“ชัชชาติ”ดึง สคบ. ร่วมป้องกันบุหรี่ไฟฟ้ารอบโรงเรียน -​เล็งโอนรถไฟฟ้า3สาย ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด

228

ผู้ว่าฯชัชชาติ เอาจริงมาตรการป้องกันบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียนกทม.และพื้นที่โดยรอบ

(27 ก.พ. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 5/2567 ณ ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ว่า จากการที่ได้หารือกับท่านนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ท่านได้เร่งรัดเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของกทม.จะเน้นบริเวณโดยรอบโรงเรียนในสังกัดกทม. ซึ่งภายในโรงเรียนเรามีมาตรการต่าง ๆ อยู่แล้ว อาทิ การตรวจค้น แต่เราจะดูรัศมีรอบโรงเรียนโดยเอากลไกของ สคบ. (สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) เป็นหลักในการดำเนินการ ซึ่งนายกฯ ได้สั่งการให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนและเอาจริงจัง

เร่งขุดลอกคูคลองตามแผน คาดเริ่มเร็วสุดเสาร์นี้

เรื่องที่สอง คือการเตรียมตัวรับมือน้ำท่วม ท่านนายกฯ ก็ได้สั่งการให้หน่วยงานทหารร่วมมือกับเราในการลอกคลอง จริง ๆ แล้วเรามีแผนการลอกคลองอยู่แล้ว แบ่งเป็น 2 ส่วน คือจ้างเอกชนขุดลอกส่วนหนึ่ง และเราทำเองส่วนหนึ่ง ส่วนที่เราจะทำเองก็จะมีทหารเข้ามาช่วย โดยจะแบ่งพื้นที่กัน เช่น ทางตอนเหนือ เขตดอนเมืองอาจมีทหารอากาศมาช่วย ทหารเรือ ทหารบกก็ช่วยรับผิดชอบส่วนอื่น เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ท่านนายกฯ ให้เร่งทำ ขณะนี้แต่ละเขตมีแผนแล้วว่าจะแบ่งหน่วยงานทหารอย่างไรและเครื่องมืออย่างไร คาดว่าจะเริ่มได้วันเสาร์นี้หรือวันเสาร์ถัดไป

กำชับความสะอาดเรียบร้อยบ้านเมืองอย่างเต็มที่

อีกเรื่องคือ ความสะอาดเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยเฉพาะปีนี้เป็นปีมหามงคลครบรอบ 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะให้เน้นเรื่องการดูแลความสะอาด ซึ่งเราก็ทำอยู่แล้ว แต่ต้องเพิ่มจุดที่สำคัญโดยเฉพาะคูคลองต่าง ๆ ถนนหรือบริเวณที่ยังไม่สะอาดเรียบร้อยอยู่ก็ต้องทำเต็มที่

ย้ำความปลอดภัยพื้นที่ข้าวสารและใกล้เคียง รองรับนักท่องเที่ยวทุกเทศกาล

สำหรับในที่ประชุมวันนี้ เรื่องสำคัญคือ เรื่องการเตรียมตัวสำหรับเทศกาลสงกรานต์ ปีนี้จะเป็นสงกรานต์ที่ค่อนข้างใหญ่ เนื่องจาก ททท. (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) จะจัดเป็นมหาสงกรานต์และซอฟต์พาวเวอร์ ในส่วนของกทม. เราจะเป็นผู้เตรียมความพร้อมของพื้นที่ข้างเคียงซึ่งจะมีถนนข้าวสารเป็นหัวใจ เราต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐานของถนนข้าวสารและพื้นที่ข้างเคียงให้เป็นที่ปลอดภัย ไม่ใช่เฉพาะกรณีเทศกาลสงกรานต์แต่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่ปลอดภัยในระยะยาวสำหรับทุกเทศกาล ต้องมีมาตรการต่าง ๆ เช่น ทำป้ายทางออกฉุกเฉิน กล้อง CCTV ห้องคอมมานเซ็นเตอร์ที่คอยสังเกตการณ์ เสากระจายข่าวแจ้งเตือน ห้องน้ำสาธารณะ มีการซักซ้อมรับมือเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น เพื่อเป็นการเตรียมโครงสร้างสำหรับรองรับการเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนําของโลกบริเวณนี้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจ ส่วนแผนการบริหารจัดการคนมาท่องเที่ยวอย่างไร ก็ต้องให้กับสอดคล้องกับแผนหลักของรัฐบาลในการทำถนนราชดำเนินเป็นถนนเส้นหลักในการจัดงาน

เล็งโอนรถไฟฟ้า 3 สาย ให้ คค. เชื่อประชาชนได้ประโยชน์มากกว่า

อีกเรื่องคือ ภารกิจที่จะโอนโครงการรถไฟฟ้า 3 สาย ประกอบด้วย สายสีฟ้า (ดินแดง-สาทร) สายสีเทา (วัชรพล-ทองหล่อ) สายสีเงิน (บางนา-สุวรรณภูมิ) คืนให้แก่กระทรวงคมนาคม (คค.) ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีเทาจะผ่านรถไฟฟ้าหลายเส้นมาก อาทิ สายสีชมพู สายสีน้ำตาล สายสีเหลือง สายสีส้ม และสายสีเขียว ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นของกระทรวงคมนาคม ของกทม.มีเส้นเดียวคือสายสีเขียว อีกทั้งในการดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเทาต้องใช้เงินลงทุนเกือบ 30,000 ล้านบาท ซึ่งเราคิดว่าถ้าให้รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการน่าจะมีประโยชน์กับประชาชนมากกว่า ต้องยืนยันว่า กทม. ไม่ได้ยุติโครงการ แต่ให้หน่วยงานที่เขามีความรับผิดชอบโดยตรงและเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนดูแลดีกว่า ส่วนกทม.จะเน้นที่ส่วนต่อขยายสายสีเขียว บางหว้า-ตลิ่งชัน ขณะนี้อยู่ระหว่างให้บริษัทที่ปรึกษาศึกษาโครงการ

สถานการณ์ฝุ่นดีขึ้น ห่วงอากาศร้อนและสุขภาพประชาชน

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า สำหรับสถานการณ์ฝุ่นขณะนี้เริ่มดีขึ้น มีลมตะวันออกพัดมา น่าจะดีไปอีกหนึ่งสัปดาห์ แต่ที่เรากังวลมากคือเรื่องอุณหภูมิสูง ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก (Heatstroke) โดยตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. 67 กรมอุตุฯได้ประกาศประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน ปีนี้คาดการณ์ว่าอุณหภูมิจะสูงกว่าปกติ 1-2 องศา ซึ่งเกี่ยวกับปรากฏการเอลนีโญ คาดการณ์ว่าปีนี้อากาศจะค่อนข้างร้อน

สำหรับมาตรการก็ดำเนินการคล้ายกับมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 มีเรื่องของการเฝ้าระวัง แจ้งเตือนประชาชน การป้องกันสุขภาพ มาตรการลดอุณหภูมิเมืองซึ่งก็เป็นมาตรการระยะยาว โดยในที่ประชุมได้การสั่งให้สำนักงานเขตทุกเขตทำการประเมินจุดเสี่ยงในพื้นที่ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นชุมชน โรงเรียน ไซต์ก่อสร้าง สวนสาธารณะ และเน้นประชาสัมพันธ์สำหรับคนที่แข็งแรง เพราะถ้าเราจะมองว่าผู้สูงอายุหรือว่ากลุ่มเสี่ยงเป็นเป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบ คนแข็งแรงเช่นกัน อย่างเช่นคนที่ออกกําลังกายในสวน แรงงานก่อสร้าง หรือเกษตรกร ส่วนในโรงเรียนก็มีการจัดอบรมเพื่อที่จะได้ทราบแนวทางในช่วงที่นักเรียนจะปิดเทอมว่าอยู่บ้านควรจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร สำหรับเจ้าหน้าที่กทม.ก็ได้มีควรจะมีมาตรการในการตระหนักเรื่องนี้ ซึ่งสำนักสิ่งแวดล้อมได้ปรับเปลี่ยนเวลาการทำงานของพนักงานที่ต้องทำงานกลางแจ้งเพื่อที่จะเว้นช่วงที่อากาศร้อนที่สุดของวัน

ขณะเดียวกัน กทม.ได้ดำเนินการลดอุณหภูมิเมืองอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นไม้ล้านต้น สวน 15 นาที หรือมาตรการทางผังเมืองที่ส่งเสริมพื้นที่สีเขียว

จริง ๆ แล้ว ก็ได้เน้นย้ำในเรื่องของการให้ความรู้ประชาชนเพิ่มเติมว่า อุณหภูมิไม่ใช่ตัวสำคัญเพียงอย่างเดียวในการเกิดฮีทสโตรก แต่เป็นเรื่องของ Index เพราะว่าจะมีเรื่องความชื้นด้วย ถ้าอุณหภูมิสูงและความชื้นสูงจะยิ่งหนัก หรือเหงื่อไม่ระเหยทำให้เหมือนกับว่าเราเสียน้ำแต่ว่าอุณหภูมิร่างกายไม่ลดลง ก็จะแจ้งเตือนให้แต่ละโรงเรียนขึ้นป้าย Index ที่แสดงทั้งอุณหภูมิและเรื่องความชื้น ว่าอันตรายไหม เด็กจะได้ระวังระมัดระวังตัวมากยิ่งขึ้น

สั่งเร่งรัดงานก่อสร้างขนาดใหญ่ให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้

อีกเรื่องที่สำคัญคือ การเร่งรัดโครงการต่าง ๆ ของสำนักการโยธาและสำนักการระบายน้ำที่หลายโครงการยังมีความล่าช้าอยู่ ซึ่งความล่าช้าจะมีจากหลายประเด็น เช่น เรื่องความพร้อมของผู้รับเหมา ความพร้อมของพื้นที่ ไม่สามารถเอาพื้นที่ที่ประชาชนอยู่คืนมาได้ หรือในช่วงโควิด-19 ที่มีการชะลอการก่อสร้างหมด โดยปีนี้มีโครงการของสำนักการโยธาที่คาดว่าจะแล้วเสร็จอยู่ 3 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการก่อสร้างปรับปรุงสะพานข้ามแยกบางกะปิ (สะพานลาดพร้าว-เสรีไทย) 2. โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลคลองสามวา และ 3. โครงการก่อสร้างอาคารหอผู้ป่วย โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #ชัชชาติ #บุหรี่ไฟฟ้า