“กรมอุทยาน” ตั้งเป้าลดพื้นที่ไฟไหม้ป่าอนุรักษ์ให้ได้ 6.4 ล้านไร่

268

กรมอุทยานแห่งชาติฯ ชวนคนไทยหยุดเผาป่า เนื่องใน “วันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า” ตั้งเป้าลดพื้นที่เผาไหม้ป่าอนุรักษ์ให้ได้ 50% ของพื้นที่เผาไหม้ 12.78 ล้านไร่ในปี 2566 

(21 ก.พ.67) นายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า เนื่องจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น “วันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า” ซึ่งกรมฯ จะรณรงค์ให้ประชาชนและเกษตรกร งดการจุดไฟเผาป่า สร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักให้แก่ประชาชน ทุกภาคส่วนถึงอันตรายและผลกระทบของควันที่เกิดจากไฟป่า และเพื่อป้องกันและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ จากการจุดไฟเผาป่า โดยปีนี้ กำหนดจัดกิจกรรม ตามแนวทางการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ประจำปี 2567 ที่ตั้งเป้าลดพื้นที่เผาไหม้ให้ได้ 50% ของพื้นที่เผาไหม้ปี 2566

สำหรับวันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่าในปีนี้ กรมอุทยานฯ มีนโยบายให้ ทุกหน่วยงานในสังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1-16 และสาขา ลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับราษฎรกลุ่มเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจถึงสาเหตุและอันตรายจากไฟป่าอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความร่วมมืออันนำมาสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างยั่งยืน และจัดกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนและทุกภาคส่วนในรูปแบบที่เรียบง่าย ซึ่งทำกันมาอย่างต่อเนื่อง เช่น เคาะประตูบ้าน ทำแนวกันไฟ จัดการเชื้อเพลิง เป็นต้น โดยมุ่งเน้นสร้างการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันและราษฎรในชุมชน ทำการจัดเก็บเชื้อเพลิงในป่าในพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งจะต้องไม่กระทบกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไฟป่า เครือข่ายอาสาที่ยังคงปฏิบัติงานด้านไฟป่ากันอย่างเข้มข้นเพื่อป้องกันไฟป่าอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้แนวทางและมาตรการป้องกันไฟป่า เพื่อลดฝุ่นควัน PM 2.5 ปี 2567 รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองโดยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ แต่งตั้ง “คณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน” เพื่อเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 โดยมี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ ศูนย์ปฏิบัติระดับจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษ   ทางอากาศ โดยจะมุ่งเป้าการเตรียมความพร้อมการควบคุมพื้นที่เสี่ยงต่อการเผา 11 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ   ที่มีพื้นที่เผาไหม้สูงสุด โดยเฉพาะพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ

ทั้งนี้ กรมอุทยานฯ ตั้งเป้า ลดพื้นที่เผาไหม้ให้ได้ 50% ปี 2566 ที่เกิดขึ้น จำนวน 12.78 ล้านไร่ หรือลดลง 6.4 ล้านไร่โดยให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า ปี 2567 ดังนี้ 1.จัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่เสี่ยงในห้วงเวลาที่เหมาะสม 2.ตรึงพื้นที่กำหนดจุดเฝ้าระวัง โดย อส.ได้สำรวจพื้นที่ที่จะตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด และจุดเฝ้าระวังไฟป่า ทั้งประเทศรวมจำนวน 3,893 จุด แบ่งเป็น จุดตรวจ/จุดสกัด ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ จำนวน 1,311 จุด และจุดเฝ้าระวังไฟป่า ที่จัดจ้างราษฎรเฝ้าระวังพื้นที่ จำนวน 2,582 จุด 3.จัดตั้ง War Room ทุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ณ ปัจจุบัน ได้จัดตั้งศูนย์สั่งการและติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน (War Room) ครบทุกสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ (สบอ.) และทุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์แล้ว จำนวน 400 แห่ง 4.จัดเตรียมกำลังพลเพื่อดับไฟป่า โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ 5.เฝ้าระวังควบคุมพื้นที่ตลอดห้วงไฟป่าภายใต้หลักการ “เห็นไว เข้าถึงไว ควบคุมและดับได้ไว” 6.กำหนดแผนการบริหารจัดการเมื่อเกิดเหตุการณ์ 7. จัดระเบียบ    การเผาพื้นที่เกษตรกรรมในเขตป่า 8.จัดระเบียบการเข้าออกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 9.ควบคุมการเก็บหาของป่าโดยอนุญาตเฉพาะคนในพื้นที่เท่านั้น และ 10.รณรงค์ประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจเกาะติดราษฎรกลุ่มเผาป่าในรูปแบบ “เคาะประตูบ้าน”

#Thaitabloid #ไทยแทบลอยด์ #วันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า #กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช