รองอธิบดีกรมประมง…สนับสนุนโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนชูเกษตรกรเชียงใหม่ ต้นแบบการสร้างความอยู่ดี กินดี มีสุข อย่างยั่งยืน
กรมประมงเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน กิจกรรมพัฒนาเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายใต้กรอบแนวคิดที่เน้นและให้ความสำคัญกับการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ เพื่อเป็นแนวทางให้เกษตรกรดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความมั่นคงและยั่งยืน ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรให้ครอบคลุมทั้งภาคการประมง เกษตร และปศุสัตว์ โดยมุ่งหวังเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้สามารถเลี้ยงตัวเอง มีรายได้และอาหารไว้บริโภคตลอดปี
นายมานพ หนูสอน รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงได้ดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่อง และให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนแนวคิดการผลิตสินค้าไปสู่ระบบเกษตรปลอดภัยในพื้นที่ โดยมุ่งเน้นส่งเสริมและสนับสนุนแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งจากการติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินการโครงการที่ผ่านมา กรมประมงได้ถ่ายทอดองค์ความรู้หลักสูตรเฉพาะทางด้านการประมง และหลักสูตรการเตรียมความพร้อมสู่การรับรองมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อให้เกษตรกรนำความรู้ที่ได้ปรับใช้ให้เกิดความยั่งยืนและพัฒนาไปเป็นแปลงต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ นอกจากนี้ยังสนับสนุนปัจจัยการผลิตทั้งพันธุ์สัตว์น้ำ และอาหารสัตว์น้ำเบื้องต้นในการสร้างจุดเริ่มต้นกิจกรรมด้านประมง เพื่อให้เกษตรกรมีปลาสำหรับบริโภค เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่าย สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว และสามารถแบ่งปันส่งต่อชุมชนต่อไป
นายมานพ กล่าวเสริมว่า หนึ่งในเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ และมีกิจกรรมด้านประมงที่โดดเด่น ได้แก่ นางไพรศิลป์ บุญเย็น เกษตรกรจากอ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซึ่งเดิมทำนาปลูกข้าวและขนส่งไข่ไก่ แต่ได้หยุดกิจการขนส่งไข่ไก่ เนื่องจากอายุที่มากขึ้น ทำให้ขาดรายได้ จึงได้เข้าร่วมโครงการ “พัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน” ตั้งแต่ปี 60 โดยได้รับการสนับสนุนพันธุ์ปลาจากสำนักงานประมงจ.เชียงใหม่ และมีเจ้าหน้าที่ประมงอำเภอดอยสะเก็ด เข้ามาถ่ายทอดองค์ความรู้ในการทำเกษตรแบบผสมผสาน รวมถึงให้คำแนะนำ สนับสนุน ติดตาม แก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ทั้งนี้ จากการถอดบทเรียนการทำการเกษตรแบบผสมผสาน เกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนจัดสรรแหล่งน้ำที่ใช้ในการเกษตรให้สามารถใช้ได้ในหน้าแล้ง โดยนำพื้นที่นามาขุดเป็นบ่อเลี้ยงปลา ขนาด 0.25 ไร่ 2 บ่อ และบ่อขนาด 0.5 ไร่ 2 บ่อ เลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียนขาว และปลาหมอไทย นอกจากนี้ยังเลี้ยงไก่ประดู่หางดำ ควบคู่ไปกับ การทำนาข้าว ปลูกสวนผัก และปลูกไม้ผล เพื่อบริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายในชุมชนสร้างรายได้ให้กับครอบครัวปีละประมาณ 50,000 บาท คิดเป็นรายได้ด้านการประมง 10,000 บาท สำหรับภาพรวมเกษตรกรรู้สึกพอใจมากเมื่อเทียบกับการทำไร่นาเพียงอย่างเดียว
สำหรับปีงบประมาณ 67 กรมประมง มีเป้าหมายจะส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรรายใหม่เพิ่มขึ้น 5,000 ราย ใน 68 จังหวัด มุ่งหวังเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร สร้างความเข้มแข็ง โดยอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรในด้านเกษตรทฤษฎีใหม่อย่างต่อเนื่องผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อให้เกษตรกรนำความรู้ที่ได้มาปรับใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรให้เหมาะสมในพื้นที่ของตนเอง และส่งเสริมให้เกษตรกรนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในพื้นที่การเกษตรของตนเอง เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่ดินและน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน เป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรรุ่นเก่า รวมถึงเป็นการจูงใจคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจประกอบอาชีพทางด้านการเกษตรมากยิ่งขึ้น สำหรับท่านใดที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : กลุ่มวิจัยและพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยีการประมง กองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ กรมประมง โทร 02-558-0213, 02-558-0220