เชื่อว่า พล.ต.อ.วุฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รองผบ.ตร.)ในฐานะประธานชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ และอดีตมือสอบสวนชั้นครู คงเห็นสภาพงานสอบสวนอยู่ในสภาพย่ำแย่
จึงชวนสมาชิกพร้อมด้วย พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ กรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.)ผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าพบ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.เพื่อเสนอแนะให้แก้วิกฤตงานสอบสวนซึ่งเป็นต้นธารของกระบวนการยุติธรรม
พล.ต.อ.วุฒิชัย เสนอ 3 แนวทาง คือระบบตำแหน่งควบในสายงานสืบสวนสอบ แก้ปัญหาพนักงานงานสอบสวนขาดแคลนและการเพิ่มเงินประจำตำแหน่งและค่าตอบแทนให้เหมาะสม
ซึ่ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ได้ร่วมหารือกับ พล.ต.อ.วุฒิชัยและคณะ พร้อมกับบอกว่าทั้ง 3 เรื่องได้ดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้ และกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอแนวทางการแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรมภายใน 15 วัน เพื่อจะได้ดำเนินได้ก่อนเกษียณอายุราชการ จัดว่าเป็นงานที่ค่อนข้างหนักพอสมควรหากเทียบระยะเวลาที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ นั่งในตำแหน่ง เพราะนับแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ยึดครองอำนาจมากว่า 8 ปี องค์กรตำรวจเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการก่อรัฐประหาร ที่ คสช.ลั่นวาจาว่าต้องปฏิรูป แต่ในช่วงที่ คสช.ครองอำนาจตำรวจเป็นองค์กรที่ถูกกระทำมากที่สุด งานสอบสวนที่บรรดาอดีต ผบ.ตร.ต่างมุ่งมั่นพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง พนักงานสอบสวนเห็นเส้นทางการเติบโตมาโดยตลอด แต่ยุค คสช.กลับถูกผู้มีอำนาจบั่นทอนทำลายขวัญจนพนักงานสอบสวนต่างวิ่งเต้นเปลี่ยนสายงาน ส่งผลให้งานสอบสวนค่อยย่อยยับลงไปเรื่อยๆ
ทั้งที่ในความจริงในยุค คสช.มี ผบ.ตร.ครองเก้าอี้ยาวนานถึง 5 ปี แต่กลับปล่อยให้องค์กรตำรวจตกไปอยู่ในมือพี่ใหญ่ คสช.แล้วปล่อยให้ผู้ที่เหลิงอำนาจจัดทำโผโยกย้ายตามอำเภอใจ โดยที่ ผบ.ตร.ทำตัวเสมือนไร้ภาวะผู้นำ
ทั้งที่ก่อนรับตำแหน่งบรรดาสีกากีต่างคาดหวังว่าจะได้เห็นการพัฒนาองค์กรที่รุดหน้าทันสมัยในทุกมิติ แต่ผู้นำองค์กรเป็นได้แค่เจว็ด ไม่คิดที่จะปกป้ององค์กรตามปากพร่ำบอกว่ามีเลือดสีกากีเข้มข้น
งานสอบสวนจึงถอยหลังเข้าคลอง บ่อยครั้งที่ถูกผู้มีอำนาจนำไปใช้เป็นเครื่องเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามแบบไม่เป็นธรรม แต่ผู้นำองค์กรได้แต่ยืนมองตาปริบๆ อยู่แค่เพียงเพื่อรักษาอำนาจของตัวเองเท่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นภาพตำรวจไปพัวพันแก๊งพนันออนไลน์ อยู่ใต้ปีกผู้มีอิทธิพลอย่างกำนัน หลงจู้สมชาย หรือแม้แต่แป้ง นาโหนด ที่น่าอดสูมากที่สุดกรณีตำรวจอรัญประเทศ สระแก้ว จับแพะคดีโจ๋ฆ่าคนตาย ทั้งหมดล้วนมาจากงานสอบสวนที่อ่อนแอ ในห้วง1-2 ปีที่ผ่านมาตำรวจถูกร้องเรียนกว่า 5,000 เรื่อง เกี่ยวข้องกับพนักงานสอบสวนถึง 4,000 เรื่อง
ดังนั้นเมื่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ลั่นวาจาจะลุยยกเครื่องงานสอบสวนทั้งระบบและเดินตามแนวที่ชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจเสนอพร้อมประกาศจะทำให้สำเร็จก่อนเกษียณอายุนั้นถูกต้องแล้ว ถ้ามองตามเนื้องานถือว่าท้าทายมาก เพราะ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ บอกว่าพนักงานสอบสวนขาดแคลนอยู่ประมาณ 2,000 คน ช่วงนี้ได้คัดเลือกที่จะลงไปช่วยแล้ว 300-400 นายและกำลังเตรียมเสริมพนักงานสอบสวนอีก 900 นาย
ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ได้กำชับห้ามนำพนักงานสอบสวนไปช่วยราชการ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานผู้ใดก็ตาม ให้ถือว่าทำผิดพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ 2565 หากจะนำพนักงานสอบสวนไปช่วยราชการจะต้องมีบุคคลมาแทน ข้อสั่งการนี้จะเน้นไปที่โรงพักต่างๆ หากมีการร้องเรียนลักษณะดังกล่าว ผู้บังคับบัญชาจะถูกดำเนินตามาตรการทางปกครองด้วย และจะขับเคลื่อนเพิ่มเพดานค่าตอบแทนเป็น 20,000-40,000 บาท
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ มีไอเดียให้ตำรวจชั้นประทวนที่จบปริญญาตรีนิติศาสตร์ ขึ้นทะเบียนรออบรมเป็นพนักงานสอบสวนหรือให้เป็นผู้ช่วยพนักงานสอบสวนก่อน เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับพนักงานสอบสวน หาก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ อยากให้นายตำรวจผ่านงานสอบสวน ควรมีคำสั่งให้ตำรวจที่จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจทุกนายเป็นพนักงานสอบสวนก่อนอย่างน้อย 5 ปีแล้วค่อยเปลี่ยนสายงานน่าจะดีเพราะงานสอบสวนคือหัวใจหลักและเป็นพื้นฐานสำคัญในการผดุงความเป็นธรรมให้กับประชาชน
“ขณะเดียวกันน่าจะส่งเสริมให้นายตำรวจที่จบเนติบัณทิต เข้ามามีบทบาทในงานสอบสวนให้มากขึ้น เพราะมีตำรวจจำนวนมากที่ผ่านหลักสูตรนี้”
หาก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สามารถผลักดันให้งานสอบสวน เปรียบเสมือนต้นธารของกระบวนยุติธรรมกลับมาผงาดเป็นที่ศรัทธาของประชาชนได้อีกคำรบหนึ่ง จะเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่ถูกกล่าวขานถึงมิเสื่อมคลายแม้จะอยู่ในตำแหน่ง ผบ.ตร.เพียง 1 ปีก็ตาม !!!