รอบสัปดาห์ที่ผ่านมาความเคลื่อนไหวที่บ้านจันทร์ส่องหล้า คึกคักเป็นพิเศษ เมื่อกรมราชทัณฑ์ ไฟเขียวให้นักโทษชาย(น.ช.)ทักษิณ ชินวัตร พักโทษกลับไปนอนตีพุงที่บ้าน
ผ่านไปไม่กี่วันสมเด็จฮุน เซ็น ประธานองคมนตรี กัมพูชา นั่งเครื่องบินส่วนตัวลัดฟ้าเข้าเยี่ยมอาการป่วยในฐานะเพื่อนเก่า
ตามด้วยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระหว่างนั่งรถเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้า เปิดกระจกรถทักทายสื่อมวลชน ต่อมาออกมาให้สัมภาษณ์ว่าระหว่างเยี่ยมไม่ได้หารือถึงประเด็นการเมืองและสถานการณ์ภายในรัฐบาลแต่อย่างใด
หลังเข้าเยี่ยมเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เชิงเหน็บแนมว่าประเทศไทยกำลังมีนายกรัฐมนตรีพร้อมกันถึง 3 คน โดยมี น.ช.ทักษิณ คอยกุมบังเหียน ข้อวิจารณ์จะเท็จจริงประการใด คอการเมืองพอประเมินออก เพราะตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี อำนาจทางการเมืองยังคงหมุนรอบ น.ช.ทักษิณ เสมอมา
โดยเฉพาะประเด็นกระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐาน ที่แต่ละฝ่ายทั้งเสื้อแดงและเสื้อเหลือง ต่างหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์เพื่ออธิบายถึงความชอบให้กับกลุ่มของตัวเอง
หากจับสถานการณ์หลัง น.ช.ทักษิณ ถูกเผด็จการทหาร นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน โค่นอำนาจต้องลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ และถูกดำเนินคดีข้อหาทุจริตหลายคดี ระหว่างนั้นฝ่ายที่เชียร์ น.ช.ทักษิณ และบรรดานักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตย ต่างให้ความเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับน.ช.ทักษิณ ขณะที่การดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นไปในลักษณะอะลุ้มอล่วย แม้แต่ น.ช.ทักษิณ ลี้ภัยต่างประเทศก็ประกาศไม่ยอมรับขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนและระบบกระบวนการยุติธรรม
ต่อมารัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จัดตั้งโดยเผด็จการทหารประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ผลปรากฏว่าพรรคพลังประชาชน ที่ น.ช.ทักษิณ ชักใยชนะเลือกตั้ง แต่บริหารประเทศไม่ถึงปีถูกกลุ่มพันธมิตรฯขับไล่ ส่งผลให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่างนั้นกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)หรือคนเสื้อแดง ระดมมวลชนขับไล่รัฐบาล จนเกิดเหตุรุนแรงคนเสื้อแดงถูกฆ่า 99 ศพ ระหว่างชุมนุมแกนนำนปช.ใช้ประเด็นกระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐานโจมตีรัฐบาลและกลุ่มต่อต้านน.ช.ทักษิณ
พอนายอภิสิทธิ์ ยุบสภาเลือกตั้งผลพรรคเพื่อไทย ชนะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว น.ช.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่างนั้นคดีความที่เกิดขึ้นกับคนเสื้อแดงและคนเสื้อเหลือง ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงมาตรฐานการตัดสิน
ต่อมารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ถูกกลุ่มกปปส.ขับไล่ กลายเป็นเงื่อนไขให้เผด็จการทหารนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกดำเนินคดีหลายคดี โดยเฉพาะคดีทุจริตจำนำข้าว ในห้วงเวลานั้นยุติธรรมสองมาตรฐานถูกโหมกระพือมากขึ้น นปช.ต่างคอตกเข้าคุก แตกต่างกลุ่มพธม.และกปปส.ได้รับการประกันตัว กระบวนการสอบสวนถูกลากยาวยื้อเวลา
แม้แต่ น.ช.ทักษิณ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ ประกาศไม่ยอมรับที่ถูกกระบวนการยุติธรรม จัดการ โดยเฉพาะคดีที่ถูกพิพากษาจำคุก ระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ ครองอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ 4 ปี แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองพลิกผัน จนพรรคอนาคตใหม่ ที่เปรียบเสมือนตัวแทนคนรุ่นใหม่แจ้งเกิดแบบเหนือความคาดหมาย ต่อมาถูกยุบกลายมาเป็นพรรคก้าวไกล ช่วงปลายที่ พล.อ.ประยุทธ์ ครองอำนาจแบบเผด็จการซ่อนรูป น.ช.ทักษิณ ออกมาเคลื่อนไหววิจารณ์รัฐบาลพอหอมปากหอมคอ พร้อมประกาศกลับประเทศแบบเท่ๆ
เมื่อพรรคเพื่อไทย เดินเกมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แต่การจัดตั้งรัฐบาลยังไม่สะเด็ดน้ำ ฟอร์มคณะรัฐมนตรียังไม่ลงตัว น.ช.ทักษิณ บินกลับประเทศและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่เคยวิจารณ์ว่า2มาตรฐาน ขึ้นศาลรับโทษตามคำพิพากษา
เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คุมตัวไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯไม่ทันข้ามคืนเกิดอาการป่วยปางตายถูกหามส่งโรงพยาบาลตำรวจพักยาว 180 วัน ท่ามกลางเสียงครหากระหึ่มทั้งจากฝ่ายค้าน นักวิชาการ สลิ่ม และแกนนำเสื้อแดงบางคน ว่า การปฏิบัติต่อน.ช.ทักษิณ ของข้าราชการในกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐานแต่ทั้งรัฐบาล ส.ส.ซีกรัฐบาล ราชทัณฑ์และตำรวจ ต่างประสานเสียงรับกันเป็นทอดๆว่าดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายไม่ได้เลือกปฏิบัติ
เมื่อมองบริบทโดยรวมถึงมาตรฐานกระบวนการยุติธรรม พออนุมานได้ว่าการบังคับใช้นั้นขึ้นอยู่กับชนชั้นนำจะเลือกบังคับใช้กับใครและใช้อย่างไร
กรณี น.ช.ทักษิณ เป็นตัวอย่างของกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐานที่ชัดเจน เพราะบังคับใช้ทั้งแบบขับไล่และเอื้อประโยชน์แบบเท่ๆ !!!