มีพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธ ที่สร้างขึ้นโดยอ้างอิงพุทธประวัติตอนหนึ่ง เพื่อประดิษฐาน ณ บริเวณกุฎิชีวาภิบาลด้วย
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ สามเณร ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพทางกาย ทางจิต ทางปัญญาและทางสังคมที่ดี เพื่อช่วยเกื้อหนุนกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพของทั้งพระภิกษุ สามเณร และพุทธศาสนิกชนในชุมชน ให้ “วัดเป็นศูนย์กลางสุขภาพชุมชน” โดยจากข้อมูลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ปี 2564 ทั่วประเทศมีวัดกว่า 43,000 แห่ง พระสงฆ์-สามเณร ประมาณ 2.4 แสนรูป ในจำนวนนี้ กว่าร้อยละ 50 อยู่ในวัยสูงอายุ อาพาธโรคเรื้อรัง รวมถึงอาพาธระยะท้าย ซึ่งการดูแลส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค การรักษาพยาบาล การควบคุมโรคและการจัดการปัจจัยที่คุกคามสุขภาพพระสงฆ์ จะต้องเป็นไปตามหลักพระธรรมวินัยและตามธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2566
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระชนมมายุครบ 72 พรรษาในปี พ.ศ. 2567 กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดทำโครงการดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์และสามเณร เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์แบบบูรณาการ โดยร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผลักดันความร่วมมือในระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนสร้างกลไกการดำเนินงานให้เอื้อต่อการดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ในระดับพื้นที่ ครอบคลุมทั้ง การให้ความรู้ส่งเสริมสุขภาพ, การดูแลรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล, การเข้าถึงสิทธิการรักษา และการจัดตั้งกุฏิชีวาภิบาลและสถานชีวาภิบาล
สำหรับดูแลสงฆ์อาพาธ เป็นต้น โดยมีเป้าหมายจัดตั้งกุฏิชีวาภิบาล อำเภอละ 1 แห่ง ซึ่งปัจจุบันมีกุฏิชีวาภิบาล/บ้านชีวาภิบาล ที่พร้อมดำเนินการแล้ว 788 แห่งทั่วประเทศ
ด้านนางพวงเพ็ชร กล่าวว่า ปัจจุบันมีการประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 เพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางการส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์ และส่งเสริมบทบาทของพระสงฆ์ด้านสุขภาวะชุมชน โดยในปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ หน่วยงานภาคีเครือข่ายสุขภาพได้สานพลังขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ภายใต้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เพื่อสร้างกลไกการดำเนินงานให้เอื้อต่อการดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ในระดับพื้นที่ โดยมีมหาเถรสมาคม ในฐานะองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ ดำเนินบทบาทสำคัญในระดับนโยบายที่จะช่วยส่งเสริมการดูแลสุขภาพของพระภิกษุสงฆ์ให้เป็นไปตามหลักพระธรรมวินัยอย่างยั่งยืน
นพ.โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ 8 โครงการ ได้แก่ 1.วัดส่งเสริมสุขภาพและพระนักเทศน์ สนับสนุนให้พระภิกษุสงฆ์ มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health literacy) ตามหลักพระธรรมวินัย 2.การตรวจสุขภาพและส่งเสริมการปรับพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ของพระภิกษุสงฆ์ 3.การอบรมพระคิลานุปัฏฐาก หลักสูตร 140 ชั่วโมง ดูแลพระสงฆ์และประชาชนในชุมชนบริเวณรอบพื้นที่วัดที่เจ็บป่วยเบื้องต้น 4.การจัดระบบ การรักษาพระภิกษุสงฆ์และช่องทางเฉพาะ (Fast track) ให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพ 5.จัดตั้งกุฏิชีวาภิบาลและ
สถานชีวาภิบาล ดูแลพระสงฆ์อาพาธ และขึ้นทะเบียนวัดที่จัดบริการเป็นหน่วยรับส่งต่อ 6.การเพิ่มสิทธิประโยชน์พระสงฆ์ในการเข้าถึงบริการ 7.การจัดทำฐานข้อมูลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ ด้วยบัตรประชาชนในเดียว 8.การดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ ณ ดินแดนพุทธภูมิ โดยทีมแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร จัดบริการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เป็นประธานพิธีเปิดกุฏิชีวาภิบาลวัดจันทาราม (ท่าซุง) ซึ่งเดิมเป็นตึกรับรองพระเถระที่ก่อสร้างในปี พ.ศ. 2545 ได้ทำการปรับปรุงเป็นที่พักของพระเถระ และดูแลพระสงฆ์อาพาธที่เอื้อต่อพระธรรมวินัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มพระสงฆ์ที่มีภาวะพึ่งพิง มีพระสงฆ์เป็นผู้ดูแล ร่วมกับฆราวาส นักบริบาลและทีมสหวิชาชีพของ รพ.สต.น้ำซึม และรพ.อุทัยธานี โดยนำนวัตกรรม Virtual Hospital มาใช้ ปัจจุบันมีห้องรองรับพระสงฆ์อาพาธ จำนวน 10 ห้อง และมีแผนที่จะสร้างกุฏิชีวาภิบาลหลังใหม่ด้วย