ยกระดับสวนมะพร้าวจ.ประจวบฯ

555

กรมส่งเสริมการเกษตรสร้างความยั่งยืนสู่เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวประจวบคีรีขันธ์ ผ่านกลไกการทำงานในพื้นที่ ดูแลจัดการสวนอย่างถูกวิธี ป้องกันโรค – แมลง ระยะยาว

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ประจวบคีรีขันธ์เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกมะพร้าว 358,544 ไร่ มากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งผลผลิตเป็นที่ยอมรับจากผู้ค้า ผู้ประกอบการ และโรงงานอุตสาหกรรมว่าเป็นมะพร้าวที่มีคุณภาพดี มีความเหมาะสมที่จะนำมาแปรรูปเป็นน้ำกะทิและอื่นๆ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดจำนวนมหาศาลในแต่ละปี กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้เข้าไปพัฒนาและส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ด้วยการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาปรับใช้ในการผลิตมะพร้าว เพื่อลดต้นทุน เพิ่มปริมาณผลผลิตและคุณภาพให้ได้มาตรฐานการส่งออก เพื่อยกระดับการผลิตมะพร้าวของจ.ประจวบคีรีขันธ์ไปสู่มาตรฐานสากล

แต่จากข้อมูลของสำนักงานเกษตรจ.ประจวบคีรีขันธ์พบการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าวที่สำคัญ โดยเฉพาะหนอนหัวดำมะพร้าว ที่ระบาดและขยายพันธุ์ จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดและสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งขณะนี้พบพื้นที่การระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวแล้ว 11,934 ไร่ เป็นการระบาดรุนแรง 1,265 ไร่ (ข้อมูล วันที่ 27 ก.พ.) กรมส่งเสริมการเกษตรจึงสั่งการให้สำนักงานเกษตรจ.ประจวบคีรีขันธ์และสำนักงานเกษตรอำเภอที่พบการระบาด เร่งให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น นำศัตรูธรรมชาติของหนอนหัวดำไปปล่อยในสวนมะพร้าวของเกษตรกร ได้แก่ แตนเบียนบราคอน แตนเบียนทริคโคแกรมมา แมลงหางหนีบสีดำ แมลงหางหนีบขาวงแหวน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในทันที

นายรพีทัศน์ กล่าวว่า การสร้างความยั่งยืนในการดูแลจัดการสวนมะพร้าวของเกษตรกรระยะยาว ได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวแบบผสมผสาน โดยใช้หลายๆวิธีร่วมกัน ผ่านกลไกโรงเรียนเกษตรกร เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวแบบผสมผสานอย่างถูกวิธี ลดความรุนแรงของการระบาดไม่ให้แพร่กระจายเป็นวงกว้าง และช่วยควบคุมจำนวนประชากรของแมลงศัตรูพืชให้อยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายจนยากต่อการควบคุม พร้อมทั้งมอบหมายให้กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย ผลิตพ่อ-แม่พันธุ์ศัตรูธรรมชาติ สนับสนุนศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชผลิตศัตรูธรรมชาติชั้นขยายและศัตรูธรรมชาติพร้อมปล่อย ส่งต่อให้สำนักงานเกษตรจังหวัดที่พบการระบาดของหนอนหัวดำ และสนับสนุนให้ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ผลิตขยายศัตรูธรรมชาติพร้อมปล่อย เพื่อปล่อยในพื้นที่ที่มีการระบาดควบคู่กันไปด้วย


“นอกจากนี้ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้จัดประกวดหมู่บ้านปลอดศัตรูมะพร้าวขึ้นเมื่อปี 65 มีชุมชนบ้านหนองไทร หมู่ 6 ต.ไร่เก่า อ.สามร้อยยอด ได้รับรางวัลหมู่บ้านปลอดศัตรูมะพร้าวดีเด่น มีหนองไทรโมเดล เป็นปัจจัยความสำเร็จ ได้แก่ 3ส. 3จ. 2ต. ประกอบไปด้วย 3ส. โดยผู้นำชุมชน 1) ให้ความ “สำคัญ” กับการจัดการศัตรูมะพร้าว 2) “สื่อสารเชิงรุก” เพื่อให้เกษตรกรรับรู้ทันท่วงที 3) มุ่งเน้นให้เกษตรกร “มีส่วนร่วม“ในการจัดการศัตรูมะพร้าว 3 จ. โดยเกษตรกรในชุมชน 1) เมื่อ “เจอ” การระบาด 2) “แจ้ง“ ให้ทีมศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนทราบ 3) “จัดการ” การระบาดทันทีเมื่อได้รับแจ้ง และ 2ต. โดยศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน 1) ทำอย่าง “ต่อเนื่อง” 2) “ต่อยอด” ขยายผลสู่หมู่บ้านใกล้เคียง นอกจากนี้ยังใช้กลไกในการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว 4 หลัก ได้แก่ 1) เป็นแหล่งเรียนรู้ป้องกันกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าว โดยให้เกษตรกรเข้ามาศึกษาหาความรู้เพื่อไปปรับใช้ในสวนของตนเอง 2) เป็นแหล่งเรียนรู้การผลิตแมลงศัตรูธรรมชาติ ให้เกษตรกรผลิตและขยายพันธุ์แตนเบียนบราคอนและแมลงหางหนีบ เพื่อนำไปปล่อยในสวนของตนเองและแปลงข้างเคียง 3) มีการแจ้งเตือนการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าว โดยมีแปลงพยากรณ์ มีธงแจ้งเตือนการระบาดที่ ศจช. แปลงพยากรณ์ และผ่านทางไลน์ และ 4) มีทีมให้บริการ สนับสนุน ช่วยเหลือ หมู่บ้านที่พบการระบาด โดยเกษตรกรสามารถติดต่อกับทีมงานเพื่อดำเนินการจัดการได้ทันที ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้การจัดการหนอนหัวดำในระดับพื้นที่เกิดประสิทธิภาพมาก จะเห็นได้ว่าระบบการผลิตมะพร้าวในจ.ประจวบคีรีขันธ์ มีการผลิตและบริหารจัดการสวนที่มีประสิทธิภาพสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ มีแหล่งเรียนรู้ที่มีองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมการบริหารจัดการสวนมะพร้าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าวของจ.ประจวบคีรีขันธ์ เกิดการสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวที่เข้มแข็งและบูรณาการงานในพื้นที่ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” นายรพีทัศน์กล่าว

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์