นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทยและส.ส. บัญชีรายชื่อ เปิดเผยถึงประเด็นที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรียอมรับว่าตนไม่ใช่ทหาร แต่เป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร โดยนายชวลิตกล่าวว่า การยอมรับดังกล่าว เพราะจำนนด้วยหลักฐานหรือไม่? จะเห็นได้ว่า การลงพื้นที่ การนัดพบกลุ่มนักการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ สอดคล้องกับข่าวการตั้งพรรคที่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอก ประกอบกับเมื่อมีคำสั่ง คสช. ล่าสุดที่รีเซ็ตสมาชิกพรรคการเมืองและอดีต ส.ส. โดยอ้างว่าเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันเลยสงสัยว่า เป็นกลยุทธ์ที่จะเอาเปรียบทางการเมืองหรือไม่? จึงอาจจะเพิ่มน้ำหนักว่า เป็นการทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง
นายชวลิต กล่าวต่อว่าผู้ที่ร้องขอให้แก้ไข พรป.พรรคการเมืองเป็นกลุ่มการเมืองที่ประกาศว่าจะสนับสนุนผู้ใดเป็นนายกรัฐมนตรี จึงทำให้เห็นภาพการเตรียมการอย่างเป็นกระบวนการ ตั้งแต่การกำหนดกติกาในกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เอื้อให้นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอก มาจนถึงการจัดตั้งพรรคการเมืองสนับสนุนตนและพวกพ้อง และการเดินล็อบบี้กลุ่มการเมืองต่างๆ ทั้งโดยเปิดเผยและทางลับดังกล่าวข้างต้น ยิ่งเมื่อติดตามเหตุการณ์ย้อนหลัง จะเห็นว่าฟากฝั่งประชาธิปไตยถูกดำเนินการแต่เพียงฝ่ายเดียว ในขณะที่กลุ่มการเมืองที่ไม่ยอมรับกติกายังอยู่ดีและมีอำนาจต่อรองสูงในการรีเซ็ตสมาชิกพรรคการเมืองโดยอ้อมดังกล่าว”
นายชวลิต กล่าวเพิ่มเติมว่าวัตถุประสงค์ในการรัฐประหารเมื่อปี 2557 เพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ปฏิรูปประเทศ และปราบทุจริตสรุปก็คือ เข้ามาเป็น “คนกลาง”แต่เมื่อตัวตนได้เปิดเผยออกมา จึงน่าจะมิใช่ “คนกลาง” ดังที่ประชาชนคาดหวัง ประกอบกับเมื่อมีคำกล่าวสำคัญที่ว่า “ได้ใช้กองหนุนเกือบจะหมดแล้ว” น่าจะเป็นสัญญาณว่า เวลาในการทำหน้าที่ที่เคยอ้างว่าเป็น “คนกลาง” ได้จบลงหรือไม่?
นายชวลิต กล่าวในที่สุดว่า เมื่อนายกรัฐมนตรียอมรับว่าเป็นนักการเมืองเต็มตัว และประกาศต่อสาธารณะว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน พ.ย. 2561 นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ท่านเปิดตัวเป็นทางเลือกของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอก หรือเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีเอง ซึ่งอะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะท่านเคยปฏิเสธตลอดมาว่าไม่ใช่นักการเมือง แต่วันนี้ยอมรับแล้วว่าเป็นนักการเมือง ดังนั้น อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ แต่จะได้รับความเชื่อมั่นหรือไม่ เป็นอีกประเด็นหนึ่ง
อดีตรองเลขาฯ ทิ้งท้ายว่า เมื่อรับว่าเป็นนักการเมืองและอยู่ในอำนาจในฝ่ายบริหาร จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคุณธรรมจริยธรรมไม่เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นที่ไม่ใช่พวกพ้องของตน รวมทั้งต้องจัดการเลือกตั้งด้วยความเป็นกลาง บริสุทธิ์ยุติธรรม ถึงจะนำพาประเทศให้ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาคมโลกและนักลงทุน แต่ถ้าทำตรงข้าม ก็จะทำลายความเชื่อมั่นประเทศเสียเอง จึงขอให้กำลังใจในการทำหน้าที่ฝ่ายบริหารอย่างมีคุณธรรม และจริยธรรมด้วยความยินดีอย่างยิ่ง